• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • “คลัง-ไอซีที” เสนอแผน 100 วัน แก้ปมสัมปทาน เลิกสัญญาเป็น”ไลเซ่น”15 จ่าย 12.5% ค่ายมือถือยิ้ม

“คลัง-ไอซีที” เสนอแผน 100 วัน แก้ปมสัมปทาน เลิกสัญญาเป็น”ไลเซ่น”15 จ่าย 12.5% ค่ายมือถือยิ้ม

"คลัง" ชง ครม.เศรษฐกิจวันจันทร์นี้ (19 ก.ค.) เสนอแผน "ยกเลิกสัมปทานมือถือ" เข้าสู่ระบบใบอนุญาต ระบุไม่ได้แทรกแซงหรือกดดันแผนประมูลไลเซ่น 3G ในเดือนกันยายนนี้ แต่ทำให้ทุกคนเข้าสู่ระบบเดียวกัน

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยวันนี้ (18 ก.ค. 2553) ว่าในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.2553) ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ มีเรื่องเดียวที่ต้องพิจารณา คือแผนพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ ซึ่งเสนอโดยกระทรวงการคลัง และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที)
 
เพื่อทำให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมที่เสรีและเป็นธรรม และเอื้อให้เกิดการประมูล และการลงทุน 3G โดยไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์
และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้นต้องมีการยกเลิกสัญญาบริการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ ภายใต้สัมปทานของบมจ.ทีโอที และบมจ.กสท โทรคมนาคมแล้วแทนที่ด้วยใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และดำเนินการให้มีการเช่าสินทรัพย์คือโครงข่ายจากทีโอที และกสทฯ

ตามสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากจะมีการแข่งขันไม่เป็นธรรมแล้ว ยังมีอุปสรรคต่าง ๆ ทำให้การเปิดประมูลรวมทั้งการลงทุนใน 3G ไม่เกิดขึ้น แต่แผนของโครงการนี้ จะทำให้เกิดการแข่งขันเสรีเป็นธรรมเพื้อให้เกิดการประมูลและลงทุน ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย

 "ตุ๊กตาที่เราคิดขึ้นมา คือ ยกเลิกสัมปทานแทนด้วยไลเซ่นอายุ 15 ปี ส่วนแบ่งรายได้เดิมจ่าย 20-25% เหลือ 12.5% จะเรียกเป็นค่าธรรมเนียมความถี่ก็ได้ ยังมีค่าแลกเข้า 2G ไลเซ่นด้วย แต่จะเป็นเท่าไรอาจคำนวณได้จากอายุสัมปทานที่แต่ละเจ้าเหลือ ฐานลูกค้า หรือขนาดความถี่ ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ต้องไปเจรจากับเอกชน แต่โดยรวมแล้วรัฐไม่ได้น้อยลง"
 

นายกรณ์ กล่าวว่า ทำแบบนี้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้ เพราะทุกวันนี้ระบบโทรศัพท์มือถือ 2G ที่อยู่กับสัมปทานไม่มีใครสร้างโครงข่ายต่อ เพราะสัญญาที่แต่ละรายถืออยู่กำลังจะหมดอายุ  (เอไอเอส เหลือ 5 ปี ทรูมูฟ 3 ปี ดีแทค 8 ปี) ขณะที่เงื่อนไขไลเซ่น 3G ของกทช.อย่างเรื่องการแชร์ใช้โครงข่าย ซึ่งไม่มีความชัดเจน เพราะเอกชนกังวลว่าจะปัญหากับคู่สัญญาสัมปทาน ถ้าไม่มีระบบสัมปทานปัญหาทุกอย่างก็คลี่คลาย

โดยแผนดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อให้ครม.เศรษฐกิจอนุมัติในหลักการให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อจัดทำแผนลงรายละเอียดนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 100 วัน โดยแผนดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสมอภาคเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน ดังนั้น จึงไม่สามารถแยกส่วนระหว่างบริการ 2G และ3G ออกจากกันได้

"เรื่องการออกไลเซ่นเป็นหน้าที่ของกทช. เราเพียงแต่เสนอแนวคิดที่คิดว่าน่าจะดีกับทุกฝ่าย เป็นหน้าที่เราในฐานะรัฐบาลที่ต้องมีนโยบายด้านโทรคมนาคม ขณะที่ผู้ที่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติมีหลายส่วน ถ้าเอกชนไม่เอาก็จบ เราไปบังคับให้เขาคืนสัมปทานไม่ได้ ถ้าทีโอทีกับกสทฯ ถ้ากทช.ไม่เห็นด้วยก็จบเหมือนกัน แต่อย่างที่ผมบอกหน้าที่ของเราคือเสนอสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์ที่สุด ถ้ามีประโยชน์ทุกหน่วยก็ควรรับแนวคิดของรัฐบาลไปใช้ประกอบการพิจารณา"


นายกรณ์ ยอมรับว่าแนวคิดดังกล่าว อาจส่งผลต่อการเปิดประมูลใบอนุญาต บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 G ของกทช.ที่กำหนดไว้ในเดือนก.ย.นี้ แต่ไม่คิดว่าเป็นการแทรกแซงหรือกดดันการทำงานของกทช.แต่อย่างใด และหากเป็นข้อเสนอที่ดีทำให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลายลงเป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วม ตนมองว่ากทช.ก็น่าจะรับฟังนำแล้วนำกลับไปทบทวนได้ เพราะเงื่อนไขต่าง ๆ ยังไม่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตนเชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจังเรื่องทั้งหมดจะเสร็จได้ภายในปีนี้

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