การสัมภาษณ์ Mr. Ryan Crowley กรรมการบริหารและผู้จัดการฝ่ายบริการต่างประเทศ สำนักกฎหมายธรรมนิติ

1.  ท่านมีภูมิหลังด้านการศึกษาและอาชีพการงานเป็นอย่างไร

ตอบ: ข้าพเจ้ามีคุณวุฒิด้านการศึกษาดังต่อไปนี้

ปี 2545 – ปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University)

ปี 2547 – ปริญญานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University)

ปี 2550 – ได้รับการรับรองให้เป็นทนายความที่ปรึกษา ณ ออสเตรเลียนแคพิทอลเทร์ริทอรี (Australian Capital Territory)

ปี 2551 – ปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต (การประกอบวิชาชีพกฎหมาย) มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University)

ปี 2553 – ประกาศนียบัตรบัณฑิตศึกษาวิชากฎหมายและการปฏิบัติว่าด้วยการอพยพ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University)

ในเรื่องเกี่ยวกับประวัติด้านอาชีพการงานของข้าพเจ้า ก่อนจะเข้าทำงานที่สำนักกฎหมายธรรมนิติ (DLO) ข้าพเจ้าเคยทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายกฎหมายในบริษัทข้ามชาติซึ่งมีฐานที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพ และก่อนหน้านั้นข้าพเจ้าเคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐให้กับกระทรวงสภาผู้แทนราษฎรในรัฐสภาแห่งรัฐบาลกลางของออสเตรเลีย

 

2. ปัจจุบันท่านประกอบวิชาชีพกฎหมายในขอบเขตด้านใดบ้าง

ตอบ: ปัจจุบัน ข้าพเจ้าปฏิบัติงานในหลายขอบเขตการประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย ซึ่งรวมถึงกฎหมายว่าด้วยการจ้างงาน กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการลงทุนต่างประเทศ การเข้าเมือง (วีซ่าและใบอนุญาตทำงาน) และอสังหาริมทรัพย์

 

3. ท่านคิดว่าท่านมีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางใดบ้างที่สามารถเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าของท่านได้

ตอบ: ข้าพเจ้ามีทักษะและความเชี่ยวชาญดังต่อไปนี้ ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าสามารถเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าของข้าพเจ้าได้

  1. ข้าพเจ้ามีทักษะการใช้สองภาษา (ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) เนื่องจากข้าพเจ้าสามารถติดต่อสื่อสารกับลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้
  2. คุณวุฒิด้านการศึกษาที่ข้าพเจ้าได้มาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) ได้ทำให้ข้าพเจ้ามีทักษะด้านกฎหมายเชิงปฏิบัติที่มีประสิทธิผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริญญามหาบัณฑิตของข้าพเจ้า เนื่องจากมีประโยชน์เป็นการเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยสัญญา
  3. ประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าได้ทำงานทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐได้ทำให้ข้าพเจ้ามีความเข้าใจถึงวิธีการที่ทั้งสองภาคส่วนนั้นปฏิบัติงานกันโดยทั่วไปและความท้าทายที่ลูกค้าทั้งสองประเภทกำลังเผชิญอยู่
  4. ประสบการณ์ 10 ปีที่ข้าพเจ้าทำงานอยู่ที่ DLO นั้นได้ทำให้ข้าพเจ้ามีประสบการณ์และความรู้มากมายในเรื่องกฎหมายไทย ประสบการณ์ดังกล่าวยังได้ทำให้ข้าพเจ้ามีทักษะในทางปฏิบัติ ซึ่งช่วยให้ข้าพเจ้าให้บริการและให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าได้เป็นอย่างดียิ่งขึ้น

 

4. ท่านคิดว่าสิ่งใดสำคัญเมื่อท่านปฏิบัติงานให้กับลูกค้าของท่าน

ตอบ: เมื่อข้าพเจ้าให้บริการแก่ลูกค้า ข้าพเจ้าคิดว่าประเด็นดังต่อไปนี้สำคัญเพื่อให้แน่ว่าจะมีการให้บริการที่เหนือกว่า

