จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนธันวาคม 2565

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

 

ฉบับที่ 137 เดือนธันวาคม 2565

กฎหมายใหม่ล่าสุด

  1. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation)
  2. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง
  3. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ค่าเช่าพื้นที่ หรือค่าบริการในการเข้าร่วมงานออกร้าน งานนิทรรศการ หรืองานแสดงสินค้าภายในประเทศบางกรณี
  4. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการพื้นที่ของเซิร์ฟเวอร์ให้แก่ผู้ประกอบกิจการศูนย์ข้อมูล
  5. กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์
  6. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีอากร สำหรับทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อกำหนดในการซื้อทรัพย์สินคืน
  7. ขยายกำหนดเวลาการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม
  8. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับวิสาหกิจชุมชนเฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

 

ข่าวภาษี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คําพิพากษาศาลฎีกาที่  7844/2560

ระหว่าง           บริษัท ว. จำกัด         โจทก์

               กรมสรรพากร          จำเลย

เรื่อง    เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะโดยใช้เกณฑ์ในการคำนวณรายรับแตกต่างจากเกณฑ์ที่ผู้เสียภาษีเลือกใช้

กฎหมายใหม่ล่าสุด

    1.ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation)

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 756) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือมูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3XwO2Pe

    2.ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 757) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรองที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจัดให้แก่ลูกจ้าง

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3I5mzi0

    3.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ค่าเช่าพื้นที่ หรือค่าบริการในการเข้าร่วมงานออกร้าน งานนิทรรศการ หรืองานแสดงสินค้าภายในประเทศบางกรณี

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 758) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าเช่าพื้นที่ หรือค่าบริการในการเข้าร่วมงานออกร้าน งานนิทรรศการ หรืองานแสดงสินค้าภายในประเทศบางกรณี ที่เริ่มจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3kbEXgZ

    4.ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการพื้นที่ของเซิร์ฟเวอร์ให้แก่ผู้ประกอบกิจการศูนย์ข้อมูล

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 759) กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการให้บริการพื้นที่ของเซิร์ฟเวอร์ให้แก่ผู้ประกอบกิจการศูนย์ข้อมูล ที่มีคุณสมบัติและยื่นคำร้องขอใช้สิทธิตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3YSBsec

    5.กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 45) ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือมูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3YIo9gH

    6.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีอากร สำหรับทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อกำหนดในการซื้อทรัพย์สินคืน

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 46) ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการขายทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้แก่ทรัสตีของกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืนหรือการขายทรัพย์สินของทรัสตีของกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืนให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3XxNOHr

    7.ขยายกำหนดเวลาการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม

     ประกาศกระทรวงการคลัง ประกาศ ขยายกำหนดเวลาการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (P.P.30.9) ออกไปอีก 8 วันนับแต่วันสุดท้ายของกําหนดเวลาการยื่นแบบฯ หรือที่ได้รับการขยายกําหนดเวลาตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรแล้วแต่วันใดจะเป็นวันสุดท้ายของผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3lJN5G8

    8.ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับวิสาหกิจชุมชนเฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

     กฎกระทรวง (ฉบับที่ 385) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับวิสาหกิจชุมชนเฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลซึ่งมีเงินได้ไม่เกินหนึ่งล้านแปดแสนบาท สำหรับปีภาษีนั้น โดยขยายให้มีผลถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2568

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/41dQzRw

ข่าวภาษี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 7844/2560

ระหว่าง         บริษัท ว. จำกัด           โจทก์

              กรมสรรพากร           จำเลย

เรื่อง    เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะโดยใช้เกณฑ์ในการคำนวณรายรับแตกต่างจากเกณฑ์ที่ผู้เสียภาษีเลือกใช้

