• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมีนาคมและเมษายน 2564

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมีนาคมและเมษายน 2564

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 117 เดือนมีนาคมและเมษายน 2564

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service)
2. ยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนและการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
3. ยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

ข่าวภาษี
-ไม่มี-

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2567/2560
ระหว่าง          บริษัท ม. จำกัด   โจทก์
               กรมสรรพากร    จำเลย
เรื่อง การให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service)

     พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแก่ผู้ใช้บริการซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าบริการนั้นโดยคำนวณจากภาษีขายโดยไม่ให้หักภาษีซื้อ หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม ให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แลพตฟอร์มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการดังกล่าว
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3f0wvKS

2. ยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนและการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 401) ได้ยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมาย โดยผู้มีเงินได้ต้องมีหนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่แสดงได้ว่ามีการจ่ายเงินเข้ากองทุน
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/317JZho

3. ยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 402) ได้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/393yEDk

ข่าวภาษี
-ไม่มี-

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2567/2560
ระหว่าง          บริษัท ม. จำกัด   โจทก์
               กรมสรรพากร    จำเลย

ประเด็นข้อพิพาท : ดอกเบี้ยที่ผู้ได้รับคืนเงินอากรให้เริ่มคิดตั้งแต่วันใด และหากมีการคืนเงินล่าช้า ผู้ได้รับเงินคืนมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยผิดนัดหรือไม่

ข้อเท็จจริง : โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อจำเลย แต่จำเลยมีคำสั่งไม่คืนเงินภาษีตามคำร้องแก่โจทก์ โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งไม่คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มของจำเลย จากนั้นจำเลยจึงได้มีหนังสือเรียกให้โจทก์เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงและส่งเอกสารเพิ่มเติมหลายครั้งจนเป็นที่พอใจแก่จำเลย และจำเลยมีคำสั่งยกเลิกหนังสือแจ้งไม่คืนภาษีอากรและมีหนังสือแจ้งคืนเงินอาภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์เท่านั้น โดยจำเลยแจ้งคืนเงินภาษีแก่โจทก์เกินกว่ากำหนดเวลา 3 เดือนนับแต่วันที่โจทก์ยื่นคำร้อง โจทก์จึงมีสิทธิดีรับดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดระยะเวลา 3 เดือนนับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร จนถึงวันที่ลงในคำสั่งคืนเงินภาษีอากร ตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร แต่จำเลยไม่ได้ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์แต่อย่างใด แม้โจทก์จะทำหนังสือขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ก็ตาม แต่จำเลยก็ยังคงเพิกเฉย

     จำเลยอ้างว่า ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ข้อ 2 กำหนดว่า ถ้าผู้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรไม่นำส่งเอกสารให้แก่เจ้าพนักงานภายในเวลาที่กำหนด ให้ระงับการคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันสุดท้ายของเวลาที่เจ้าพนักงานสั่งให้ส่งเอกสาร เมื่อปรากฏว่า โจทก์นำส่งเอกสารเกินกว่ากำหนดระยะเวลาที่เจ้าพนักงานกำหนดในหนังสือ กรณีจึงต้องเริ่มคำนวณดอกเบี้ยตั้งแต่พ้นกำหนดระยะเวลา 3 เดือนนับแต่โจทก์ส่งเอกสารครบจนถึงวันที่ลงนามในคำสั่งคืนเงินภาษีอากร ซึ่งหากนับจากวันที่โจทก์ส่งเอกสารจนถึงวันที่ลงในคำสั่งคืนเงินภาษีอากร ยังไม่พ้นกำหนดเวลา 3 เดือน โจทก์ก็จะไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในช่วงเวลานั้นแต่อย่างใด โจทก์คงได้รับดอกเบี้ยเฉพาะที่คำนวณตั้งแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนด 3 เดือนนับแต่ยื่นคำร้อง จนถึงวันที่ลงนามในหนังสือแจ้งคืนภาษีอากรเท่านั้น และจำเลยได้ให้ดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์หลังจากที่โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลแล้ว

