ว่าด้วยเรื่องของตู้ (แบ่ง) ปัน (ความ) สุข ในสำนักกฎหมายธรรมนิติ (สำนักงานฯ)

โดย คุณสุพิชญา ปิยานนท์พงศ์ คุณวรินทร สะรุโณ และคุณพราว พืชมงคล

เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2563 ที่ผ่านมา ตู้ปันสุขได้เกิดขึ้นจากไอเดียของประชาชนชาวไทยที่ริเริ่มจากการนำตู้กับข้าวมาตั้งไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วใส่ข้าวสารอาหารแห้ง เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้นำสิ่งของมาบริจาคใส่ตู้เพื่อทำบุญแบ่งปันแก่เพื่อนมนุษย์ที่ลำบากขาดแคลน ทั้งนี้ อยู่ภายใต้หลักการที่ว่า “หยิบเท่าที่จำเป็น ให้เท่าที่มี”

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานฯ จึงได้นำตู้หนังสือว่างหน้าห้องครัวใบหนึ่ง มาดัดแปลงให้กลายเป็น “ตู้ปันสุข” ของสำนักงานฯ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ตู้ปันสุขใบนั้นก็เต็มไปด้วยข้าวของสารพัดชนิด ตั้งแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหลากรส ข้าวเหนียวหมูปิ้ง แซนด์วิช ไข่ไก่ ของหวาน กล้วย และสารพัดผลไม้ สลับกันไปจนเต็มตู้ตลอดมา

แรก ๆ พนักงานก็จะเขินเวลาจะหยิบ

นาน ๆ ไป ก็ทั้งหยิบ และหาของสารพัดที่ตัวมีมาเติมใหม่ทดแทนให้

เมนูอาหารหลายสไตล์ได้แพร่หลายในสำนักงานฯ

พนักงานที่เหน็ดเหนื่อยมาจากการทำงานจนเย็นย่ำ ก็แวะหยิบของที่มีในตู้ปันสุขมาแบ่งทานกันให้อิ่มท้องได้อยู่เสมอ

ช่วงบ่ายที่น่านอนในสำนักงานฯ จึงไม่น่าเบื่ออีกต่อไป

การให้มากมายได้เกิดขึ้นภายในสำนักงานฯ แม้ไม่รู้ว่าจะมาจากใคร แต่ก็สุขใจทุกครั้งที่ได้รับ

สิ่งที่ทำให้ปลื้มปริ่มใจ คือ แม้พนักงานในสำนักงานฯ จะไม่ได้เป็นเศรษฐีมีเงินทอง แต่คนรวยน้ำใจก็หาพบได้เสมอในสำนักงานฯ

แม้จะตกอยู่ภายใต้วิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อยาวนาน แต่กลับมีสิ่งที่สวยงามยิ่งกว่าได้เกิดขึ้น และน่าจะคงอยู่ ไม่จางหายไป

จึงบันทึกไว้เป็นความทรงจำ