จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนธันวาคม 2561

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 96 ธันวาคม 2561

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. กำหนดให้หักค่าลดหย่อนบุตรคนที่สองเพิ่มได้อีกคนละ 30,000 บาท
2. มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Transfer Pricing)
3. ยกเว้นภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของทางราชการ
4. แก้ไขเพิ่มเติมการยกเว้นเงินได้ประเภทดอกเบี้ยเงินฝากและผลตอบแทน
5. ยกเว้นภาษีเงินได้ 1.15 เท่า ของรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้าง
6. เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) สำหรับรายได้ค่าสิทธิ
7. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินจากการโอนทรัพย์สินชำระค่าหุ้น
8. เพิ่มสิทธิหักค่าลดหย่อน / ค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า จากการบริจาคเพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ในปี 2562

ข่าวภาษี
1. การกำหนดหลักเกณฑ์ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ตามพระราชบัญญัติภาษี ได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่          1105/2561
ระหว่าง                               บริษัท พ. จำกัด          โจทก์
กรมสรรพากร             จำเลย
เรื่อง                                  รายจ่ายต้องห้ามสำหรับกิจการให้เช่าอพาร์ตเม้นท์

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. กำหนดให้หักค่าลดหย่อนบุตรคนที่สองเพิ่มได้อีกคนละ 30,000 บาท
พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 46) พ.ศ. 2561 กำหนดให้หักค่าลดหย่อนสำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่คนที่สองเป็นต้นไปที่เกิดในหลังปี พ.ศ. 2561 เพิ่มได้อีกคนละ 30,000 บาท โดยให้นับลำดับบุตรทุกคนไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่

ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2561 ที่จะต้องยื่นรายการในปี 2562 เป็นต้นไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2Q0NnaQ

2. มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Transfer Pricing)
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 47) พ.ศ. 2561 กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่มีความสัมพันธ์กัน โดยมีรายได้ไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาทขึ้นไป ต้องจัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกันและมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตามแบบที่อธิบดีกำหนด และยื่นต่อเจ้าพนักงานประเมินพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ประจำปี
นอกจากนี้ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ประเมินสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ถึง 5 ปี และเรียกเอกสารเพิ่มเติมได้โดยต้องนำส่งเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดเวลาดังนี้
1) กรณีถูกเรียกเอกสารครั้งแรกต้องนำส่งภายใน 180 วันนับแต่วันได้รับแจ้ง
2) กรณีถูกเรียกเอกสารนอกจาก 1) ต้องนำส่งภายใน 60 วันนับแต่วันได้รับแจ้ง หากจัดทำเอกสารไม่ทันและมีเหตุอันสมควรต้องขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรขอขยายระยะเวลาในการนำส่งเอกสารทั้งนี้ขยายเวลาได้ไม่เกิน 120 วัน
ฝ่าฝืนไม่ยื่นเอกสารหรือหลักฐานมีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท

          ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2P5LS61

3. ยกเว้นภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของทางราชการ
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 663) พ.ศ. 2561 กำหนดยกเว้นภาษีให้แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลดังนี้
1. กรณีบุคคลธรรมดา หักเป็นค่าลดหย่อนได้ 2 เท่า ของเงินบริจาคเมื่อรวมกับเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อน
2. กรณีนิติบุคคลหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาคไม่ว่าจะบริจาคเป็นเงินหรือทรัพย์สิน เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาและรายจ่ายเพื่อการสร้างสนามเด็กเล่นหรือสวนสาธารณะโดยไม่เก็บค่าบริการ ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการบริจาคดังกล่าวข้างต้น
นอกจากนี้ ยังยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมและนิติบุคคลสำหรับการโอน การขาย หรือการกระทำตราสารที่เกี่ยวกับการบริจาคให้แก่สถานพยาบาล โดยต้องไม่นําต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคํานวณภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล

          ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2Q3upQQ

4. แก้ไขเพิ่มเติมการยกเว้นเงินได้ประเภทดอกเบี้ยเงินฝากและผลตอบแทน
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 664) พ.ศ. 2561 ยกเลิกพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 301) พ.ศ.2539 ซึ่งเดิมกำหนดยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับดอกเบี้ยเงินฝาก 2 กรณี คือ
1. ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินกับธนาคารในประเทศ
2. ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 664) ได้กำหนดเพิ่มให้เงินได้จาก
3. ผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามตามหลักการมุฎอเราะบะฮ์กับธนาคารในประเทศไทยตั้งแต่ปีภาษี 2546 เป็นต้นไปได้รับยกเว้นภาษีเช่นกัน
ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขดังนี้
1. ต้องเป็นดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนเงินฝากที่เกิดจากการฝากเงินเป็นรายเดือนติดต่อกันมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 24 เดือนนับแต่วันที่เริ่มฝาก
2. มียอดเงินฝากแต่ละคราวเท่ากันแต่ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน และรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 6 แสนบาท

