• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • วิเคราะห์และบทสัมภาษณ์ : ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ เรื่องจำเป็นที่ไม่มีใครใส่ใจ ?

วิเคราะห์และบทสัมภาษณ์ : ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ เรื่องจำเป็นที่ไม่มีใครใส่ใจ ?

พลวัตได้รับเกียรติจากคุณพิชัย พืชมงคล กรรมการประจำสำนักกรรมการจัดการ บริษัท ธรรมนิติ จำกัด (มหาชน) และ กรรมการบริหาร บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด ให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งคุณพิชัยยังได้ร่างกฎหมายฉบับคู่ขนานอีกฉบับเพื่อส่งให้สมาชิก สนช.พิจารณาควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้คุณพิชัยยังเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้กับเว็บพลวัตอีกด้วย

มีความเห็นอย่างไรเมื่อฟังการสัมมนาที่คณะนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้แล้วครับ

ผมอ่านข่าวการสัมมนาแล้ว เห็นว่า ผู้อภิปรายส่วนใหญ่ โน้มเอียงไปในทางที่เห็นโทษของกฎหมายฉบับนี้ ไม่เห็นถึงประโยชน์ หรือความจำเป็นที่จะต้องตรากฎหมายนี้ขึ้น ทั้งนี้ อาจเนื่องจาก ไม่เข้าใจความเป็นมาหรือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตในทุกวันนี้

คิดว่าทุกคนเห็นความจำเป็นครับ แต่ว่าเป็นห่วงว่า 1. ด้วยการกำหนดขอบเขตและความหมายที่ไม่ชัดเจน 2. ความรู้ความเข้าใจของผู้ปฏิบัติ 3. ขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่กว้างขวาง 4. ความสงสัยในการใช้กฎหมายเพื่อจุดประสงค์การปิดกั้นเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชนที่เห็นต่างผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งยังเป็นสื่อเดียวที่ประชาชนทำได้อยู่ จึงอยากให้ร่างนี้ผ่านการตรวจสอบในสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

ถ้าบอกว่าเห็นความจำเป็น ก็อาจกล่าวว่าไม่เห็นถึงความเร่งด่วน คือเห็นว่า ค่อยรอสภาที่มาจากการเลือกตั้ง พิจารณาในปี 2551 ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ก่อนอื่น ควรพิจารณาว่าโดยหลักการ สมควรและจำเป็นต้องมีกฏหมายที่บัญญัติขึ้นโดยเฉพาะเพื่อจัดการกับการกระทำความผิดในการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันนี้ หรือไม่ ? ส่วน บทมาตราที่ไม่เหมาะสม ก้ควรไปแก้ไขในชั้นแปรญัตติ

ส่วนประเด็นที่ว่า ควรให้สภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณานั้น ถ้ายอมรับหลักเหตุผลนี้ สภานิติบัญญัติชุดปัจจุบันก็ไม่ควรพิจารณากฎหมายใด ๆ เลย ผมคิดว่า เราควรมองจากสภาพความเป็นจริงของการใช้ระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันว่า ได้แพร่หลายไปมากขนาดไหน และได้เกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง และกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถขยายไปใช้บังคับได้หรือไม่ ?

ผมขอเรียนว่าโลกของระบบอินเทอร์เน็ตนั้น เป็นโลกความจริงเสมือน ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า cyber space ซึ่งโลกความจริงเสมือนนี้ มันมีองค์ประกอบ กฎเกณฑ์และปัญหาของมันเอง ซึ่งแตกต่างจากอย่างสิ้นเชิงจากโลกทางวัตถุที่พวกเราอยู่กัน

ผมยกตัวอย่างเช่น การเจาะระบบคอมพิวเตอร์ ที่ฝรั่งเรียกว่า hacking เข้าไปในฐานข้อมูลการเงินของธนาคารในโลกความจริงเสมือน ย่อมต่างกับการบุกรุกเข้าไป ที่สำนักงานของธนาคารมาก กล่าวคือ อย่างแรกมีความเสียหายร้ายแรงกว่าอย่างหลังมากมายมหาศาล แต่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด

