ได้รับเสียงตอบรับดีกว่าครั้งที่แล้ว สำหรับหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตมือถือ 3G ของ กทช. ที่จะเปิดเวทีประชาพิจารณ์ในวันที่ 25 มิ.ย. 2553 นี้ โดยเฉพาะในประเด็นที่มีการปรับราคาเริ่มต้นในการประมูลไลเซนส์ใหม่เป็น 1 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งระบุให้มีการสำรองโครงข่ายเพื่อผู้ให้บริการ MVNO

โดยร่างสรุปข้อสารสนเทศ (Information Memorandum) และร่างหลักเกณฑ์วิธีการออกใบอนุญาตให้ใช้ความถี่ย่าน 2.1 GHz เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G มีรายละเอียดว่า กทช.จะจัดสรรความถี่ย่าน 2.1 GHz สำหรับใบอนุญาตแบบที่ 3 ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองจำนวน 3 ใบ ระยะเวลาอนุญาต 15 ปี ใบละ 15 MHz โดยมีขอบเขตการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมไร้สาย บริการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโทรคมนาคม บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บริการ broadband multimedia service บริการ value added service และบริการข่ายส่งบริการโทรคมนาคม (wholesale service)

โดยการจัดสรรความถี่จะใช้วิธีประมูลแบบพร้อมกันหลายรอบ (Simultaneous Multiple Round : SMR) ราคาประมูลขั้นต้นที่ 1 หมื่นล้านบาท ด้วยวิธีการจัดสรรความถี่แบบ -1 กล่าวคือในกรณีมีผู้ผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติขั้นต้น 4 ราย จะประมูลความถี่สำหรับใบอนุญาต 3 ใบ ถ้ามีผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูลน้อยกว่า 4 ราย กทช.สงวนสิทธิ์ในการออกใบอนุญาตน้อยกว่าจำนวนผู้มีสิทธิ 1 ชุดคลื่นความถี่ หรือประมูลแค่ 2 ใบ เป็นต้น

คุณสมบัติของผู้ยื่นขอรับใบอนุญาต ต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย ไม่มีความเกี่ยวพันในการถือหุ้นกับบริษัทหรือบริษัทย่อยผู้ขอรับใบอนุญาตราย อื่น เมื่อประมูลได้แล้วต้องเปลี่ยนสถานะจากบริษัทจำกัดเป็นบริษัทมหาชน และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯใน 3 ปี

ส่วนการขอรับใบอนุญาตจะมีเวลา 30 วันนับจากวันที่ กทช.ประกาศในการยื่นขอเข้าร่วมประมูล โดยต้องยื่นชำระค่าคำขอใบอนุญาตเป็นเงิน 5 แสนบาท และวางหลักประกันสัญญาเงิน 10% ของมูลค่าขั้นต่ำในการประมูล หรือ 1 พันล้านบาท โดยสำนักงาน กทช.จะแจ้งผลการพิจารณาว่ามีสิทธิเข้าประมูลหรือไม่ภายใน 15 วันนับจากวันยื่นคำขอ หรือกรณีที่ได้รับการพิจารณาว่ามีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน ผู้ยื่นคำขอสามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 3 วัน กทช.จะพิจารณาการอุทธรณ์ใน 7 วัน

เมื่อประมูลเสร็จแล้ว ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องชำระเงินก้อนแรกจำนวน 50% ของมูลค่าประมูลภายใน 45 วัน นับจากได้รับหนังสือแจ้งว่าเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต อีก 25% ในปีที่ 2 และ 25% ที่เหลือในปีที่ 3 โดย กทช.กำหนดเงื่อนไขการติดตั้งโครงข่ายว่าต้องเปิดให้บริการภายใน 1 ปี นับจากรับใบอนุญาต และต้องมีพื้นที่บริการครอบคลุมประชากรไม่น้อยกว่า 50% ภายใน 2 ปี และครอบคลุมไม่น้อยกว่า 80% ภายใน 4 ปี หากไม่สามารถติดตั้งได้ทันตามกำหนดาจะเสียค่าปรับ 0.05% ของมูลค่าความถี่/วัน

ในทางกลับกัน หากผู้รับใบอนุญาตสร้างโครงข่ายครอบคลุมประชากร 80% ภายใน 3 ปี สามารถเลื่อนการชำระค่าธรรมเนียมงวดที่ 3 ออกไปอีก 1 ปีเช่นกัน

นอกจากนี้ ผู้รับใบอนุญาตจะต้องประกันการให้บริการโครงข่ายขนาดความจุ (capacity) อย่างน้อย 40% ของโครงข่ายให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือน (Mobile Virtual Network Operator-MVNO)

สำหรับการให้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศ (โรมมิ่ง) ผู้รับใบอนุญาตโรมมิ่งเครือข่ายกับผู้ให้บริการ 2G ในตลาดได้ แต่ผู้ให้บริการ 2G เดิมไม่สามารถโรมมิ่งกับผู้รับใบอนุญาต 3G รายใหม่ได้ หากผู้ให้บริการ 2G ประสงค์จะใช้โครงข่าย 3G ในการให้บริการต้องให้บริการในลักษณะ MVNO เท่านั้น และถ้าผู้รับใบอนุญาต 3G เป็นรายเดียวกับผู้ให้บริการภายใต้สัมปทานจากทีโอที หรือ กสทฯ ต้องยุติการให้บริการภายใต้สัมปทานเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของการอนุญาต

หลังจาก กทช.รับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันที่ 25 มิ.ย. 2553 เสร็จแล้ว คาดว่าจะประกาศหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตได้ในวันที่ 1 ก.ค. จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการเชื้อเชิญให้เข้าประมูลและเผยแพร่สรุปข้อสนเทศ (IM) ฉบับสมบูรณ์ และเปิดให้ยื่นคำขอเข้าประมูลเป็นเวลา 30 วัน นับจากวันที่มีการเผยแพร่ IM และพิจารณาคุณสมบัติขั้นแรก ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลภายใน 15 วัน นับจากวันยื่นคำขอเข้าประมูล


ส่วนวันประมูลจะเริ่มขึ้นหลังประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิประมูลไปแล้ว 14 วัน ทั้งนี้ กทช.คาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในเดือนกันยายนนี้

ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