8 เรื่องที่ผู้ประกอบการควรรู้ก่อนรับแรงงานเด็กทำงานเสริม ตอนที่ 1

     วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีจะมอบคำขวัญวันเด็กให้เด็กไทย ผู้ปกครองก็พาบุตรหลานไปเที่ยวเล่นเพลิดเพลิน ณ สถานที่ต่างๆ ในทางกลับกันจะมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้เที่ยวเล่นตามประสาเด็ก หรือมีความจำเป็นที่จะต้องแบ่งเบาภาระทางบ้านเพื่อหารายได้เข้ามาสู่ตนหรือครอบครัวของตน ผู้เขียนอยากชี้ให้เห็นว่า เรื่องของแรงงานเด็กเป็นเรื่องที่ กฎหมายของประเทศไทยให้ความสำคัญ แม้กระทั่ง นานาประเทศยังกำหนดให้วันที่ 12 มิถุนายน 2566 เป็นวันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กสากล
     ผู้เขียนจึงอยากยกข้อกฎหมายที่ผู้ประกอบการควรรู้ก่อนรับจ้างแรงงานเด็กทำงานเสริม (พาร์ทไทม์) และเป็นข้อคำถามที่นักกฎหมายได้รับอยู่บ่อยครั้งมาแบ่งปันเพื่อประโยชน์ของผู้อ่านทุกท่าน
     1. คำถาม เด็กนักเรียนอายุเท่าใดที่ผู้ประกอบการสามารถรับมาทำงานพาร์ทไทม์ได้ ? เด็กนักเรียนที่ผู้ประกอบการสามารถรับทำงานได้ ต้องมีอายุขั้นต่ำตั้งแต่กี่ปีขึ้นไป ?
         ตอบ : เด็กที่ผู้ประกอบการสามารถรับเข้ามาทำงานได้ ต้องมีอายุขั้นต่ำตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 44)

     2. คำถาม กรณีที่ผู้ประกอบการฝ่าฝืนรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี มาทำงานจะมีโทษทางกฎหมายอย่างไร ?
         ตอบ : 1.ถูกลงโทษปรับตั้งแต่ 400,000 บาทถึง 800,000 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน หรือ
                  2.ถูกลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ
                  3. ถูกลงโทษทั้งปรับทั้งจำ

     3. คำถาม กรณีที่ผู้ประกอบการรับเด็กนักเรียนพาร์ทไทม์มาทำงาน ต้องดำเนินการทางทะเบียนอย่างไรบ้าง ?
         ตอบ : กรณีที่ผู้ประกอบการรับเด็กอายุตั้งแต่ 15 ปี แต่อายุไม่ถึง 18 ปี บริบูรณ์ เข้ามาทำงาน ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องดำเนินการทางทะเบียนดังนี้ (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 45)
         1. แจ้งการจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กนั้นต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน 15 วันนับแต่วันที่เด็กเข้าทำงาน
         2. จัดทำบันทึกสภาพการจ้างกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเก็บไว้ ณ สถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้าง พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจได้ในเวลาทำการ
         3. แจ้งการสิ้นสุดการจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กนั้นต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน 7 วันนับแต่วันที่เด็กออกจากงาน

     4. คำถาม กรณีที่ผู้ประกอบการฝ่าฝืนไม่ดำเนินการทางทะเบียน จะมีผลอย่างไร มีโทษทางกฎหมายหรือไม่
         ตอบ : หากผู้ประกอบการฝ่าฝืนไม่ดำเนินการแจ้งทางทะเบียน จะมีโทษตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 146 คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

     หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เรื่องที่ผู้เขียนนำมาสื่อสารกับผู้อ่านจะทำให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์ บอกต่อกับคนรู้จักหรือได้ศึกษาเพิ่มเติม และหากท่านผู้อ่านท่านใดสนใจติดตามเรื่องที่ผู้ประกอบการควรรู้ก่อนรับแรงงานเด็กทำงานเสริม ตอนที่ 2 สามารถติดตามทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊ค (Facebook) ของบริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด ต่อไป
เนื้อหา ธรรมนาถ เรียบเรียง/กราฟฟิก คณะฟังชั่นฯ สำนักคดี
Hashtag: วันเด็ก, แรงงานเด็ก, กฎหมายแรงงานเด็ก, รับจ้างพาร์ทไทม์, ต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก, คดีแรงงาน, แรงงานผิดกฎหมาย, ใช้แรงงานเด็ก
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง: พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 44 ,45,146,148/1