จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนพฤษภาคม 2566

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’s Tax Newsletter

ฉบับที่ 142 เดือนพฤษภาคม 2566

กฎหมายใหม่ล่าสุด

     1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการขายคาร์บอนเครดิตในประเทศ

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 433) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่ได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 เป็นระยะเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/42XBnsh

 

     2. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กรมป่าไม้

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 434) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กรมป่าไม้ เพื่อสนับสนุนโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีประกาศกำหนดต่อไป

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3Mze3eq

 

ข่าวภาษี

            –

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5808/2557

ระหว่าง          บริษัท อ. (ประเทศไทย)          โจทก์

               กรมสรรพากร                จำเลย

เรื่อง จ่ายค่าบริการด้านการตลาดไปต่างประเทศ

ประเด็นข้อพิพาท        : โจทก์มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคล จากเงินได้ที่จ่ายตามสัญญาให้บริการด้านการตลาดหรือไม่

คำพิพากษา               : ตามสัญญาให้บริการด้านการตลาดประกอบกับตัวอย่างแผ่นพับต่าง ๆ แสดงให้เห็นได้ว่าสินค้าตามแผ่นพับเป็นสินค้าที่ใช้ในกิจการทางอุตสาหกรรม หรือพาณิชยกรรม หรือกิจการขนาดใหญ่ สินค้าต่าง ๆ ผลิตขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในกิจการใดกิจการหนึ่งโดยเฉพาะจึงมีลักษณะทางกายภาพเทคนิคพิเศษจากสินค้าที่ใช้ในครัวเรือนทั่วไป และจำเป็นต้องมีข้อมูลเทคนิคเพื่อนำเสนอแก่ลูกค้าเป็นพิเศษ การที่บริษัท อ. ให้ความช่วยเหลือด้านการตลาดก็น่าจะต้องใช้ข้อมูลความรู้ความชำนาญทางเทคนิคของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวประกอบการพิจารณาให้การช่วยเหลือด้านการตลาดซึ่งอาจเป็นข้อมูลทางเทคนิคโดยเฉพาะที่รู้ได้เฉพาะบริษัท อ. เท่านั้นด้วย และที่สำคัญมีการจัดส่งสิ่งพิมพ์ เช่น แผ่นพับ แคตตาล็อก และเอกสารการโฆษณาที่จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนการตลาดของโจทก์ ซึ่งตามตัวอย่างเอกสารแผ่นพับจะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าโดยตรง มีข้อความแสดงประวัติการก่อตั้งบริษัทในเครือบริษัท อ. สายการผลิตสินค้าต่าง ๆ นโยบายกลุ่มบริษัทในเครือ การขยายตัวและความเชี่ยวชาญทางเทคนิคกับการผลิตสินค้า ข้อความเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ บทความเกี่ยวกับผ้าใยขนแกะ บทความทางเทคนิคอันเป็นการเฉพาะของบริษัท อ. ประกอบตามคำฟ้องยังแสดงให้เห็นว่าบริษัท อ. ต้องใช้พนักงานที่มีประสิทธิภาพในการศึกษาเก็บรวบรวมพฤติกรรมผู้บริโภคและวิเคราะห์การตลาดเพื่อจัดทำแผ่นพับและแคตตาล็อกสินค้าดังกล่าวโดยใช้เงินลงทุนและค่าใช้จ่ายจำนวนมาก น่าเชื่อว่ามีการลงทุนในการสร้างสรรค์งานดังกล่าวขึ้น ทั้งบริษัท อ. มีบทความที่มีลักษณะเป็นงานนิพนธ์ขึ้นเป็นงานวรรณกรรม ภาพถ่ายและภาพพิมพ์ที่สวยงามที่เป็นงานศิลปกรรม อันล้วนถือได้ว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ทั้งแผ่นพับบางฉบับก็มีข้อความแสดงการสงวนลิขสิทธิ์ไว้ด้วย นอกจากนี้ตามสัญญาให้บริการด้านการตลาดระบุให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในการโฆษณาเผยแพร่แผ่นพับดังกล่าวโดยค่าใช้จ่ายของโจทก์ ดังนี้ ค่าตอบแทนที่โจทก์จ่ายไปตามสัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการทำซ้ำและเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานวรรณกรรมและภาพพิมพ์อันมีลิขสิทธิ์ จึงเข้าลักษณะเป็นค่าสิทธิตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ตามที่ระบุในข้อ 12 วรรคสาม แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศสวีเดนเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร

ความเห็นของผู้เขียน  : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น เนื่องจากในการพิจารณาประเภทของเงินได้ตามประมวลรัษฎากรนั้น โดยหลักแล้วจะต้องพิจารณาไปถึงรายละเอียดของเนื้อหา และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในการให้บริการตามสัญญา ซึ่งการให้บริการด้านการตลาดข้างต้น มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่ามีการถ่ายทอดหรือการให้ข้อมูลเฉพาะทางเทคนิคที่ได้มาจากการศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ ทดลองเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้ให้บริการหรือไม่ ซึ่งหากมีลักษณะดังกล่าวแล้ว การที่ผู้รับบริการได้สิทธิในการใช้ข้อมูลในงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวและจ่ายค่าบริการจากการได้รับบริการนั้น ค่าบริการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าสิทธิ ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40 ที่บัญญัติไว้ว่า “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้… (3) ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้มีลักษณะเป็นเงินรายปี…”

     นอกจากนี้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษี โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้…

     ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 มาตรา 3 บัญญัติว่า “ให้ยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรแก่บุคคลตามสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้หรือจะได้ทำกับรัฐบาลต่างประเทศ…”

     ตามอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยและประเทศสวีเดน ข้อ 12 ค่าสิทธิ วรรคสาม กำหนไว้ว่า “ค่าสิทธิ” ที่ใช้อยู่ในข้อนี้หมายถึง การจ่ายไม่ว่าชนิดใด ๆ ที่ได้รับเป็นค่าตอบแทนสำหรับการจำหน่ายหรือจากการใช้หรือสิทธิในการใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม ศิลปกรรม หรือวิทยาศาสตร์ รวมทั้งฟิล์มภาพยนตร์ หรือฟิล์มหรือเทปสำหรับการกระจายเสียงทางวิทยุหรือโทรทัศน์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า แบบหรือหุ่นจำลอง ผังสูตรลับ หรือกรรมวิธีลับ หรือเพื่อการใช้ หรือสิทธิในการใช้อุปกรณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมหรือวิทยาศาสตร์ หรือเพื่อข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมหรือทางวิทยาศาสตร์

     จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า กฎหมายกำหนดให้การให้บริการในลักษณะที่มีการถ่ายทอดหรือการให้ข้อมูลเฉพาะทางเทคนิคที่ได้มาจากการศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ ทดลองเป็นพิเศษ ที่เพียงแต่ให้สิทธิในการใช้ประโยชน์ โดยกรรมสิทธิ์ในงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวไม่ได้โอนไปเป็นของผู้รับบริการนั้น เข้าลักษณะเป็นการให้สิทธิในการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งก็สอดคล้องตาม DTA ระหว่างประเทศไทยและประเทศสวีเดน ข้อ 12 ค่าสิทธิ วรรคสาม ข้างต้น ดังนั้น เมื่อตามข้อเท็จจริงผู้รับบริการในประเทศไทยได้จ่ายเงินค่าบริการเพื่อตอบแทนการได้ใช้งานอันมีลิขสิทธิ์หรือจ่ายค่าสิทธิ ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ให้กับผู้ให้บริการซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสวีเดน และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยแล้ว ผู้รับบริการซึ่งอยู่ในประเทศไทยมีหน้าที่หักภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้ ซึ่งก็คือร้อยละ 15 แล้วนำส่งต่อกรมสรรพากร ทั้งนี้ มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบ DTA ระหว่างประเทศไทยและประเทศสวีเดน

     อนึ่ง กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการตีความกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้ในการนำเสนอนี้มีเพียงวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น

วรินทร สะรุโณ

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725