ประเด็นข้อพิพาท : โจทก์ใช้เกณฑ์เงินสดในการคำนวณรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่จำเลยใช้เกณฑ์สิทธิในการประเมินรายรับให้โจทก์เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นการประเมินที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ข้อเท็จจริง : โจทก์จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีธุรกิจเฉพาะ ประกอบกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ และประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ โจทก์ให้บริษัท จ. กู้ยืมเงิน 1,000,000 บาท เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2546 ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยบริษัท จ. ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ และครบกำหนดวันที่ 12 สิงหาคม 2546 บริษัท จ. ไม่ได้ชำระต้นเงินและดอกเบี้ย โจทก์บันทึกบัญชีดอกเบี้ยค้างรับมาตลอด จนกระทั่งรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2552 โจทก์ไม่บันทึกบัญชีดอกเบี้ยรับ และตัดยอดบัญชีดอกเบี้ยค้างรับส่วนเกินห้าปีออกจากบัญชีลูกหนี้ เจ้าพนักงานจำเลยแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะจากรายรับดอกเบี้ย 150,000 บาท ให้โจทก์เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ใช้เกณฑ์เงินสดในการคำนวณรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ และต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเมื่อได้รับเงินค่าดอกเบี้ยและค่าบริการแล้วเท่านั้น แต่เจ้าพนักงานของจำเลยกลับใช้เกณฑ์สิทธิมาประเมินให้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะจึงไม่ชอบ

คำพิพากษา: ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 91/8 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “การคำนวณรายรับตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามวิธีการ หลักเกณฑ์และการปฏิบัติทางบัญชี และเพื่อประโยชน์ในการคำนวณรายรับ เมื่อได้เลือกปฏิบัติอย่างใดแล้วให้ถือปฏิบัติอย่างเดียวกันตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้เปลี่ยนแปลงได้” กรณีการปฏิบัติของโจทก์เพื่อยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเป็นคนละกรณีกับอำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับรายรับที่โจทก์ไม่ได้บันทึกบัญชีเป็นรายได้ไว้หรือบันทึกเป็นรายได้ไว้ทั่วไปโดยไม่มีเหตุสมควร ซึ่งโดยสภาพโจทก์ไม่ได้เรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจากคู่สัญญาอยู่แล้ว จึงอ้างเกณฑ์เงินสดในกรณีเจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจประเมินตามมาตรา 91/16 (6) แห่งประมวลรัษฎากรไม่ได้ เมื่อปรากฏแก่เจ้าพนักงานประเมินว่าโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด การประเมินจึงชอบแล้ว

ความเห็นของผู้เขียน : ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น เพราะแม้ว่าในเรื่องของภาษีธุรกิจเฉพาะ แม้ผู้เสียภาษีจะสามารถเลือกได้ว่าจะใช้เกณฑ์ใดในการคำนวณรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/8 วรรคสองแห่งประมวลรัษฎากรก็ตาม แต่เป็นคนละกรณีกับอำนาจของเจ้าพนักงานประเมินในการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้บันทึกบัญชีเป็นรายได้ไว้หรือบันทึกเป็นรายได้ไว้ต่ำไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งโดยสภาพย่อมจะเห็นได้ว่าโจทก์มีเจตนาไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจากคู่สัญญาอยู่แล้ว เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจตามมาตรา 91/16 (6) แห่งประมวลรัษฎากรที่ว่า “กำหนดดอกเบี้ย… ตามราคาตลาดในวันให้กู้ยืมเงิน… ในกรณีที่การให้กู้ยืมเงิน… มีดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร” ประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะโดยใช้เกณฑ์สิทธิในการประเมินภาษีดังกล่าวได้ เพราะสิทธิและหน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีของโจทก์กับอำนาจในการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินมีบทบัญญัติกำหนดให้หน้าที่และอำนาจแตกต่างกัน ดังนั้น โจทก์จึงไม่สามารถอ้างว่าใช้เกณฑ์เงินสดในการยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีดังกล่าวได้

อนึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการตีความกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้ในการนำเสนอนี้มีเพียงวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น

สกาวบุญ คุณสุข

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725

Email: wannipas@dlo.co.th