จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’s Tax Newsletter
ฉบับที่ 151 เดือน กุมภาพันธ์ 2567
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (ฉบับที่ 7) อาศัยอำนาจตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรกำหนดให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ การชำระภาษี และการนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ บัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน บัญชีรายรับ รายจ่าย หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่ายที่มีบุคคลตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ตรวจสอบและรับรองในรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่กรณี และแบบรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันและมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ตามประมวลรัษฎากร ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตออกไปอีก 8 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/3cQnc
ข่าวภาษี
1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ …) พ.ศ. … (สินค้าน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่น ๆ ที่คล้ายกัน)
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นการล่วงหน้าแล้ว โดยปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่น ๆ ที่คล้ายกัน ประเภทอัตราตามปริมาณ (ลิตร) ปรับลดประมาณ 1 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 19 เมษายน 2567 ซึ่งมาตรการภาษีดังกล่าวจะช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และภาคธุรกิจในระดับที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ แต่คาดว่ากรมสรรพสามิตจะสูญเสียรายได้ประมาณ 6,000 ล้านบาทตลอดระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/3cUE7
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7535/2554
ระหว่าง นายส. โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง เงินค่ารถประจำตำแหน่ง
ประเด็นข้อพิพาท : เงินค่ารถประจำตำแหน่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินหรือไม่
คำพิพากษา : ทางราชการจ่ายเงินค่าพาหนะเหมาจ่ายเป็นรายเดือนเท่ากันทุกเดือนแก่เฉพาะข้าราชการระดับสูงที่มีสิทธิได้รับรถประจำตำแหน่ง ถือเป็นเงินที่โจทก์ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการทำงานนอกเหนือไปจากเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งซึ่งคิดคำนวณเป็นเงินได้ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 และ 40 (1) ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีตามมาตรา 42 และกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ฯ ทั้งนี้เพราะการได้รับค่าตอบแทนเหมาจ่าย ฯ เป็นประโยชน์ที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์โดยตรง ไม่มีข้อบังคับหรือจำกัดการใช้จ่ายเงินนี้ของโจทก์แต่อย่างใด ซึ่งแตกต่างจากการได้รับรถประจำตำแหน่ง ผู้รับได้ใช้รถของทางราชการซึ่งต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2523 และเมื่อพ้นตำแหน่งข้าราชการที่ได้รับรถประจำตำแหน่งก็ไม่มีสิทธิในรถประจำตำแหน่งอีก
ความเห็นของผู้เขียน : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาข้างต้น โดยฎีกาฉบับนี้มีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจที่ใช้พิจารณาพิพากษาเป็น 2 ประเด็น คือ 1. เงินค่าพาหนะเหมาจ่ายเป็นรายเดือนถือเป็นเงินได้พึงประเมินหรือไม่ และ 2. หากถือเป็นเงินได้พึงประเมิน เงินได้ดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษีหรือไม่ ซึ่งสามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง เงินค่ารถประจำตำแหน่งดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินหรือไม่ บทบัญญัติมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรได้ให้นิยามของคำว่า “เงินได้พึงประเมิน”เอาไว้ ซึ่งรวมถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน และในมาตรา 40 ได้กำหนดประเภทของเงินได้พึงประเมินประเภทต่าง ๆ เอาไว้ โดยเงินได้ประเภทที่ 1 (มาตรา 40 (1)) เป็นเงินได้อันเกิดจากการจ้างแรงงาน เงินได้ประเภทดังกล่าวมักเป็นเงินที่นายจ้างได้จ่ายให้แก่ลูกจ้าง รวมถึงเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์เพิ่มใด ๆ ที่นายจ้างได้ให้ลูกจ้างอันเนื่องมาจากการจ้างแรงงาน เช่นนั้นแล้วที่ทางราชการได้จ่ายเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งให้นั้นย่อมเข้าลักษณะเป็นประโยชน์เพิ่มที่ได้รับอันเนื่องมาจากสัญญาจ้างแรงงานซึ่งอาจคิดคำนวณเป็นเงินได้ ตามมาตรา 39 และเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) เนื่องจากผู้รับเงินสามารถใช้เงินได้อย่างอิสระ และไม่ได้ตกอยู่ภายใต้ข้อบังคับหรือข้อจำกัดใด ๆ ในการใช้เงินดังกล่าว สามารถนำเงินไปซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์รถยนต์ประเภทใด ราคาเท่าใดก็ได้ เมื่อเงินเหลือก็ตกเป็นของผู้รับเงิน หากเมื่อพ้นตำแหน่งแล้วกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในรถยนต์ก็ยังคงเป็นของผู้รับเงินอยู่
ประเด็นที่สอง เงินได้ดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษีหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าทางราชการจ่ายเงินค่าพาหนะเหมาจ่ายเป็นรายเดือนเท่ากันทุกเดือน เงินดังกล่าวจึงไม่ได้มีลักษณะเป็นการจ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น ตามมาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อพิจารณาตามกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ก็ไม่ได้กำหนดยกเว้นไว้สำหรับเงินได้ดังกล่าวว่าไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
ดังนั้นเมื่อพิจารณาใน 2 ประเด็นดังกล่าวมาในข้างต้น เงินได้ดังกล่าวจึงถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ การที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาดังกล่าวมาจึงชอบแล้ว
อนึ่ง การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวนี้เป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ประกอบด้วย ซึ่งกรณีอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการตีความกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน การนำเสนอคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อต้องการให้ผู้อ่านมีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายภาษีอากรมากยิ่งขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น
ฝ่ายวิชาการ
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725