การติดต่อสื่อสาร: การติดต่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิผล ทั้งในด้านการพูดและการเขียน เป็นสิ่งสำคัญในการให้บริการแก่ลูกค้า ในการทำงาน ข้าพเจ้าพยายามอย่างดีที่สุดในการอธิบายแนวคิดทางกฎหมายที่ซับซ้อนให้กับลูกค้าของข้าพเจ้าโดยวิธีการที่ลูกค้าสามารถเข้าใจได้

ทักษะด้านการวิเคราะห์: เพื่อสามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิผล ข้าพเจ้าคิดว่าทนายความต้องสามารถวิเคราะห์ปัญหาทางกฎหมายที่ซับซ้อนและพัฒนากลยุทธ์ที่มีประสิทธิผลและสามารถปฏิบัติได้โดยถือเอาความจำเป็นและข้อจำกัดของลูกค้าเป็นเกณฑ์

ความรู้ด้านกฎหมาย: ข้าพเจ้าเชื่อว่าทนายความ/ที่ปรึกษากฎหมายควรจะมีความรู้กฎหมายอย่างละเอียดถี่ถ้วนและรู้ว่ากฎหมายนั้นจะนำไปใช้กับสถานการณ์ของลูกค้าตนอย่างไร ซึ่งข้อนี้รวมถึงการรู้กฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องตลอดจนหลักกฎหมายที่ถือเอาคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐาน (case law) ด้วย

การบริหารเวลา: นักกฎหมายต้องสามารถบริหารเวลาของตนได้อย่างมีประสิทธิผลเพื่อจะได้ส่งมอบงานที่ตกลงไว้ให้แก่ลูกค้าของตนตามกำหนดเส้นตายที่ได้ตกลงกันไว้ หากนักกฎหมายไม่มีการบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิผลก็สามารถก่อให้เกิดผลเชิงลบได้หลายประการ เช่น การขาดความเชื่อถือที่มีอยู่กับลูกค้าหรือคดี/งานที่มอบหมายไม่ก่อให้เกิดผลสำเร็จ

การให้บริการลูกค้า: ข้าพเจ้าเห็นว่านักกฎหมายควรจะให้บริการที่มีคุณภาพสูงและเหมาะแก่เวลาแก่ลูกค้า รวมทั้งตอบรับการติดต่อสื่อสารจากลูกค้าโดยพลัน คอยปรับปรุง (อัปเดต) ข้อมูลคดี/งานที่ได้รับมอบหมายอย่างสม่ำเสมอ และยินดีรับฟังข้อกังวลและความต้องการของลูกค้าเพื่อสามารถเข้าจัดการเรื่องดังกล่าวนั้นได้

การใส่ใจในรายละเอียด: ข้าพเจ้าเห็นว่านักกฎหมายจำเป็นต้องเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดต่อรายละเอียดของคดีความของลูกค้าตนเพื้อสามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ

จริยธรรม: การประพฤติตนโดยประการที่มีจริยธรรมเป็นหลักมูลฐานขั้นสุดประการหนึ่งซึ่งนักกฎหมายควรจะปฏิบัติตาม นักกฎหมายต้องกระทำการเพื่อประโยชน์อันดีที่สุดแก่ลูกค้าของตนอยู่เสมอ ในขณะเดียวกันยังต้องถือปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นสูงทางจริยธรรมด้วย

 

5. ความสัมฤทธิ์ผลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาชีพการงานด้านกฎหมายของท่านคืออะไร

ตอบ: ไม่มีความสัมฤทธิ์ผลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประการเดียว อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าคิดว่าความสัมฤทธิ์ผลที่มีนัยสำคัญที่สุดในอาชีพการงานของข้าพเจ้านั้นคือข้อเท็จจริงว่า ข้าพเจ้าได้สร้างฐานลูกค้าที่ใหญ่โตจากการให้บริการด้านกฎหมายที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพโดยมีลูกค้าจำนวนมากที่ได้รับการแนะนำมาให้ข้าพเจ้าจากลูกค้าเดิมซึ่งพอใจกับการให้บริการของข้าพเจ้า (รวมทั้งของทีมงานข้าพเจ้าด้วย) ข้าพเจ้าใคร่ขอเรียนให้ทราบด้วยว่า ความสำเร็จของข้าพเจ้าโดยส่วนใหญ่มีเหตุมาจากการสนับสนุนอย่างแข็งขันและความอุตสาหะของเพื่อนร่วมงานข้าพเจ้าที่ DLO ซึ่งได้ปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับข้าพเจ้าตลอดเวลาสิบปีที่ผ่านมา 