คำพิพากษา : ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีคืนเงินภาษีอากรที่ต้องชำระตามแบบแสดงรายการให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันครบกำหนดระยะเวลา 3 เดือนนับแต่วันที่ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร จนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน มิใช่คำนวณตั้งแต่พ้นกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่ส่งเอกสารครบนั้น ตามที่จำเลยอ้าง เนื่องจากการเรียกเอกสารให้ตรวจสอบของเจ้าพนักงานนั้น มีเพียงให้ระงับการคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันสุดท้ายของเวลาที่เจ้าพนักงานสั่ง ซึ่งเมื่อนับแต่วันที่โจทก์ยื่นคำร้องจนถึงวันที่ลงนามในคำสั่งคืนเงินเป็นระยะเวลาที่พ้นกำหนด 3 เดือน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ย และถ้าหากคำสั่งเรียกให้ส่งเอกสารของจำเลย มีกำหนดระยะเวลาน้อยกว่า 15 วัน คำสั่งดังกล่าวก็จะถือว่าไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง จึงมีผลทำให้การคิดดอกเบี้ยนั้นไม่ระงับ แม้ผู้ขอคืนภาษีจะนำส่งเอกสารเกินกำหนดเวลาดังกล่าวก็ตาม

     นอกจากนี้ เนื่องจากจำเลยโอนเงินค่าภาษีและดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืน ล่าช้ากว่าวันที่ลงในหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากร จะถือว่าเป็นการทำให้โจทก์เสียหายและเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับการเยียวยาความเสียหายในส่วนนี้ด้วย จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดอกเบี้ยภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยังค้างจ่ายแก่โจทก์ นับแต่วันถัดจากวันลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนภาษีจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นว่า เนื่องจากตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดว่า “ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายสั่งให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง” และกฎกระทรวงฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ข้อ 1 (2) กำหนดให้ “กรณีคืนเงินภาษีอากรที่ชำระตามแบบแสดงรายการ ไม่ว่าจะชำระพร้อมกับการยื่นหรือไม่ ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร” เป็นการกำหนดไว้อย่างชัดเจนให้การคำนวณเริ่มคำนวณตั้งแต่พ้นกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร ด้วยประสงค์ให้เจ้าพนักงานกรมสรรพากรไม่ประวิงเวลาในการตรวจสอบและดำเนินการคืนเงินภาษีอากรให้กับผู้ขอคืน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายที่อาจกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนของการประกอบกิจการแก่ผู้ขอคืนภาษี

     ผู้เขียนจึงเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ว่า เจ้าพนักงานสรรพากรไม่สามารถนำวรรคสามของกฎกระทรวงฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ข้อ 1 (2) ที่ให้ระงับการคิดดอกเบี้ยกรณีผู้ขอคืนภาษีไม่ส่งเอกสารในกำหนดเวลาที่เจ้าพนักงานกำหนดมาตีความในทางที่เป็นประโยชน์ต่อกรมสรรพากร เพราะจะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการประวิงเวลาในการดำเนินการตามคำร้องขอคืนได้ และยิ่งเห็นด้วยกับการกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดให้แก่โจทก์ เพราะเป็นการป้องกันมิให้กรมสรรพากรออกหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีแต่ไม่ยอมโอนเงินคืนให้กับผู้ขอคืนเพราะเหตุต้องการหลีกเลี่ยงการเสียดอกเบี้ยตามประมวลรัษฎากรอีกส่วนหนึ่ง

     แต่อย่างไรก็ตาม จากการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 ที่ได้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยผิดนัดจากเดิมคือ ร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราที่กำหนดในมาตรา 7 แห่งประมวลรัษฎากร บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี (ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 5) ทำให้กระทบต่ออัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่ผู้ขอคืนภาษีอากรมีสิทธิได้รับ หากกรมสรรพากรคืนเงินภาษีอากรล่าช้ากว่าวันที่ลงในหนังสือแจ้งคืนเงินภาษี

นางสาวอชิรญาณ์ สุทธิสุนทรินทร์

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725
Email: achirayas@dlo.co.th