จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’s Tax Newsletter
ฉบับที่ 147 เดือนตุลาคม 2566
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 50) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ โดยประกาศนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/Wp38
2. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 436) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 773) พ.ศ. 2566 โดยประกาศนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/Wp69
3. ขยายเวลาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม
พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 780) พ.ศ. 2566 กำหนดให้ ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือร้อยละ 6.3 สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี สำหรับกรณีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 โดยพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/WvnL
4. การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ บุคคลซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยที่มีเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศในปีภาษีดังกล่าว และได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีใดก็ตาม ให้บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีที่ได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย โดยคำสั่งนี้ให้มีผลใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่นำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/Wvq5
5. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 437) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษ ได้กำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานผู้พ้นโทษ
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/Wvro
6. หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬาผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 51) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬาผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคเพื่อสนับสนุนการกีฬาผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 772) พ.ศ. 2566 โดยประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/Wvvd
7. แบบแสดงรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 438) เรื่อง กำหนดแบบแสดงรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ได้กำหนด แบบแสดงรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายไว้ในประกาศดังกล่าว โดยประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/Wvwd
ข่าวภาษี
1. ขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฎษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยกำหนดให้ขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มออกไปอีก 1 ปี โดยให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/WvzQ
2. ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่น ๆ ที่คล้ายกัน
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยกำหนดให้ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่น ๆ ที่คล้ายกัน ในบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพามิต ประเภทที่ 01.05 รายการน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถัน และรายการน้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่ ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bitly.ws/WvzQ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2095/2543
ระหว่าง
คณะบุคคล ก.-ม. โดยนาย ก. ผู้จัดการ โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง การฟ้องคดีในนามคณะบุคคล
ประเด็นข้อพิพาท : คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 39 จะถือว่าเป็นบุคคลผู้มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลได้ หรือไม่
คำพิพากษา : คดีนี้ โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องว่า ในการฟ้องคดีนี้ นาย ก. กระทำการแทนในฐานะผู้จัดการโจทก์ ในฐานะส่วนตัว และในฐานะผู้รับมอบอำนาจของนางสาว ม. คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการเพิ่มเติมชื่อโจทก์ที่จะต้องระบุไว้แน่ชัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 67 เข้ามาในภายหลัง ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนผู้เป็นโจทก์เข้ามาในคำฟ้องเดิม มิใช่เป็นเรื่องของแก้ไขคำฟ้องตามนัยบทกฎหมายดังกล่าว คำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลแต่อย่างใด อีกทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าโจทก์เป็นคณะบุคคลตามกฎหมายใช้ชื่อว่า “คณะบุคคล ก.-ม.” ซึ่งเป็นเพียงคณะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่รวมกันเป็นหน่วยภาษีตามประมวลรัษฎากรเท่านั้น มิใช่นิติบุคคลตามกฎหมาย โจทก์จึงมิใช่บุคคลธรรมดาและมิใช่นิติบุคคลอันอาจเป็นคู่ความในคดีได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ความเห็นของผู้เขียน : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาข้างต้น ซึ่งสามารถแยกพิจารณาได้ 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง การแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การแก้ไขคำฟ้องของโจทก์สามารถกระทำได้หากเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 179 กล่าวคือ จะต้องเป็นการแก้ไขข้อหา หรือข้ออ้างที่มีต่อจำเลยซึ่งได้กล่าวไว้ในคำฟ้องที่เสนอต่อศาลแต่แรก โดยการเพิ่ม หรือลดทุนทรัพย์ หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือสละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อหรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ ดังนั้น การที่จำเลยขอแก้ไขฟ้องโดยการเพิ่มเติมชื่อโจทก์จึงไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้น การที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นชอบแล้ว
ประเด็นที่สอง อำนาจฟ้องของโจทก์ โดยหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (11) ได้บัญญัติความหมายของคำว่า “คู่ความ” ไว้ว่า คู่ความ หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้อง หรือถูกฟ้องต่อศาล… และคำว่า “บุคคล” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นได้แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ส่วนคณะบุคคลโจทก์นั้นเป็นเพียงหน่วยภาษีตามประมวลรัษฎากรที่กำหนดขึ้นเพื่อเสียภาษีเงินได้เสมือนว่าเป็นบุคคลธรรมดาคนเดียวเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่ใช่บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลย่อมไม่อาจเป็นคู่ความในคดีได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
อย่างไรก็ดี หน่วยภาษีที่เรียกว่าคณะบุคคลนั้นเกิดจากกรณีที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงกระทำการร่วมกัน อันมิใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ดังนั้น หากคณะบุคคลต้องการฟ้องคดีเพื่อโต้แย้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของเจ้าพนักงานประเมิน ย่อมกระทำได้โดยการที่สมาชิกของคณะบุคคลทั้งหมดร่วมกัน โดยต่างคนต่างเป็นโจทก์ตามลำดับในการฟ้องคดี หรือสมาชิกของคณะบุคคลนั้นมอบอำนาจให้ผู้จัดการของคณะบุคคลฟ้องคดีแทนในฐานะส่วนตัว และในฐานะผู้รับมอบอำนาจก็ได้ แต่ต้องไม่ฟ้องในฐานะเป็นคณะบุคคล เพราะไม่มีสถานะในทางกฎหมายที่จะถือว่าเป็นบุคคลธรรมดาที่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลได้
อนึ่ง กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการตีความกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้ในการนำเสนอนี้มีเพียงวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น
มัญจา บุญช่วย
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725