จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’s Tax Newsletter
ฉบับที่ 143 เดือนมิถุนายน 2566
กฎหมายใหม่ล่าสุด
การจัดทำ การส่ง การเก็บรักษาใบกำกับภาษี โดยวิธีการประทับรับรองเวลา (Time Stamp)
ประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การจัดทำ ส่ง หรือเก็บรักษา ใบกำกับภาษี โดยการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ในการดำเนินการจัดทำ การส่ง หรือการเก็บรักษาใบกำกับภาษี เพื่อเป็นทางเลือกของผู้ประกอบการจดทะเบียนในการจัดทำ ส่ง หรือเก็บรักษาใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3Lepc3p
ข่าวภาษี
–
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 171/2521
ระหว่าง กองมรดก นาง ป. โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ในนามกองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง ตามมาตรา 57 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
ประเด็นข้อพิพาท : เงินได้จากทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกันระหว่างทายาท จะต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ในนามทายาทหรือกองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง
คำพิพากษา : กองมรดกโจทก์ยังมิได้แบ่งปันกันระหว่างทายาท เงินค่าเช่าจากตึกแถวที่ได้รับจากทรัพย์สินของกองมรดกย่อมเป็นของกองมรดก เพราะเป็นดอกผลนิตินัยซึ่งต้องนำไปแบ่งปันกันระหว่างทายาทในภายหลัง แม้ตามพินัยกรรมระบุให้แบ่งเงินค่าเช่าแก่ทายาท 3 คน และผู้จัดเก็บผลประโยชน์ของกองมรดกได้แบ่งค่าเช่าที่เก็บได้มาให้แก่ทายาทไปตามพินัยกรรมแล้วก็หาใช่ว่าเงินค่าเช่านั้นตกได้แก่ทายาท 3 คนนั้นทันที กรณีเข้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 57 ทวิ วรรคสอง ดังนั้น ผู้จัดการมรดกหรือทายาทหรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแล้วแต่กรณี มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้ในชื่อกองมรดกผู้ตาย
ความเห็นของผู้เขียน : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น เนื่องจากในปีถัดจากปีที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เมื่อกองมรดกของผู้ตายยังมิได้แบ่งและในกองมรดกนั้นก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมินที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษี การเสียภาษีในเงินได้ส่วนนี้ก็ต้องเสียภาษีในนามกองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง ตามมาตรา 57 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าตามข้อกำหนดในพินัยกรรมของเจ้ามรดกระบุให้มีการแบ่งค่าเช่าให้แก่ทายาทโดยพินัยกรรมของเจ้ามรดกแล้ว แต่การแบ่งค่าเช่าดังกล่าวยังไม่ถือเป็นการแบ่งมรดก เนื่องจากค่าเช่านั้น เป็นทรัพย์หรือประโยชน์อย่างอื่นของทรัพย์มรดก ซึ่งถือเป็นดอกผลนิตินัยแห่งทรัพย์มรดก ตามมาตรา 148 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น เมื่อตึกแถวซึ่งเป็นตัวทรัพย์มรดกยังไม่ได้ดำเนินการแบ่งให้แก่ทายาท ก็ถือว่าการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น ผู้จัดการมรดกหรือทายาทหรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดก ในฐานะผู้มีหน้าที่เสียภาษีแทนเจ้ามรดกจึงต้องเสียภาษีในนามของกองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง ตามมาตรา 57 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
อย่างไรก็ดี ภายหลังที่ได้จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่เสียภาษีในนามกองมรดกที่ยังมิได้แบ่งแล้วให้แก่ทายาท ทรัพย์สินส่วนนี้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ทายาทไม่ต้องนำเงินได้จากทรัพย์สินดังกล่าวมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามส่วนตัวอีก แต่ทั้งนี้เมื่อมีการแบ่งมรดก จำนวนที่ได้รับเมื่อรวมกับมรดกที่ได้รับมาทั้งหมด หากมีมูลค่าเกินกว่าหนึ่งร้อยล้านบาทต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกินหนึ่งร้อยล้านบาท ในอัตราร้อยละ 10 แต่หากผู้ได้รับมรดกเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดาน ต้องเสียในอัตราร้อยละ 5 ตามมาตรา 12 วรรคแรก ประกอบกับมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558
อนึ่ง กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการตีความกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้ในการนำเสนอนี้มีเพียงวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น
ณัฏฐณิชา ศรีเจริญวณิชกุล
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725