ค่ายมือถือรุมถล่มร่างเงื่อนไข 3G

ทุกค่ายมือถือพร้อมใจถล่มร่างเงื่อนไข 3G กรณีใบอนุญาตราคาสูงเกินเหตุ และ สูตร N-1 ทำให้ผูกขาดตลาด "สมประสงค์" ตั้งคำถามจะแปรสัญญาสัมปทานไปทำไม ชี้ควรปล่อยให้สัญญาหมดอายุ
 
"ทีดีอาร์ไอ" หนุนโมเดลแปรสัญญาสัมปทาน กระทรวงการคลัง เปลี่ยนจากเก็บค่าต๋งระบบ 2G เป็นใบอนุญาตเดียวกับมือถือ 3G  ขณะที่ สรท.กสท คิดต่างเหตุจะทำให้สูญเสียรายได้ถึง 50% พร้อมเสนอเงื่อนไขให้รัฐบาลเปลี่ยนรูปแบบเป็นค่าเช่าโครงข่ายแทน
นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นระหว่างการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ กรณีร่างประกาศกทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2553 ว่าร่างประกาศ กทช.นี้ เป็นประเด็นที่ กทช.ใช้หลักการ Number-1 (หรือ N-1 หมายความว่าผู้ประกอบการยื่นประมูล 4 รายจะออกใบอนุญาตทั้งหมด 3 ราย แต่ถ้ายื่นประมูลเข้ามาเพียง 3 รายจะออกใบอนุญาตเพียง 2 รายเท่านั้น) เป็นการสร้างการแข่งขันเพื่อให้ได้ใบอนุญาตที่มีราคาสูงไม่ใช่ประโยชน์สุดท้ายแท้จริง ถ้ามีผู้เข้าผ่านการคัดเลือก 4 ราย มีใบอนุญาต 3 ราย บวกกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)  เหมาะสมสำหรับประเทศไทยและปริมาณหรือยัง
 
แต่อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อมีผู้ผ่านการคัดเลือกเพียง 2 ราย และ กทช. ให้ใบอนุญาตเพียง 1 รายเป็นการผูกขาดหรือไม่ สำหรับบทบาทของ กทช. ภารกิจที่สำคัญ คือการส่งเสริมกิจการโทรคมนาคมสนับสนุนการเจริญเติบโตและพัฒนาของประเทศ ไม่ใช่สร้างรายได้เฉพาะเรื่องใบอนุญาตเท่านั้น อีกทั้งระยะเวลาการทำงาน กทช. มีไม่มากนัก ดังนั้น กรรมวิธีการคัดเลือก ตรวจสอบได้ง่าย สร้างความชัดเจนสังคม เพื่อให้กรรมวิธีการคัดเลือกใบอนุญาตไม่ให้ล่าช้าออกไป
"การกำหนดราคาเห็นว่าตั้งอยู่บนแนวคิดพื้นฐานเศรษฐกิจไม่ใช่ความคิดที่สุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง เอารายได้มากสุดให้รัฐกลายเป็นภาระประชาชนหรือต่ำเกินไปเป็นการไม่ยุติธรรม ผมไม่เห็นด้วยสูตร N-1 คิดมากไร้สาระไม่มีสัญญาไหนอยู่ชั่วฟ้าดินสลาย คิดขึ้นมาทำไมเพราะต้องมีพระราชบัญญัติขึ้นมารองรับรัฐควรปล่อยสัญญาสัมปทานให้หมดไปจะดีกว่า"
 
ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์  กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กระทรวงการคลัง และ กทช. ควรกำหนดเวลาการแปรสัญญาสัมปทาน และการออกใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G มีกรอบเวลาที่ตรงกันน่าจะเหมาะสมที่สุด
ขณะที่การออกใบอนุญาต กทช. ควรใช้วิธีประมูลแบบเปิดให้เสนอผลตอบแทนหรือแผนธุรกิจที่น่าสนใจ (บิวตี้ คอนเทสต์) ซึ่งจะคุ้มค่ากว่าการใช้วิธีเปิดประมูลดังกล่าว เพราะการให้ใบอนุญาตต่ำกว่าผู้เข้าร่วมประมูลไม่ได้สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม "ผมไม่เห็นด้วยที่ กทช.กำหนดราคาข้างต้นสูตรเดิมที่กำหนดราคา 4,000-5,000 ล้านบาท เป็นราคาที่สมเหตุสมผล"
 
อย่างไรก็ตาม การลงทุนระบบ 3G ต้องลงทุนทั้งหมด 25,000-30,000 ล้านบาท ไม่รวมค่าใบอนุญาต ซึ่งกลุ่มทรู มีเงินสดอยู่ในมือถึงสิ้นปี 10,000 ล้านบาท และกระแสเงินสดอีกจำนวน 7,000-8,000 ล้านบาท "ครั้งที่แล้วเปิดประมูล 3G มีความมั่นใจเพียง 40% แต่ครั้งนี้เพิ่มขึ้นเป็น 60% ส่วนอีก 40% ที่เหลือนั้นอยู่ที่ว่าความมุ่งมั่นของภาครัฐและ กทช."
 
