จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’s Tax Newsletter
ฉบับที่ 145 เดือนสิงหาคม 2566
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. กำหนดแบบคำร้องขอคืนภาษี ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) เรื่อง กำหนดแบบคำร้องขอคืนภาษี และสถานที่ยื่นคำร้องขอคืนภาษี ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ได้กำหนดแบบคำร้องขอคืนภาษีไว้ ได้แก่ แบบ ค.10 คำร้องขอคืนเงินภาษีอากร และแบบ ภ.ง.ป.70 แบบแสดงรายการภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เพื่อเป็นแบบสำหรับการขอคืนเงินภาษี
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/Vh8v
ข่าวภาษี
–
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5605/2530
ระหว่าง นาย ว. โจทก์
บริษัท ล. ที่ 1, กรมสรรพากร ที่ 2 จำเลย
เรื่อง เงินค่าชดเชยที่ได้รับเมื่อเลิกจ้าง
ประเด็นข้อพิพาท : เงินค่าชดเชยที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรหรือไม่
คำพิพากษา : คดีมีปัญหาในชั้นนี้เฉพาะข้อกฎหมายว่า เงินค่าชดเชยที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้นเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะชำระเงินให้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลก็ตาม แต่ก็สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาเงินจำนวนนั้นจากจำเลยที่ 1 ในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของโจทก์ มีหน้าที่จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง มูลเหตุที่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้โจทก์ก็เนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 กับโจทก์มีนิติสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างนั่นเอง ถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) ซึ่งกำหนดให้เป็นเงินได้พึงประเมิน แม้เงินค่าชดเชยจะจ่ายกันเมื่อเลิกจ้างแล้ว ก็หาทำให้เงินดังกล่าวไม่เป็นเงินได้พึงประเมินดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ และไม่ปรากฏว่าเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 ดังนั้นจำเลยที่ 1 ผู้จ่ายเงินค่าชดเชยตามคำพิพากษาให้โจทก์จึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50 ประกอบด้วยมาตรา 3 จตุทศ แล้วนำส่งให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีสิทธิรับไว้โดยชอบเป็นการถูกต้องแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินตามฟ้องคืน ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ความเห็นของผู้เขียน : ผู้เขียนเห็นว่า การตีความกฎหมายนั้นจะต้องตีความตามตัวอักษรควบคู่กับการตีความตามเจตนารมณ์ เพื่อค้นหาความมุ่งหมายอันแท้จริงของกฎหมาย
โดยประมวลรัษฎากร มาตรา 39 บัญญัติไว้ว่า “เงินได้พึงประเมิน ” หมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน..”
และมาตรา 40 บัญญัติไว้ว่า “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้ …
(1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน … และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน”
จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 นั้น หมายถึง เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน อันได้มาจากสัญญาจ้างแรงงาน กล่าวคือ เป็นสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งที่เรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งที่เรียกว่า นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างแก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575)
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์เคยเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จริง ต่อมาจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง ด้วยเหตุที่มีการเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118
แม้โจทก์จะได้รับเงินค่าชดเชยดังกล่าวเมื่อจำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างโจทก์แล้ว ซึ่งเป็นกรณีที่สัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม แต่สาเหตุที่ทำให้โจทก์ได้รับเงินค่าชดเชยก็มาจากสัญญาจ้างแรงงานที่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ในการเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ได้นั้นเอง เงินค่าชดเชยที่โจทก์ได้รับจึงถือเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1)
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาบทบัญญัติเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้…
(13) ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด…”
จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า กฎหมายยกเว้นเฉพาะเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการละเมิดเท่านั้น กรณีที่เป็นค่าเสียหายที่เกิดจากการมีนิติสัมพันธ์กันระหว่างคู่สัญญา เช่นอย่างเงินค่าชดเชยนั้น กฎหมายไม่ได้มีการยกเว้นเงินได้พึงประเมินนั้นแต่อย่างใด
ดังนั้น โจทก์จึงต้องนำเงินค่าชดเชยซึ่งเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย ทั้งนี้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) ประกอบมาตรา 39 ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น
อนึ่ง กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการตีความกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้ในการนำเสนอมีเพียงวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น
อารีญา เพ็ชรประไพ
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725