• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • ศาลยกฟ้องคุณศักดิ์ชัย กาย บก.ชื่อดัง คดีตระกูล ณ ป้อมเพชร์ ฟ้องทำพินัยกรรมปลอม

ศาลยกฟ้องคุณศักดิ์ชัย กาย บก.ชื่อดัง คดีตระกูล ณ ป้อมเพชร์ ฟ้องทำพินัยกรรมปลอม

ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่นายธีรวัต ณ ป้อมเพชร์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายศักดิ์ชัย กาย บรรณาธิการนิตยสารลิปส์และนักจัดดอกไม้ชื่อดัง เป็นจำเลย เรื่องขอให้ศาลมีคำสั่งทำลายพินัยกรรมของนายวิวรรธน์ ณ ป้อมเพชร์ บิดานายธีรวัต โจทก์ เนื่องจากเป็นเอกสารปลอม

โดยโจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2548 นายวิวรรธน์ ณ ป้อมเพชร์ บิดาโจทก์ อดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ ซึ่งมีอายุ 90 ปี เดินไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็น และมีอาการป่วยต้องเข้ารับการรักษาที่ รพ.สมิติเวช โดยจำเลยกับพวกได้ร่วมกันทําหนังสือฉบับหนึ่ง ระบุว่า เป็นพินัยกรรม มีข้อความว่า นายวิวรรธน์ มีคำสั่งให้ยกเลิกพินัยกรรมเดิมของนายวิวรรธน์ ที่ทํามาก่อนหน้านี้ และต้องการยกทรัพย์สินคือ ที่ดิน 3 ไร่ ย่านยานนาวา กทม. พร้อมอาคารและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งห้องชุดเลขที่ 3 จี คอนโดมิเนียมการ์เด้น คลิฟ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ให้แก่จำเลย

ต่อมาในวันที่ 16 กันยายน 2549 นายวิสูตร กาญจนปัญญาพงศ์ พยานผู้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ได้มีหนังสือถึงโจทก์ให้ดำเนินการขอรับพินัยกรรมจากสำนักงานเขตราชเทวี เพื่อดำเนินการตามข้อกำหนดในพินัยกรรม ทั้งที่โจทก์และทายาท รวมทั้งญาติพี่น้องของนายวิวรรธน์ไม่มีใครทราบมาก่อนว่า นายวิวรรธน์ ได้ทําพินัยกรรมฉบับนี้ขึ้น รวมทั้งไม่มีใครรู้จักนายสุทิน โชติสิงห์ และ น.ส.ศจีมาศ อภิชโยดม นายวิสูตร กาญจนปัญญาพงศ์ ซึ่งลงชื่อเป็นพยานและผู้พิมพ์ ตลอดจนสำนักกฎหมายธรรมนิติ ทั้งที่พินัยกรรมฉบับนี้ไม่ใช่พินัยกรรมลับ เพราะนายวิวรรธน์ มิได้ผนึกซองพินัยกรรมและลงลายมือชื่อด้วยตัวเอง แล้วนำซองพินัยกรรมไปแสดงต่อผู้อำนวยการเขตราชเทวีหรือผู้กระทําการแทน

นอกจากนี้ ยังไม่มีแพทย์รับรองว่านายวิวรรธน์ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ในขณะทําพินัยกรรม ทั้งลักษณะลายมือชื่อของนายวิวรรธน์ ในพินัยกรรมก็ไม่ใช่ลายมือที่แท้จริง เชื่อว่านายวิวรรธน์ไม่มีเจตนาอันแท้จริงจะยกทรัพย์สินให้จำเลย พินัยกรรมดังกล่าวจึงเป็นพินัยกรรมปลอม ไม่มีผลตามกฎหมายการกระทําของจำเลย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องเป็นญาติหรือครอบครัวกับนายวิวรรธน์ หรือตระกูล ณ ป้อมเพชร์ ทําให้โจทก์กับทายาทได้รับความเสียหาย ไม่สามารถดำเนินการรับทรัพย์มรดกของนายวิวรรธน์ ที่แบ่งให้กับทายาทคนอื่นได้ จึงขอให้ศาลโปรดมีคำสั่งทําลายพินัยกรรมปลอมฉบับดังกล่าวด้วย

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้ง 2 ฝ่าย จากพยานหลักฐานโจทก์ 5 ปาก และพยานจำเลย 6 ปาก ซึ่งนำเข้าสืบหักล้าง และพยานผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบลายมือชื่อแล้ว ฟังได้ว่า พินัยกรรมฉบับดังกล่าวที่นายวิวรรธน์ทำขึ้น ซึ่งเป็นเอกสารลับนั้น เป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริง พยานหลักฐานโจทก์ ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยได้ พิพากษายกฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการฟังคำพิพากษาในวันนี้นั้น คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้เดินทางมาฟังด้วยตัวเอง คงมีเพียงเสมียนทนายความมาฟังคำพิพากษาแทน

ที่มา หนังสือพิมพ์มติชน