 

6. ท่านสนใจปัญหา/ขอบเขตวิชากฎหมายด้านใดบ้าง และเพราะเหตุใด

ตอบ: ข้าพเจ้าสนใจปัญหา/ขอบเขตวิชากฎหมายอยู่หลายด้าน เช่น

  1. กฎหมายไทยตามที่เกี่ยวข้องกับความเป็นพลเมือง
  2. กฎหมายว่าด้วยการจ้างงานเป็นการประกอบวิชาชีพกฎหมายในขอบเขตที่ข้าพเจ้าโปรดปราน เนื่องจากข้าพเจ้าพบว่าเป็นประโยชน์มากมายกับการทำงานประจำวันของข้าพเจ้าที่ DLO
  3. ข้าพเจ้ายังสนใจกฎหมายว่าด้วยการสืบมรดก (พินัยกรรมและทรัพย์มรดก) อีกด้วย

 

7. ท่านคิดว่าทักษะและคุณลักษณะใดบ้างที่ทำให้เป็นนักกฎหมายที่ดีและมีประสิทธิผล

ตอบ: ข้าพเจ้าคิดว่าทักษะที่มีรายละเอียดให้ไว้ตามที่ข้าพเจ้าได้ให้คำตอบไว้ในคำถามข้อ 4 คือสิ่งที่ทำให้คนเราเป็นนักกฎหมายที่ดีและมีประสิทธิผล อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าใคร่ขอตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า การจะเป็นนักกฎหมายที่ดีนั้น โดยอุดมคติแล้วก็ควรจะมีคุณลักษณะอื่น ๆ อีกหลายประการ เช่น

     ก. ความเข้าอกเข้าใจลูกค้าของตน

     ข. ความสามารถในการรับฟังความต้องการของลูกค้าได้อย่างรอบคอบ และ

     ค. ความสามารถในการให้คำตอบที่ตรงไปตรงมาและไม่อ้อมค้อมแก่ลูกค้าของตนเพื่อลูกค้าจะได้มีความเข้าใจในความเป็นจริงและโดยถ่องแท้ต่อสิทธิและสถานะของตนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

 

8. ท่านมีความเห็นอย่างไรบ้างเกี่ยวกับทิศทางของสำนักงานในสังคมกฎหมายของโลกยุคใหม่

ตอบ: ข้าพเจ้าเห็น DLO กำลังมุ่งก้าวต่อไปในสังคมกฎหมายของโลกยุคใหม่ สำนักงานกำลังสร้างความสัมพันธ์ทางกลยุทธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับสำนักงานกฎหมายต่างประเทศหลายแห่ง (เช่น เมซาล มาร์ฮูน อาลาลิ แอนด์ แอสโซซิเอตส์ (Mezal Marhoon Alaali & Associates) และ ดร. ยูโซฟ อัลฮูโมดิ ลอว์-เยอร์ส แอนด์ คอนซัลแตนท์ส (Dr. Yousef Alhumoudi Lawyers & Consultants)

 

9. ท่านเห็นว่าสำนักกฎหมายธรรมนิติ (DLO) ควรจะทำอะไรบ้างเพื่อปรับปรุงขีดความสามารถของนักกฎหมายให้ปฏิบัติงานสนองความประสงค์ของลูกค้าบริษัทได้ดีขึ้น

ตอบ: ในการปรับปรุงความสามารถของนักกฎหมายเพื่อสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้นนั้น ข้าพเจ้าคิดว่า DLO ควรจะดำเนินการฝึกฝนนักกฎหมายของตนต่อไป ไม่เพียงในเรื่องความรู้ทางกฎหมาย (การอัปเดตกฎหมาย) เท่านั้น แต่รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับทักษะในทางปฏิบัติและยุทธวิธีทางกฎหมายอีกด้วย เพื่อเราจะได้สามารถให้บริการลูกค้าของเราได้ดีขึ้นและมีประสิทธิผลยิ่งขึ้นต่อไป