คิดว่าทุกคนเห็นความจำเป็นของร่างฯ นี้ แต่ว่าปัญหาคือ ท่าน รมว.ไอซีทีไปอภิปรายในสภาว่า "การล้วงข้อมูลความลับในคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่มีกฎหมายไปควบคุม หรือ เอาผิดได้เลย และมีข้อความลงในเว็บไซต์ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่รุนแรงมาก ๆ" ซึ่งก่อนหน้านั้น มีความพยายามจะปิดเว็บไซต์ทางวิชาการหลายแห่งเช่น ประชาไท, ม.เที่ยงคืน ซึ่งเป็นความพยายามของไอซีทีโดยใช้ข้ออ้างเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและเรื่องความมั่นคงดังกล่าว ในส่วนของ ม. เที่ยงคืน ก็ได้มีความพยายามต่อสู้และหาข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวมาตลอดจนพบว่า มีหลักฐานชี้ได้ว่าทางไอซีทีบล็อกจริง (แล้วมาออกข่าวว่าไม่ได้บล็อก)

ในส่วนของประชาไท เมื่อโดนร้องเรียนและฟ้องต่อประชาชน ไอซีทีก็เลยไม่สามารถปิดเว็บได้ แต่ยังขู่ว่าจะฟ้องร้องคดีต่อศาลเรื่องหมิ่นฯ แล้วจู่ ๆ กฎหมายนี้ก็ถูกผลักเข้าสู่สภาทั้งที่กฎหมายประกอบเรื่องเดียวกันอีก 4 ฉบับ กลับไม่ได้ถูกผลักดันเข้าเหมือนกัน คือ พรบ.ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ พรบ.พัฒนาโครงสร้างไอซีทีให้ทั่วถึงและเท่าเทียม พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พรบ.การโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าจะกล่าวถึงความจำเป็นแล้ว พรบ.อีกสี่ฉบับที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้ ก็มีความจำเป็นไม่น้อยไปกว่ากัน ทางภาคประชาชนจึงตั้งข้อสังเกตว่าการผลักดันร่างนี้ให้ผ่านสภาฯ น่าจะมีเบื้องหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการรับหลักการแบบท่วมท้น แถมให้เวลาแปรญัตติในเวลาอันสั้น (7 วัน)

ผมคิดว่า การบล็อกเว็บ ม.เที่ยงคืน เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจที่ผิดของกระทรวงไอซีที แต่มันเป็นคนละเรื่องกับปัญหาที่ว่า ไทยสมควรหรือจำเป็นต้องมีกฎหมายฉบับนี้หรือไม่

น่าสงสัยว่าถ้าภาคประชาชนไม่ออกมาวิ่งเต้นฟ้องร้องเป็นกระแสต่อประชาชน ร่างนี้อาจผ่านไปแล้วก็ได้ แบบที่ไม่สมบูรณ์ ในเมื่อเห็นว่าสำคัญ ก็ควรจะยิ่งพิจารณาให้รอบคอบ และควรพิจารณาควบคู่ไปกับ พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพราะกฎหมายทั้งสองฉบับล้วนมีความเกี่ยวพันกันอยู่ ที่สำคัญคือการต้องพยายามรับฟังและการให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับกฎหมายฉบับนี้ด้วยครับ

โอ้ ไม่หรอกครับ ในวาระพิจารณารับหลักการ ในสภาฯ ก็มีสมาชิกทักท้วงมากมาย และรัฐมนตรี ก็ยอมรับว่า จะต้องมีการแก้ไขอีกมากในชั้นแปรญัตติ ส่วนการให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมนั้น ผมเห็นด้วยอย่างเต็มที่ ทั้งอยากให้ผู้เกี่ยวข้องไปติดตามการพิจารณาของคณะกรรมาธิการแปรญัตติอย่างใกล้ชิดด้วย

เกี่ยวกับเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนก็ค่อนข้างลำบาก เพราะมีความเห็นแตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับที่มาของรัฐบาลและสภาชุดนี้ เพราะได้อำนาจมาจากการรัฐประหารซึ่งถือว่าไม่ชอบธรรม จึงไม่ควรเข้าไปร่วมเลย เพราะเท่ากับยอมรับความชอบธรรมของการรัฐประหาร ทั้งที่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ส่วนภาคประชาชนอีกฝ่ายหนึ่งก็มีท่าทีที่ยืดหยุ่นกว่า และเห็นว่าควรเข้าไปตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและสภาฯ อย่างใกล้ชิด แต่ปัญหาหนึ่งที่ต้องตระหนักให้ดีคือ สภาชุดนี้ไม่มีฝ่ายค้านทำหน้าที่ตามปกติ ก็เท่ากับว่าสภาแบ่งเป็นก๊ก เป็นเหล่า คานอำนาจตามแรงขับดันทางผลประโยชน์ หรือไม่ก็ตามอุดมการณ์ของแต่ละกลุ่ม ในส่วนของสื่อและนักวิชาการก็หวังพึ่งได้ยาก เพราะกลับดันเข้าไปทำหน้าที่ สนช.เสียเอง ทำให้ช่องว่างระหว่างสื่อและอำนาจรัฐสูญหายไป การตรวจสอบจึงย่อมด้อยด้วยคุณภาพ และด้อยความน่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง

ผมเห็นว่า ภาคประชาชนทั้งสองส่วนนี้ มิได้ขัดแย้งกัน กล่าวคือ ส่วนที่ไม่ยอมรับสภาฯ ก็ควรเคลื่อนไหวต่อสู้ในหมู่ประชาชนไปตามความคิดเห็นของตน เรียกว่าสู้นอก ระบบ ส่วนที่เห็นว่าควรเข้าไปตรวจสอบผลักดันอย่างใกล้ชิด ก็ควรเข้าไปมีส่วนร่วมตามระบบให้มากที่สุด เรียกว่า ต่อสู้ในระบบ เมื่อผนึกกำลังกันให้ดี อาจสามารถผลักดันเรื่องให้ออกมาดีก้ได้

ที่จริง หลักและสาระพื้นฐานของกฎหมาย ก็เป็นไปตาม Convention on Cybercrime เป็นสำคัญ แทบจะเรียกว่าลอกกันมา

มาตรา 13 นี่เทียบได้กับข้อไหนของ convetion on cybercrime ครับ ?

ข้อ 9 Offences related to child pornography

แล้ว อนุ 2 กับ อนุ 3 ล่ะครับ ?

อนุ 3 เป็นการเพิ่มเติมว่า ถ้าเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา ให้รับโทษในเหตุฉกรรจ์หรือรุนแรงขึ้น ซึ่งก็มีเหตุผล เพราะการทำผิดในระบบอินเทอร์เน็ตนี้ ในแง่ความกว้างขวางอย่างไร้ขอบเขต ในแง่ความรวดเร็วปานไฟแลบ ในแง่ความยาวนานในการดำรงอยู่ของข้อมูล มันยิ่งกว่าในโลกทางวัตถุอย่างเทียบกันไม่ได้

ส่วน อนุ 2 ที่ว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันนั้นเป็นความเท็จ โดยประการที่ทำให้น่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกกับประชาชน ก็มีเหตุผล แต่ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ก็ควรจะแก้กันไปให้รัดกุมและชัดเจนยิ่งขึ้น

ผมคิดว่า หัวใจที่สำคัญมากในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน คือการให้ศาล—ไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่—มีอำนาจในการ ค้น ยึด และอายัดตามมาตรา 16 เพราะในกระบวนการของศาล ก่อนที่จะออกหมายให้เจ้าพนักงานไปดำเนินการดังกล่าว จะต้องมีการตรวจหรือไต่สวนพยานหลักฐานตามสมควรแก่กรณีก่อน

ข้อนี้ ผมว่าคงต้องสู้กันอย่างหนัก และถ้าแพ้—หมายความว่าเป็นไปตามร่างเดิม—ก็มีเหตุผลและความชอบธรรมเพียงพอที่ไม่ควรจะเอาทั้งร่างฯ

สำหรับผมเห็นว่า มาตรา 16 จึงสำคัญที่สุด และอาจใช้เป็นหินลองทองในเรื่องนี้ได้

ที่มา : เว็บไซต์พลวัต