ส่วนนายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกลยุทธ์กิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า สำหรับการแปรสัญญาสัมปทานผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฝ่าย คือ กระทรวงการคลัง, กระทรวงไอซีที และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตกลงให้ชัดเจนถัดจากนั้นถึงมาเจรจากับผู้รับ สัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่

นอกจากนี้แล้วกรณีที่ กทช.กำหนด N-1 ไม่เห็นด้วยกับวิธีดังกล่าวเพราะหากมีบางรายไม่เข้าประมูลเพื่อรอใบอนุญาตใบ สุดท้ายโดยไม่มีคู่แข่งก็จะได้ราคาที่ต่ำกว่ารายอื่น ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ให้บริการก่อนหน้าที่เข้าประมูลไปแล้ว

ก่อนหน้านี้ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันมูลนิธิเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับกรณีที่กระทรวงการคลัง มีแนวความคิดแปรสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือ ของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำไว้กับคู่สัญญาให้เป็นใบอนุญาต 3G (บนความถี่เดิม) นั้น แนวคิดนี้ตอบโจทย์ด้วยกัน 2 ข้อ คือ 1.แก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานที่เป็นคดีความอยู่เดิม และ 2. ป้องกันการโอนย้ายลูกค้าจากระบบ 2G ไปสู่ระบบ 3G ส่วนเหตุผลที่กระทรวงการคลังมีแนวความคิดแปรสัญญาสัมปทานเป็นใบอนุญาตเนื่องจากว่าการแปรสัญญาสัมปทานในอดีตมีอุปสรรคส่งผลให้ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นกระทรวงการคลังถึงได้คิดสูตรใหม่ขึ้นมา

สำหรับผลตอบแทนที่กำหนด 2G และ 3G  ในอัตราที่ 12.5% อายุสัมปทานที่ 15 ปีนั้นก็ต้องพิจารณาสัญญาสัมปทานของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประกอบด้วยเช่นกัน เนื่องจาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เหลืออายุสัมปทาน 5 ปี จ่ายผลตอบแทนให้รัฐ 25% จากรายได้ ขณะที่ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด อายุสัมปทานเหลือเพียง 3 ปี จ่ายผลประโยชน์ให้รัฐ 30% และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค อายุสัมปทานเหลือเพียง 8 ปี จ่ายผลตอบแทนให้รัฐ 30% ภาครัฐก็ต้องพิจารณาองค์ประกอบเหล่านี้ให้อยู่ในบรรทัดฐานเดียวกันทั้งหมด

ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้กำหนดค่าใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G เริ่มต้นที่ราคา 10,000 ล้านบาท นั้นถือว่าเป็นการกำหนดราคาสูงกว่าในอดีตที่กำหนดราคาประมูลขั้นต่ำ เพียง 5,000 ล้านบาทเท่านั้น

"ความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า กทช.สามารถเปิดประมูลได้นะ แม้ กสทช.(คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ยังไม่ได้มีการจัดตั้งก็ตามแต่รัฐธรรมนูญมาตรา 315 (2) เขียนไว้ชัดเจนให้เร่งรัด ไม่ใช่บังคับ"

ขณะที่นายสุขุม ชื่นมะนา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)  (สร.กสท) เปิดเผยว่า สรท.กสท มีความเห็นตรงกันข้ามเนื่องจากกระทรวงการคลัง ควรเปลี่ยนเป็นรูปแบบการเช่าโครงข่ายแทน เนื่องจากสัมปทานที่ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้รับเป็นในลักษณะ Build – Transfer – Operate (B.T.O.การทำสัญญาให้บริษัทเอกชนมา รับผิดชอบ ออกแบบ ก่อสร้าง แล้วโอนให้แก่รัฐ)

แม้ว่าบริษัทไม่ได้รับผลตอบแทน 100%  หากแต่รูปแบบนี้จะทำให้ บมจ.กสทโทรคมนาคม สามารถกำหนดค่าเช่าโครงข่ายในต้นทุนที่คงที่ เช่น กรณีของ ดีแทค จ่ายค่าสัมปทานปีละ 10,000 ล้านบาท หากปรับมาเช่าใช้โครงข่าย คิดในอัตราปีละ 8,000 ล้านบาท เท่ากับว่ารายได้ที่ลดลงไปยังถือว่ายอมรับได้ เนื่องจาก ดีแทค สัญญาหมดอายุในปี 25561 หากทำสัญญาเช่าโครงข่ายก็จะเป็นประโยชน์ เพราะในอนาคตทิศทางของ บมจ.กสท โทรคมนาคม ทำหน้าที่เป็น Network Provider (ผู้ให้บริการโครงข่าย) สอดคล้องกับทิศทางของ กทช.ที่เปิดประมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ของ กทช.

ที่มา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,543   27-30  มิถุนายน พ.ศ. 2553