• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • หวั่นสรรหา กสทช .อืดเกิน180วัน แถมถ้ายุบสภากระบวนการมีสิทธิชะงักอีก

หวั่นสรรหา กสทช .อืดเกิน180วัน แถมถ้ายุบสภากระบวนการมีสิทธิชะงักอีก

นักกฎหมายหวั่นสรรหา กสทช. อืด ชี้ให้สำนักเลขาฯ วุฒิสภาเป็นหัวเรือใหญ่ อาจไม่เสร็จใน 180 วัน แถมถ้ายุบสภามีสิทธิชะงัก ลั่นกฎหมายไม่ห้ามทำเอ็มวีเอ็นโอ แต่ กทช.ชี้เอกชนก็ยังไม่มั่นใจ ด้าน 3 จีทีโอทีมี 10 เอกชนลงสังเวียนประมูลติดตั้งโครงข่าย นัดอี-ออคชั่น 28 ม.ค.

นายดิสทัต โหตระกิตย์ กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในการรองรับภารกิจตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบ กิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) ว่า สาระสำคัญและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ที่ถือเป็นข้อแตกต่างจาก พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับปี 2543 เดิม ประกอบด้วยการร่าง พ.ร.บ.กสทช. อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่กำหนดให้วิธีการจัดสรรคลื่นความถี่เปลี่ยนไป เข้าสู่การประมูลเท่านั้น และกระบวนการสรรหากรรมการขององค์กรที่กำหนดให้สำนักเลขาธิการวุฒิสภา เป็นผู้สรรหากรรมการ กสทช. จำนวน 11 คนนั้น ส่วนตัวเห็นว่าหน่วยงานดังกล่าวไม่มีประสบการณ์และขาดความเชี่ยวชาญ ซึ่งหากล่าช้า กระบวนการพิจารณาอาจอยู่ในชั้นวุฒิสภานานจนเกินกำหนดภายใน 180 วัน

"หากไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกฎหมายกำหนด เนื่องจากมีปัจจัยเรื่องขององค์กรนิติบัญญัติที่ต้องทำให้สอดคล้องกันด้วย คือ ถ้าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ต้องสิ้นสภาพลง กระบวนการก็จำเป็นต้องหยุดชะงักทันที"

นายดิสทัตกล่าวว่า สำหรับมาตรา 46 ที่กำหนดให้สิทธิการใช้คลื่นความถี่ เป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่สามารถโอนให้ผู้อื่นบริหารจัดการแทนได้ ดังนั้นรูปแบบการดำเนินธุรกิจเช่าใช้โครงข่ายและขายต่อบริการ (เอ็มวีเอ็นโอ) อาจจะขัดต่อ พ.ร.บ.กสทช.หรือไม่นั้น ในชั้นกรรมาธิการ ไม่มีใครบอกว่าการบริการดังกล่าวจะดำเนินการไม่ได้ เนื่องจากไม่ใช่การมอบสิทธิบริหารให้กับคนอื่น แต่เป็นหนึ่งในรูปแบบขายส่งขายต่อ

นายประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขาธิการ กทช.ปฏิบัติหน้าที่แทนรองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า หากพิจารณาตามพ.ร.บ.กสทช. การดำเนินการของเอกชนที่ได้รับใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) เอ็มวีเอ็นโอ ประเภทที่ 1 คือการจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของตัวเองและมีระบบบิลลิ่ง จำนวน 17 ราย จึงมีความกังวลว่าอาจจะเข้าข่ายการได้สิทธิบริหารคลื่นความถี่ด้วย ซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.กสทช.

รายงานข่าวจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า โครงการติดตั้งโครงข่าย 3 จี ทีโอที ทั่วประเทศ มูลค่า 17,440 ล้านบาท จากมูลค่าโครงการทั้งหมด 19,980 ล้านบาท ขณะนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมซื้อซอง 10 ราย คือ 1.บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท แซดทีอี (ประเทศไทย) จำกัด 3.บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท อิริคสัน ประเทศไทย จำกัด 5.บริษัท แอดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอที 6.บริษัท อัลคาเทล-ลูเซ่น (ประเทศไทย) จำกัด 7.บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด 8.บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 9.บริษัทยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือยูคอม 10.บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชันแนล จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ ผู้ที่ร่วมประมูลโครงการ 3 จีทีโอที ต้องซื้อซองประกวดราคา 5 แสนบาท และต้องค้ำประกันซองอัตรา 3% ของมูลค่าโครงการ หรือประมาณ 572 ล้านบาท โดยทีโอทีได้กำหนดให้ยื่นซองพร้อมกันทุกรายในวันที่ 10 มกราคม 2554 ซึ่งจะมีการเคาะราคาการประมูลด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออคชั่น) ในวันที่ 28 มกราคม 2554 คาดว่าจะสามารถทำสัญญาวันที่ 15-18 กุมภาพันธ์ 2554

ที่มา หนังสือพิมพ์มติชน