จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนเมษายน 2565

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

 

ฉบับที่ 129 เดือนเมษายน 2565

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1.หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับหนี้ที่ต้องดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
2.หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยกเว้นภาษีสำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์จากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
3.ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีขาดทุนจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล
4.หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข และระยะเวลา เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการลงทุนในระบบอัตโนมัติ
5.หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการจ้างแรงงาน ลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์หรือคณิตศาสตร์
6.หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมหรือการจัดฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้าง เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์
7.หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล
8.ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติิบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันและมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี (Disclosure Form)
ข่าวภาษี
1.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร
2.มาตรการบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
3.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup)
4.ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่กิจการของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1762-1763/2559

ระหว่าง              นาย น. กับพวก                 โจทก์

กรมสรรพากร                   จำเลย

เรื่อง การขายสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร

กฎหมายใหม่ล่าสุด

  1. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับหนี้ที่ต้องดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 40) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับหนี้ที่ต้องดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3wkbBRm

  1. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยกเว้นภาษีสำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์จากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 41) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยกเว้นภาษีสำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์จากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3NhAWl4

  1. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีขาดทุนจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล

     กฎกระทรวง ฉบับที่ 380 กำหนดให้เพิ่มข้อ 2 (104) ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 โดยกำหนดให้สามารถนำผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน มาหักออกจากผลขาดทุนจากการโอน
คริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัลที่เกิดขึ้นในปีภาษีเดียวกันได้ ทั้งนี้ เฉพาะผลประโยชน์และผลขาดทุนจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลซึ่งกระทำในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3ix9fGE

  1. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข และระยะเวลา เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการลงทุนในระบบอัตโนมัติ

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 421) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข และระยะเวลา เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการลงทุนในระบบอัตโนมัติ สำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามโครงการลงทุนในระบบอัตโนมัติแต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3wHavPX และ https://bit.ly/36kM93L

  1. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการจ้างแรงงาน ลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์หรือคณิตศาสตร์

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 422) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 50 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นเงินเดือน ตามสัญญาจ้างแรงงานให้แก่ลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ตามจำนวนที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน ที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3590Upw และ https://bit.ly/3JRDuE4

  1. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมหรือการจัดฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้าง เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 423) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 150 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมหรือในการจัดฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3NnPyiA และ https://bit.ly/3wC6vjI

  1. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 424) กำหนดวิธีการคำนวณผลประโยชน์และผลขาดทุนจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือ โทเคนดิจิทัล ตามข้อ 2 (104) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 โดยกำหนดให้เป็นไปตามวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป และผู้มีเงินได้ต้องจัดทำบัญชี เพื่อแสดงรายการผลกำไรและผลขาดทุนจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล และเก็บรักษาเอกสารตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/36NNek4 และ https://bit.ly/3ix9fGE

  1. ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติิบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันและมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี (Disclosure Form)

     กระทรวงการคลังได้ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบ Disclosure Form ของรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งต้องยื่นภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 โดยให้ยังคงได้รับสิทธิขยายกำหนดเวลาออกไปอีก 8 วัน หากยื่นผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/37343ID

ข่าวภาษี

  1. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร

     เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1) กำหนดบทนิยามคำว่า “คดีภาษีอากร” ใหม่ และกำหนดให้ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่เกี่ยวกับภาษีอากร โดยให้คดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวไม่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากร ตลอดจนให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวโดยอนุโลม

2) กำหนดให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลางโดยอนุมัติประธานศาลฎีกา มีอำนาจออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของคดีอาญา โดยต้องไม่ทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีอาญาของจำเลยลดน้อยลงกว่าที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

3) แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์ ฎีกา คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลในคดีอาญาที่เกี่ยวกับภาษีอากร โดยให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม รวมถึงให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวในศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษและศาลฎีกาโดยอนุโลมด้วย

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3iERvJH

  1. มาตรการบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

     เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 2 ฉบับ ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ มีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. ตามโครงการพัฒนาและทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. สำหรับการใช้งานภาคประชาชน ตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนถัดจากเดือนที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3ioZrhL

  1. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup)

     เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร มีสาระสำคัญดังนี้

1) เป็นการปรับปรุงมาตรการการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้นตามพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 597 และฉบับที่ 636 โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรจากการโอนหุ้นและหน่วยทรัสต์ของการลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้นโดยตรงและการลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้นผ่านกิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital)

