ระวัง!! ใช้ใบกำกับภาษีปลอมโดยไม่รู้ตัว มีโทษถึงเจ๊ง (ตอนที่ 2)

ตอนที่ 2 ลักษณะของใบกำกับภาษีปลอม

ในตอนที่แล้ว ตอนที่ 1 ผู้ประกอบการจดทะเบียนกับใบกำกับภาษี ได้กล่าวถึงลักษณะของผู้ประกอบการจดทะเบียน ใบกำกับภาษี หน้าที่ของผู้ประกอบการจดทะเบียน และภาษีซื้อที่กฎหมายไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีซื้อต้องห้าม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่รายละเอียดทั้งในส่วนลักษณะของใบกำกับภาษีปลอม ผลของการนำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้และแนวทางแก้ไขเมื่อนำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้

ในตอนนี้ก็จะกล่าวถึงลักษณะของใบกำกับภาษีปลอมซึ่งเป็นหนึ่งในรายการของภาษีซื้อต้องห้าม1 จากที่กฎหมายกำหนดไว้อีกหลายรายการ เช่น

1. กรณีไม่มีใบกำกับภาษี หรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อ เว้นแต่เป็นกรณีมีเหตุอันสมควรตามที่กฎหมายกำหนด
2.กรณีใบกำกับภาษีมีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด
3. ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบการ
4. ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือในลักษณะทำนองเดียวกัน
5. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี

นอกจากนี้ ก็ยังมีภาษีซื้อต้องห้ามอีกหลายรายการซึ่งสามารถศึกษาได้จากประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) ฉบับลงวันที่ 29 ธันวาคม 2535

ใบกำกับภาษีปลอม อาจเป็นคำที่ผู้ประกอบการหลายรายได้ยินมักคุ้นอยู่เสมอ ซึ่งคำว่าใบกำกับภาษีปลอมนั้นเป็นเพียงคำเรียกทั่วไปเพื่อให้เข้าใจง่าย แต่ในประมวลรัษฎากรไม่ได้นิยามหรือให้ความหมายของคำดังกล่าวว่ามีความหมายอย่างไรบ้าง แต่เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติในประมวลรัษฎากรแล้ว ใบกำกับภาษีปลอมจะหมายความถึง “ใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี” และการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีการซื้อขายสินค้าหรือให้บริการกันจริง

ตลอดทั้งปัจจุบันที่ขยายความไปถึงการขายสินค้าในกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจรีไซเคิล ที่มีการซื้อขายหรือให้บริการกันจริง แต่เนื่องจากต้นทางของสินค้าที่มาจากการรวบรวมสินค้าจากผู้ขายรายย่อยซึ่งมีทั้งเป็นและไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยผู้ที่รวบรวมและขายต่อนี้จะมีการนำสินค้ามารวมกันจนไม่อาจแยกได้ว่าสินค้าส่วนใดมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แต่เมื่อนำไปขายต่อกลับมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่นำส่งต่อกรมสรรพากร ทำให้ผู้ที่ซื้อสินค้าต่อไปนั้นไม่อาจนำใบกำกับภาษีดังกล่าวมาใช้เป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีที่ต้องนำส่งต่อกรมสรรพากรได้

หรือกรณีที่มีการซื้อขายหรือให้บริการกันจริงแต่ผู้ขายสินค้าไม่นำส่งภาษีขายที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าต่อกรมสรรพากร หรือผู้ขายสินค้าไม่สามารถพิสูจน์ที่มาของสินค้านั้นได้ หรือไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสินค้าที่นำมาขายนั้นได้มีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมาถูกต้องหรือไม่ ซึ่งใบกำกับภาษีปลอมในลักษณะดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่จะพบเห็นในกลุ่มผู้ประกอบการที่หวังสร้างรายจ่าย เพื่อลดกำไรในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ต่ำกว่าความเป็นจริง จึงมีการหาซื้อบิลเงินสดและใบกำกับภาษีที่ไม่ได้มีการซื้อขายสินค้ากันจริง

จะเห็นได้ว่าใบกำกับภาษีปลอมเป็นเพียงรายการหนึ่งของภาษีซื้อต้องห้ามเพียงเท่านั้น ซึ่งในทางกฎหมายและแนวทางปฏิบัติสำหรับการพิจารณาลักษณะของใบกำกับภาษีปลอมของกรมสรรพากรนั้น จะพิจารณาจากลักษณะและพฤติกรรมดังนี้

1. ใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่มีการซื้อขายกันจริง
2. ใบกำกับภาษีที่ออกแทนบิลเงินสดของบุคคลอื่น
3. ใบกำกับภาษีที่ออกโดยกลุ่มผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีเจ้าของคนเดียวกัน
4. ใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ไม่สามารถพิสูจน์เส้นทางการได้มาซึ่งสินค้า และการขายสินค้าได้
5. ใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่พบการเบิกสินค้าตามใบกำกับภาษีในรายงานสินค้าและวัตถุดิบของผู้ขาย
6. ต้นฉบับกับสำเนาใบกำกับภาษีที่มีรูปแบบหรือข้อความไม่ตรงกัน หรือลงลายมือชื่อคนละครั้ง หรือลงลายมือชื่อในช่องผู้รับมอบอำนาจต่างกันทั้งที่เอกสารออกเป็นชุด
7. ใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ขายที่มีพฤติกรรมจัดทำบัญชีไม่ถูกต้องตามหลักการทางบัญชี
8. ใบกำกับภาษีที่ผู้ขายออกให้กับลูกค้าหลายรายโดยมีเลขที่ใบกำกับภาษีเดียวกัน
9. ใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ขายซึ่งได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อแล้วแต่ไม่นำส่งภาษีขายต่อกรมสรรพากร
10. ใบกำกับภาษีที่ผู้ใช้ภาษีซื้อไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษี
11. ใบกำกับภาษีที่ผู้ใช้ภาษีซื้อไม่สามารถพิสูจน์เส้นทางการซื้อสินค้าและการขายสินค้าต่อไปได้
12. ใบกำกับภาษีที่เกิดจากกรณีผู้ขายส่งสินค้าไปยังลูกค้าของผู้ซื้อโดยตรง และไม่สามารถพิสูจน์เส้นทางการซื้อขายได้

จากแนวทางการพิจารณาลักษณะของใบกำกับภาษีปลอมข้างต้น จะเห็นได้ว่า บางกรณีก็มีการซื้อขายสินค้ากันจริง และผู้ซื้อสินค้าได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีซื้อ) และได้รับใบกำกับภาษีตามขั้นตอนของกฎหมายจริง เพียงแต่โชคร้ายไปซื้อสินค้า หรือรับบริการ และได้รับใบกำกับภาษีจากผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีพฤติกรรมดังกล่าว อันทำให้ไม่สามารถนำใบกำกับภาษีนั้นมาใช้เป็นภาษีซื้อเพื่อหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีที่ต้องนำส่งต่อกรมสรรพากรได้ จึงทำให้เป็นที่มาของการนำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้โดยไม่รู้ตัวนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ซื้อสินค้า พลาดนำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้โดยไม่รู้ตัวแล้วกรมสรรพากรตรวจสอบพบก็ถือจะว่ามีความผิดฐานใช้ใบกำกับภาษีปลอม ซึ่งจะมีโทษอย่างไรนั้นจะได้นำมาให้ติดตามอ่านกันในตอนต่อไป

ดังนั้น ในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยเฉพาะในการซื้อสินค้ามาจากผู้ประกอบการจดทะเบียนรายใดนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ความระมัดระวังในการซื้อเป็นอย่างสูง ทั้งการตรวจความน่าเชื่อถือ ตรวจสอบประวัติการประกอบกิจการ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และพฤติกรรมการประกอบกิจการที่ไม่เข้าลักษณะดังกล่าวข้างต้น

มาถึงตรงนี้ ทางผู้เขียนหวังว่าท่านผู้อ่านและผู้ประกอบการจะตระหนักเห็นถึงความสำคัญในการทำความเข้าใจ และศึกษาระบบภาษีมูลค่าเพิ่มให้เข้าใจมากขึ้นเพื่อจะได้ปฏิบัติและดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งหากดำเนินการผิดพลาดไปอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อกิจการตามมาได้ ทั้งนี้ หากพลาดนำใบกำกับภาษีปลอมไปใช้แล้วจะมีผลอย่างไร และจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไรนั้น ก็จะมานำเสนอให้ติดตามในตอนต่อไป

1มาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร

วรินทร สะรุโณ
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
16 กุมภาพันธ์ 2564

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9785
Email: warinthorns@dlo.co.th