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2TVcGtm

5. ยกเว้นภาษีเงินได้ 1.15 เท่า ของรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้าง
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 665) พ.ศ. 2561 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ 1.15 เท่าของรายจ่ายค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างระหว่างวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ในอัตราค่าจ้างรายวันที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่ไม่เกินวันละ 400 บาท โดยยกเว้นภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้ดังนี้
1. บุคคลธรรมดามีเงินได้ตามมาตรา 40 (5) (6) (7) (8) ซึ่งเป็นเงินได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่ต้องเสียภาษีรวมไม่เกิน 100 ล้านบาท
2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการรวมกันไม่เกิน 100 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผู้มีเงินได้ตาม 1.-2. ต้องมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2P5LWmh

6. เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) สำหรับรายได้ค่าสิทธิ
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 666) พ.ศ. 2561 แก้ไขเพิ่มเติม พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 586) พ.ศ. 2558 โดยกำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิให้แก่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ สำหรับรายได้ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย โดยเพิ่มเติมเงื่อนไขให้ลดภาษีเฉพาะค่าสิทธิที่เกิดจากผลการวิจัยและพัฒนาที่กระทำขึ้นในประเทศไทย โดยสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศได้วิจัยและพัฒนาเอง หรือจ้างผู้อื่นวิจัยและพัฒนา
ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) สำหรับรายได้เงินปันผลที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นกฎหมายต่างประเทศ เฉพาะค่าสิทธิภายใต้เงื่อนไขที่กล่าวมาข้างต้น
ทั้งนี้ สำหรับค่าสิทธิที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป และตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

          ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2E2vq5j

7. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินจากการโอนทรัพย์สินชำระค่าหุ้น
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 667) พ.ศ. 2561 กำหนดให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคลสำหรับการโอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้า โดยการตีมูลค่าทรัพย์สินนั้นโอนชำระเป็นค่าหุ้นสามัญและจดทะเบียนบริษัทในระหว่าง 1 ม.ค. 2561 – 31 ธ.ค. 2561
ผู้โอนทรัพย์สินชำระค่าหุ้นนั้นจะได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการโอนทรัพย์สินเข้าเป็นทุนจดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นใหม่
นอกจากนี้หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่นั้นมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการไม่เกิน 30 ล้านบาท ยังจะได้รับสิทธิหักรายจ่ายค่าทำบัญชีและค่าสอบบัญชี 2 เท่าเป็นจำนวน 5 รอบระยะเวลาบัญชีอีกด้วย

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2AldH4N

8. เพิ่มสิทธิหักค่าลดหย่อน / ค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า จากการบริจาคเพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ในปี 2562
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 668) พ.ศ. 2561 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับการบริจาคเงินให้แก่กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กองทุนสนับสนุนการวิจัย กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา หรือกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ดังนี้

          1. กรณีบุคคลธรรมดา หักเป็นค่าลดหย่อนได้ 2 เท่า ของเงินบริจาคเมื่อรวมกับเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อน
2. กรณีนิติบุคคลหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาคไม่ว่าจะบริจาคเป็นเงินหรือทรัพย์สิน เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาและรายจ่ายเพื่อการสร้างสนามเด็กเล่นหรือสวนสาธารณะโดยไม่เก็บค่าบริการ ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการบริจาคดังกล่าวข้างต้น

ทั้งนี้ กรณีการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป ให้ยกเว้นเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเท่าจำนวนเงินที่บริจาค ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2zvZemQ

ข่าวภาษี
1. ครม. เห็นชอบหลักเกณฑ์ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ตามพระราชบัญญัติภาษี ได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 และร่างกฎกระทรวง ฯ รวม 3 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญ คือ
1.1 กำหนดเกี่ยวกับการคำนวณรายจ่ายเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมที่จัดสรรจากสำนักงานใหญ่และรายจ่ายเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมที่เรียกเก็บโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน
1.2 กำหนดเกี่ยวกับกรณีที่มีการโอนกิจการปิโตรเลียม โดยกำหนดให้บริษัทผู้รับโอนถือเอาผลขาดทุนประจำปีคงเหลือของบริษัทผู้โอนเพื่อประโยชน์ในการหักลดหย่อนภาษี นับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่มีการโอนเป็นต้นไปได้ เสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการโอนกิจการปิโตรเลียมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกรระทรวง
1.3 กำหนดเกี่ยวกับกรณีที่บริษัทเป็นผู้ได้รับสัมปทานหรือผู้ได้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต สำหรับแปลงสำรวจหลายแปลง โดยแปลงสำรวจบางแปลงอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ก่อนหรือหลังมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2541 โดยกำหนดให้บริษัทดังกล่าวคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิ สำหรับแปลงสำรวจที่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัตินั้น ๆ และแปลงสำรวจที่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 เสมือนว่าเป็นบริษัทแยกต่างหากจากกัน ถ้ารายได้และรายจ่ายรายการใดไม่สามารถแยกกันได้อย่างชัดแจ้ง ให้เฉลี่ยรายได้และรายจ่ายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง

          ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
          ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2SfaTgU
คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่    1105/2561
ระหว่าง                         บริษัท พ. จำกัด     โจทก์
กรมสรรพากร       จำเลย
เรื่อง                             รายจ่ายต้องห้ามสำหรับกิจการให้เช่าอพาร์ตเม้นท์

ข้อเท็จจริง : โจทก์ประกอบกิจการให้เช่าอพาร์ตเม้นท์ รวมทั้งให้เช่าเฟอร์นิเจอร์ และให้บริการห้องพัก ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ และเคเบิ้ลทีวี เจ้าพนักงานประเมินแล้วเห็นว่า โจทก์รับรู้รายได้ต่ำไป และมีรายจ่ายต้องห้าม ซึ่งทำให้ยอดผลขาดทุนสุทธิที่โจทก์แสดงไว้ต่ำลง พนักงานประเมินจึงมีหนังสือแจ้งเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิมายังโจทก์ โดยแจ้งผลการตรวจสอบและแจ้งประเด็นความผิด การคำนวณตัวเลขที่ต้องปรับปรุง รวมถึงวิธีการคำนวณภาษีให้แก่โจทก์ทราบ

ประเด็นที่ต้องพิจารณา : ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคารถยนต์ ค่าอุปกรณ์เกี่ยวกับรถยนต์ ค่าโฆษณาเกี่ยวกับรถยนต์ ค่ากระเช้าของขวัญ และค่าตกแต่งรถยนต์ เป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกา : โจทก์มีรายจ่ายเกี่ยวกับค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคารถยนต์ ค่าอุปกรณ์เกี่ยวกับรถยนต์ ค่าโฆษณาเกี่ยวกับรถยนต์ ค่ากระเช้าของขวัญ และค่าตกแต่งรถยนต์ รายจ่ายดังกล่าว ต้องมีความจำเป็นแก่กิจการ และเหมาะสมแก่สภาพของกิจการด้วย โจทก์มีกรรมการเพียง 3 คน และรายได้หลักเกิดจากการให้เช่าห้องพัก การมีรถยนต์ถึง 7 คัน ย่อมมีค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ค่าภาษีรถยนต์ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่เหมาะสมกับกิจการอันถือได้ว่ามิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไร หรือเพื่อกิจการโดยตรง ส่วนรายจ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์รถยนต์ ค่ากระเช้าของขวัญ และค่าตกแต่งรถยนต์ โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการโดยเฉพาะ หรือหากำไรโดยเฉพาะของโจทก์อย่างไรบ้าง ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคารถยนต์ ค่าอุปกรณ์เกี่ยวกับรถยนต์ ค่าโฆษณาเกี่ยวกับรถยนต์ ค่ากระเช้าของขวัญ และค่าตกแต่งรถยนต์ จึงเป็นรายจ่ายต้องห้าม

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกา เนื่องจาก บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะต้องเสียภาษีจากกำไรสุทธิ ซึ่งคำนวณจากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใดหักด้วยรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับรายได้และเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะยังไม่ได้รับหรือยังไม่ได้จ่ายรายได้และรายจ่ายดังกล่าวก็ตาม ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีโจทก์ประกอบกิจการให้เช่าทรัพย์สิน รายได้หลักที่โจทก์ได้รับมาจากการให้เช่าทรัพย์สิน เมื่อโจทก์หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเกี่ยวกับรถยนต์ อุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ โดยที่กิจการดังกล่าวไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้รถยนต์และมิได้มีรายได้หลักที่เกี่ยวกับการใช้รถยนต์เป็นจำนวนมากอย่างไม่เหมาะสมกับภาระหน้าที่ของกรรมการในการบริหารงาน รายจ่ายดังกล่าวจึงเป็นรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับรายได้ กรณีจึงถือว่าเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่เพื่อการหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะอันเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินจึงนำรายจ่ายดังกล่าวบวกกลับเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ทำให้โจทก์มีผลขาดทุนสุทธิต่ำลง

          นอกจากนี้ แม้การปรับปรุงผลขาดทุนสุทธิจะทำให้โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเช่นเดิมก็ตาม แต่การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้นั้นมาไต่สวน และเรียกพยานหรือสั่งให้ผู้นั้นนำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอันควรแก่เรื่องมาแสดง และมีอำนาจที่จะแก้ไขจำนวนเงินที่ประเมินหรือที่ยื่นรายการไว้เดิมโดยอาศัยพยานหลักฐานที่ปรากฏได้ ตามมาตรา 19 และ 20 แห่งประมวลรัษฎากร ทำให้ผลขาดทุนสุทธิที่สามารถนำไปใช้หักออกจากกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีถัดไปต่ำลงด้วยเช่นกัน

นายวรินทร สะรุโณ

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
โทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760