จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมีนาคม 2566

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’s Tax Newsletter

ฉบับที่ 140 เดือนมีนาคม 2566

กฎหมายใหม่ล่าสุด

     1.ยกเว้นเงินได้พึงประเมินที่นักแสดงซึ่งมีภูมิลำเนาในต่างประเทศได้รับอันเนื่องมาจากการแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย

     กฎกระทรวง ฉบับที่ 387 (พ.ศ. 2566) ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร กำหนดให้เงินได้พึงประเมินที่นักแสดงซึ่งมีภูมิลำเนาในต่างประเทศได้รับอันเนื่องมาจากการแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3mmOF0X

     2.วิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 66) กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อ 2 ของประกาศดังกล่าวที่ได้จัดทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3ZyJGZo

     3.วิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินตามแบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ (อ.ส.9) ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับตราสารบางลักษณะ

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 67) กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินตามแบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ (อ.ส.9) ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับตราสารตามข้อ 2 ของประกาศดังกล่าว ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับตราสารที่ได้จัดทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3KWYkpj

ข่าวภาษี

     1.ขยายระยะเวลาการลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

     เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามอัตราการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้เหลือในอัตราร้อยละ 0.01 ตามราคาประเมินทุนทรัพย์ ซึ่งปกติจะเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 1 ตามราคาประเมินทุนทรัพย์ ออกไปอีกจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3ZeyDEM

     2.ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินสนับสนุน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากภาครัฐในปีภาษี 2565 

     เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินสนับสนุน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากภาครัฐในปีภาษี 2565 ซึ่งผู้เสียภาษีจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปี 2565 ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2566

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3y5Y6Er

     3.สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการร่วมลงทุนในโครงการLNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2)

     เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (บริษัท พีทีทีแอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG)) สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า และสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการร่วมลงทุนในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ณ บ้านหนองแฟบ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3y5Y6Er

     4.ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกิจการอุตสาหกรรมห้องเย็น (อ.ย.) เฉพาะการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อชำระหนี้ให้แก่กระทรวงการคลัง

     เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ กำหนดให้กิจการขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น (อ.ย.) เฉพาะการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อชำระหนี้ให้แก่กระทรวงการคลัง ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2563

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3IDVW3G

     5.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด และบริษัทบริหารสินทรัพย์

     เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (บสอ.) โดยย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2561 ที่ บสอ. ได้รับจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ให้เหมือนกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงหรือโดยอ้อม

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3IDVW3G

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่             2278/2548

ระหว่าง                               บริษัท พ.                                 โจทก์

                     กรมสรรพากร กับพวก                  จำเลย

เรื่อง การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์

ประเด็นข้อพิพาท        : การที่โจทก์ให้บริษัท ส. เจ้าของโครงการยึดถือเงินค่างวดล่วงหน้าเป็นปกติธุระทุกเดือนในช่วงปี 2534 ถึงปี 2536 เข้าลักษณะเป็นการให้กู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ยตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือไม่

ข้อเท็จจริง                 : โจทก์รับจ้างตกแต่งภายในห้องชุด โครงการอาคารชุดของบริษัท ส. โจทก์ได้รับเงินค่าจ้างจากลูกค้าล่วงหน้าในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลือลูกค้าจะชำระเป็นงวด โดยบริษัท ส. เป็นผู้รับแทนโจทก์ และยึดถือไว้โดยไม่ได้ส่งมอบให้แก่โจทก์