โดยให้ได้รับยกเว้นตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2575

2) กำหนดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยแบ่งตามรูปแบบการลงทุน 2 รูปแบบ ได้แก่ การลงทุนโดยตรงของบุคคลธรรมดาหรือบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทยและบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนในต่างประเทศ (เดิมไม่มี) และการลงทุนผ่านกิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital)

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3ioZrhL

  1. ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่กิจการของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

     เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร มีสาระสำคัญ ได้แก่การกำหนดให้กิจการของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3E1grVt

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1762-1763/2559

ระหว่าง              นาย น. กับพวก                 โจทก์

กรมสรรพากร                   จำเลย

เรื่อง การขายสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร

ประเด็นข้อพิพาท : การที่โจทก์ทั้งสองโอนขายหุ้นของตนในบริษัทจำกัดที่ได้รับจากการแบ่งมรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นการขายสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ซึ่งเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (9) หรือไม่

ข้อเท็จจริง : โจทก์ทั้งสองโอนขายหุ้นของตนในบริษัทจำกัด ให้แก่นายปริญญา กับพวก ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 746/2546 ซึ่งการโอนขายหุ้นดังกล่าว จำเลยเห็นว่าเป็นการขายสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร แต่โจทก์ทั้งสองไม่เห็นด้วย โดยโต้แย้งว่า โจทก์ทั้งสองได้หุ้นมาโดยมิได้รับโอนหรือซื้อจากผู้ใด หุ้นดังกล่าวเป็นการได้มาสืบเนื่องจากการแบ่งมรดกโดยโจทก์ทั้งสองไม่ต้องใช้ราคาใด ๆ อันจะถือว่าเป็นเงินลงทุนของโจทก์ทั้งสอง กรณีจึงถือว่า โจทก์ทั้งสองได้หุ้นมาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร

คำพิพากษา : บริษัทย่อมมีวัตถุประสงค์ในทางการค้าหากำไรมาแบ่งปันกันในระหว่างผู้ถือหุ้น การได้หุ้นของบริษัทมาจึงถือว่าเป็นการได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรอยู่ในตัว ดังนั้น เมื่อมีรายได้จากการขายหุ้นดังกล่าว จึงต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เว้นแต่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าหุ้นนั้นได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรโดยแท้จริง

     เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรม มีการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทแล้วโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเข้าเป็นทุนของบริษัท มีโจทก์ทั้งสองและทายาทอื่นอีก 7 คน เป็นผู้ถือหุ้น หลังจากนั้น ยังมีการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทอีกหนึ่งบริษัท ต่อมาโจทก์ทั้งสองตกลงโอนขายหุ้นของตนในบริษัททั้งสองให้แก่ ป. กับพวก การที่ผู้จัดการมรดกและทายาทจัดตั้งบริษัทแล้วแบ่งหุ้นให้แก่โจทก์ทั้งสองและทายาทอื่น เป็นการสงวนผลประโยชน์รายได้ที่เกิดจากกิจการให้ตกอยู่แก่ทายาทของ ส. ที่ถือหุ้นบริษัททั้งสองไว้ต่อไป และการถือหุ้นของโจทก์ทั้งสองกับทายาทดังกล่าว ยังทำให้ได้บริหารกิจการซึ่งน่าจะคาดหมายได้ว่ามูลค่าทรัพย์สินนี้จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงถือได้ว่าการได้รับหุ้นบริษัททั้งสองเป็นเรื่องของการค้าหากำไรและมิใช่การจัดตั้งบริษัทโดยไม่มีผลประโยชน์หรือกำไรที่จะแบ่งให้ผู้ถือหุ้นแต่ประการใด จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้หุ้นของบริษัทมาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรตามมาตรา 42 (9) แห่งประมวลรัษฎากร

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น เนื่องจากวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัทคือการหากำไรมาแบ่งปันกันในระหว่างผู้ถือหุ้น จากข้อเท็จจริง แม้ว่าโจทก์ทั้งสองจะได้หุ้นมาโดยไม่ต้องใช้ราคาใด ๆ อันจะถือว่าเป็นเงินลงทุนของโจทก์ทั้งสองก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะถือว่าโจทก์ทั้งสองได้หุ้นของบริษัทมาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงต้องนำเงินได้จากการขายหุ้นดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

นายนภัทร วงศ์ลิมปิยะรัตน์

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9785, 0-2680-9777

Email: napatw@dlo.co.th