• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • Update เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ยกเว้นภาษีเงินได้ของกองทุน RMF สำหรับการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 และ 91 ปี 2563

Update เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ยกเว้นภาษีเงินได้ของกองทุน RMF สำหรับการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 และ 91 ปี 2563

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 401) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนและการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 27 มกราคม 2564 (“ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 401)”) ได้ยกเลิกกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้ของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (“กองทุน RMF”) ฉบับเดิม1 และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขใหม่ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. เงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้
     1.1 ต้องซื้อหน่วยลงทุน ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง ไม่หยุดซื้อหน่วยลงทุนเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี ติดต่อกัน (งดซื้อได้ 1 ปี) และไม่จำเป็นต้องมีขั้นต่ำอีกต่อไป
     1.2 ต้องถือหน่วยลงทุน ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก และไถ่ถอนหน่วยลงทุนเมื่อผู้มีเงินได้มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่ไถ่ถอนหน่วยลงทุนเพราะเหตุทุพพลภาพหรือตาย
     1.3 ต้องไม่ได้รับเงินปันผลหรือเงินอื่นใดจากกองทุน RMF ในระหว่างการลงทุน และต้องได้รับคืนเงินลงทุนและผลประโยชน์จากกองทุน RMF เมื่อมีการไถ่ถอนหน่วยลงทุนเท่านั้น
     1.4 ต้องไม่กู้ยืมเงินหรือเบิกเงินจากกองทุน RMF ที่ผู้มีเงินได้ได้ซื้อหน่วยลงทุนไว้

2. กรณีซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF เกินกว่า 1 กองทุน ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามข้อ 1. ทุกครั้ง

3. กรณีถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก หากผู้มีเงินได้มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ หรือทุพพลภาพ ผู้มีเงินได้จะไม่ซื้อหน่วยลงทุนอีกก็ได้ หรือจะซื้อปีใดปีหนึ่งก็ได้ (เป็นการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม 1.1)

4. การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน ตามข้อ 1. ข้อ 2. และข้อ 3. ให้ยกเว้นได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี (เดิม ยกเว้นได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี) ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น

กรณีผู้มีเงินได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ เงินได้ที่ได้รับการยกเว้นตามกองทุน RMF เมื่อรวมกับเงินสะสมเหล่านี้แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

5. กรณีผู้มีเงินได้ได้รับหน่วยลงทุน RMF จากการโอนหรือการใด ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการโอนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือได้มาโดยวิธีอื่นซึ่งไม่ใช่การซื้อหน่วยลงทุน จะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นั้น

6. กรณีผู้มีเงินได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้แล้ว ต่อมาปฏิบัติไม่เป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 401) นี้ ถือว่า ผู้มีเงินได้จะหมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นั้นในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปีภาษีนั้น ๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม เพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าว พร้อมเงินเพิ่ม

7. ผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นี้ ต่อเมื่อมีหนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF จากกองทุน RMF ที่แสดงได้ว่ามีการจ่ายเงินเข้ากองทุน RMF (เดิม แค่มีหลักฐานจากกองทุน RMF ที่แสดงได้ว่ามีการจ่ายเงินเข้ากองทุน RMF)

8. กรณีโอนการลงทุนในกองทุน RMF หนึ่ง ไปยังกองทุน RMF อื่น ๆ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และไม่ว่าจะโอนไปกองทุนรวมหนึ่งหรือหลายกองทุนรวม ผู้มีเงินได้จะต้องโอนการลงทุนภายใน 5 วันทำการ นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่กองทุน RMF ได้รับคำสั่งโอนจากผู้มีเงินได้

กองทุน RMF ที่ได้รับคำสั่งโอนดังกล่าวจะต้องจัดทำหนังสือรับรองการโอนหน่วยลงทุนแนบพร้อมหนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุน และส่งมอบให้แก่กองทุน RMF ที่รับโอนเก็บไว้เป็นหลักฐานพร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ (เดิม ไม่มีการระบุรูปแบบชัดเจน เพียงต้องจัดทำเอกสารหลักฐานการโอนส่งมอบให้แก่กองทุน RMF ที่รับโอนเท่านั้น)

9. หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนและหนังสือรับรองการโอนหน่วยลงทุนต้องทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่นจะต้องมีคำแปลภาษาไทยกำกับด้วย ตัวเลขจะใช้เลขไทยหรือเลขอารบิคก็ได้

     การลงชื่อในหนังสือดังกล่าว จะใช้วิธีประทับลายมือชื่อด้วยตรายางหรือจะพิมพ์ลายมือโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการเก็บลายมือชื่อไว้ (SCAN) ก็ได้

1 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171)

ที่มา https://bit.ly/2NVQz7z