คำพิพากษา               : ศาลฎีกาวินิจฉัยทำนองว่า ประเด็นภาษีเงินได้นิติบุคคล การที่โจทก์ไม่ใช่บริษัทในเครือเดียวกันกับบริษัท ส. ทั้งไม่มีหนี้สินต่อกัน และโจทก์กับบริษัท ส. ไม่ได้มีสัญญาต่างตอบแทนกันไว้ว่าการที่โจทก์ให้บริษัท ส. ยึดถือเงินค่างวดที่ลูกค้าชำระแก่โจทก์โดยไม่คิดดอกเบี้ยแล้วบริษัท ส. จะเสนอผลประโยชน์ใด ๆ ตอบแทนแก่โจทก์บ้าง และที่โจทก์อ้างว่าการที่ให้บริษัท ส. ยึดถือเงินค่างวดล่วงหน้าไว้เพื่อเป็นหลักประกันว่าโจทก์จะไม่ละทิ้งงานนั้น หากบริษัท ส. ประสงค์จะได้หลักประกันว่าโจทก์จะไม่ทิ้งงาน โจทก์ย่อมติดต่อขอหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางเป็นหลักประกันก็ได้ ด้วยเหตุนี้แสดงให้เห็นว่าไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะให้ บริษัท ส. ยึดถือเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ยได้ ดังนั้น การที่โจทก์ยินยอมให้บริษัท ส. ยึดถือเงินค่างวดล่วงหน้าที่ลูกค้าชำระให้แก่โจทก์โดยไม่มีดอกเบี้ยถือได้ว่าเป็นกรณีที่ไม่มีเหตุอันสมควร จึงเข้าลักษณะเป็นการให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีดอกเบี้ยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยรับตามราคาตลาดในวันที่กู้ยืมเงินได้

     ประเด็นภาษีธุรกิจเฉพาะ การที่โจทก์ให้กู้ยืมเงินจำนวนมากและทำเป็นปกติธุระทุกเดือนในช่วงปี 2534 ถึงปี 2536 เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่าเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ การที่โจทก์อ้างว่าไม่ได้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์หรือเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เพราะโจทก์มิได้มีเจตนาให้บริษัท ส. กู้ยืมเงินแต่โจทก์ให้ยึดถือเงินค่างวดล่วงหน้าไว้เพื่อเป็นหลักประกันว่าโจทก์จะไม่ละทิ้งงาน จึงฟังไม่ขึ้น ดังนั้น การที่โจทก์ไม่คิดดอกเบี้ยกับบริษัท ส. นั้นไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/16 (6) โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

ความเห็นของผู้เขียน  : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น เนื่องจากการที่โจทก์ซึ่งมีสิทธิได้รับเงินค่างวดจากลูกค้า แต่กลับให้บริษัท ส. ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการรับแทนและยึดเงินดังกล่าวไว้เป็นประโยชน์ของบริษัท ส. จึงเข้าลักษณะเป็นการให้กู้ยืมเงิน ซึ่งเมื่อโจทก์ไม่ได้เรียกเก็บดอกเบี้ย ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร จึงให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินรายได้ดอกเบี้ยรับได้ เว้นแต่กรณีมีเหตุอันสมควร ซึ่งจะต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ต่าง ๆ ในทางธุรกิจว่าเหตุที่ทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่กิจการของโจทก์หรือไม่ด้วย โดยในคดีดังกล่าวศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ว่า “หากโจทก์มีการทำสัญญาต่างตอบแทนไว้กับบริษัท ส.” ย่อมแสดงเห็นได้ว่า หากมีการทำสัญญาต่างตอบแทนในลักษณะที่โจทก์ได้ประโยชน์จากบริษัท ส. กรณีถือว่ามีเหตุอันสมควรที่โจทก์จะให้บริษัท ส. ยึดถือเงินค่างวดดังกล่าวไว้แทนโจทก์ก่อนก็ได้ แต่โจทก์กลับอ้างว่าเป็นเงินประกันผลงาน ซึ่งไม่เป็นไปตามปกติของธุรกิจที่พึงกระทำกัน กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควร ส่วนภาษีธุรกิจเฉพาะเมื่อโจทก์ให้บริษัท ส. ยึดถือเงินค่างวดไว้โดยไม่คิดดอกเบี้ย ไม่ได้รับดอกเบี้ย และไม่มีเหตุอันสมควรทุกเดือนในช่วงปี พ.ศ. 2534 ถึง ปี พ.ศ. 2536 ดังกล่าว จึงเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ จึงมีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อไม่ได้เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.26/2534 ที่ไม่ถือว่าเป็นรายรับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจกำหนดดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงินตามมาตรา 91/16 (6) แห่งประมวลรัษฎากรได้

     อนึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการตีความกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้ในการนำเสนอนี้มีเพียงวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น

 มัญจา บุญช่วย

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725