สิทธิประโยชน์ทางภาษี กรณีโอนโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token)

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 779) พ.ศ. 2566 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มอันเนื่องมาจากการโอนโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token)[1] เพื่อให้การโอนโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนมีภาระภาษีเช่นเดียวกับการโอนหลักทรัพย์ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการระดมทุนผ่านโทเคนดิจิทัล ตลอดทั้งช่วยเพิ่มเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

 

 1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้หรือมูลค่าของฐานภาษี อันเนื่องมาจากการโอนโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ที่ออกเสนอขายต่อประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

2. ในกรณีที่โทเคนดิจิทัลที่ออกเสนอขายต่อประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีลักษณะเป็นทั้งโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนและโทเคนดิจิทัลที่มีวัตถุประสงค์อื่นให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับยกเว้นภาษี เฉพาะกรณีที่สามารถแยกส่วนของโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนและโทเคนดิจิทัลที่มีวัตถุประสงค์อื่นออกจากกันได้ และให้ได้รับยกเว้นภาษีเฉพาะในส่วนของโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนเท่านั้น

3. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด หากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังกล่าว สิทธิในการได้รับยกเว้นภาษีจะสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

4. ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการโอนโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

 

รายละเอียกตาม https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dc779.pdf

 

[1] “โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน” หมายความว่า โทเคนดิจิทัลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล