สิทธิส่วนบุคคล บนโลกเสมือน

ด้วยคุณสมบัติของ "อินเตอร์เนต" หรือ "โลกเสมือน"
ทำให้เราสามารถติดต่อสื่อสารกับคนทั่วโลกได้รวดเร็ว สะดวกสบาย
ในราคาเป็นกันเอง อินเตอร์เนตจึงเข้ามามีบทบาทในชีวิตได้ไม่ยากนัก

ความฝันของคนไอทีตั้งแต่ยุคกลางทศวรรษที่แล้ว (ช่วง 1995) คือ
การนำอินเตอร์เนตเข้ามาแทนที่เครื่องคอมพิวเตอร์ นั่นหมายความว่า
กิจกรรมต่าง ๆ ที่เรากระทำบนคอมพิวเตอร์
เราสามารถกระทำบนอินเตอร์เนตได้ทั้งหมด
คอมพิวเตอร์มีหน้าที่เพียงเป็นตัวเชื่อมต่อไปยังอินเตอร์เนตเท่านั้น

เมื่อเวลาผ่านไป 15 ปี ชาวไอทีได้ลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน
และความฝันที่ว่า ก็ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นทุกขณะ แรงผลักดันหลักคือ
คุณสมบัติของอินเตอร์เนต, ความสามารถของฮาร์ทแวร์, ราคาค่าบริการ
(ส่วนมากไม่เก็บเงิน) และ โอเพนซอร์ส 1)

บริการออนไลน์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งในรูปแบบของ social network,
e-commerce, desktop replacement ฯลฯ ซึ่งการใช้บริการเหล่านี้
ย่อมมีการนำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ไปเก็บไว้บนอินเตอร์เนต
และเมื่อวันหนึ่งความฝันของคนไอทีได้กลายเป็นความจริง
คอมพิวเตอร์ได้ถูกแทนที่ด้วยอินเตอร์เนต ถึงตอนนั้น
ข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่
ก็ต้องถูกนำไปเก็บไว้สักที่ในอินเตอร์เนต

และด้วยคุณสมบัติของอินเตอร์เนตเช่นกัน ข้อมูลที่ถูกเก็บไว้บนอินเตอร์เนต
มักจะไม่ถูกเก็บไว้เพียงที่เดียว แต่จะกระจายตัวไปยังที่ต่าง ๆ มากมาย
ทั้งด้วย search engine, robot, hyper link
หรือแม้แต่การคัดลอกข้อมูลในลักษณะ hard copy ดังนั้น
อินเตอร์เนตจึงกลายเป็นที่เก็บข้อมูลในลักษณะ "เขียนได้ อ่านได้ แต่ลบไม่ได้" เป็นผลทำให้ …

ข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่บนอินเตอร์เนต กลายเป็นข้อมูลสาธารณะ ที่ฆ่าไม่ตาย
และทุกอย่างคงไม่มีปัญหา หากข้อมูลต่าง ๆ เหล่านั้น
เป็นข้อมูลที่ผู้เป็นเจ้าของ ต้องการเปิดเผยต่อสาธารณะอยู่แล้ว
แต่หากเป็นข้อมูลส่วนตัว ปัญหาต่าง ๆ จะตามมามากมาย

ปัญหาที่เกิดขึ้น และมีการพูดถึงกันในสังคมเยอรมันขณะนี้คือ "การแก้แค้นผ่านอินเตอร์เนต"
ด้วยวิธีการง่าย ๆ ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่สามารถทำลายอนาคตของคน ๆ
หนึ่งได้เลยทีเดียว
เพียงแค่คุณนำข้อมูลส่วนตัวในเชิงลบพร้อมชื่อและข้อมูลอื่น ๆ
ของคนที่คุณต้องการแก้แค้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องลวง
ไปเผยแพร่ในอินเตอร์เนต

เหยื่อของคุณ ก็จะประสบปัญหาต่าง ๆ
มากมาย เคยมีรายการโทรทัศน์เยอรมันช่องหนึ่ง
ได้ทำรายงานพิเศษเกี่ยวกับเหยื่อทางอินเตอร์เนต
หลายคนไม่สามารถสมัครงานตามที่ต่าง ๆ ได้ 
หลายคนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ และหลายคนถึงขั้นมีอาการทางจิต

การแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องที่ยาก และส่วนมากเกินความสามารถของเหยื่อ เหตุเพราะข้อมูลบนอินเตอร์เนต มีลักษณะ "เขียนได้ อ่านได้ แต่ลบไม่ได้" ทำให้ธุรกิจแบบใหม่ได้เกิดขึ้นในเยอรมัน นั่นคือ บริการลบข้อมูลส่วนตัวจากอินเตอร์เนต
ซึ่งผู้ให้บริการมักเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านไอที
ที่รู้วิธีลบข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ทั้งใน search engine, internet
portal, video portal ฯลฯ

แม้ว่าบริการเหล่านี้ จะมีค่าบริการที่สูง
แต่ผู้ใช้บริการก็เต็มใจจ่ายค่าบริการ
และแม้ว่าข้อมูลจะถูกลบออกจากอินเตอร์เนตเรียบร้อยแล้ว
แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป เนื่องจากภาพในเชิงลบของเหยื่อ ยังคงอยู่ในสังคม
ในจุดนี้ มีเพียงเวลาเท่านั้นที่สามารถช่วยได้

ประเด็นหนึ่งที่เพื่อนร่วมงานของผมพูดถึงกันมากคือ การใช้บริการ Picasa
จาก Google  เพราะก่อนที่เราจะใช้บริการของ Picasa ได้
เครื่องคอมพิวเตอร์ของเราจะถูกสแกนทุกซอกทุกมุม
โดยที่ไม่เราไม่สามารถหยุดการ สแกนข้อมูลได้
สร้างความกังวลให้กับเพื่อนร่วมงานของผมอย่างมาก

เพราะเราไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่า มีข้อมูลใดบ้างที่ถูกสแกน
มีข้อมูลใดบ้างที่ถูกส่งกลับไปยัง Google และ Google นำข้อมูลต่าง ๆ
เหล่านั้นไปทำอะไรบ้าง สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือ การสแกนข้อมูลในลักษณะนี้
เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่

การเก็บข้อมูลส่วนตัวของ Google ไม่ได้ถูกพูดถึงเฉพาะการให้บริการของ Picasa เท่านั้น เวบบราวเซอร์จาก Google อย่าง Chrome
ก็ถูกหมายตาจากรัฐบาลเยอรมัน ตั้งแต่มีการเปิดตัวใหม่ ๆ
เนื่องเพราะผู้เชี่ยวชาญทางด้านไอทีของรัฐบาลเยอรมัน (นอกเรื่อง :
เป็นที่น่าสงสัยว่ารัฐบาลไทย มีผู้เชี่ยวชาญลักษณะนี้หรือไม่)
ได้ตรวจสอบพบว่า Chrome ได้ส่งข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานกลับไปยัง Google

ทางรัฐบาลจึงออกมาเตือนประชาชนของตัวเอง ให้ใช้ Chrome ด้วยความระมัดระวัง
และไม่เพียง Google เท่านั้น ที่ถูกกล่าวหาในเรื่องการละเมิดสิทธิ
รุกล้ำข้อมูลส่วนตัว ผู้ให้บริการด้าน social nwtwork ชื่อดังอย่าง
Facebook ก็เคยประสบปัญหาในเรื่องนี้ เมื่อทาง Facebook
ได้ออกเงื่อนไขบริการ กำหนดให้ข้อมูลของผู้ใช้บริการมาเป็นของตน ทำให้ถูกโจมตีอย่างหนัก

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ได้ทำให้ปัญหาได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น
การเชื่อมต่อระหว่างโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เนต ผนวกกับกล้องดิจิตัล
และกล้องวิดีโอที่ติดมากับโทรศัพท์มือถือ ทำให้การละเมิดสิทธิ
และข้อมูลส่วนตัว ทำได้ง่ายอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ทุกคนสามารถถ่ายภาพ
หรือวิดีโอ แล้วเผยแพร่ในอินเตอร์เนตได้ ในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งวินาที
ลองนึกถึงสถานการณ์ที่เราถูกถ่ายภาพ ในอริยาบทที่ไม่น่าพิศมัย
แล้วภาพนั้นถูกเผยแพร่ในอินเตอร์เนตในทันที ว่าความรู้สึกจะเป็นอย่างไร

ผู้เขียนมองว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปัญหาดังกล่าวเท่านั้น
ในอนาคตที่ผู้ใช้บริการต้องฝากข้อมูลไว้กับผู้ให้บริการมากขึ้น
ปัญหาก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
และไม่มีอะไรเป็นเครื่องยืนยัน สำหรับผู้ใช้บริการได้เลยว่า
ข้อมูลส่วนตัวของตนจะไม่ถูกละเมิด

ข้อบังคับหรือข้อตกลงต่าง ๆ
มีลักษณะเชิง สัญญาลูกผู้ชาย มากกว่า จะเป็นข้อบังคับที่ใช้ได้จริงในทางกฏหมาย ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คล้าย ๆ กับปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นบนอินเตอร์เนต นั่นคือ อินเตอร์เนตไม่มีขอบเขต ไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจนว่า จะใช้กฏหมายข้อไหนของประเทศใด

ในเรื่องของการตรวจสอบ
ก็เป็นปัญหาที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาเรื่องขอบเขตทางกฏหมาย
ในเมื่อข้อมูลของเราได้อยู่ในมือของผู้ให้บริการเรียบร้อยแล้ว
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ผู้ให้บริการจะไม่นำข้อมูลของเราไปใช้อย่างอื่น
นอกจากตามที่ตกลงกันไว้ การตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว
จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีปัญหาให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
ในกรณีที่ผู้ให้บริการนำข้อมูลไปใช้ในลักษณะ "อีแอบ" ก็ต้องถือเป็นความโชคร้ายของผู้ใช้บริการ

ดังนั้น ปัญหาเรื่องข้อมูลส่วนตัว จึงเป็นปัญหาอันดับต้น ๆ
ที่จะเกิดขึ้นบนอินเตอร์เนต ควบคู่กับปัญหาในเรื่อง ลิขสิทธิและสัญญาอนุญาต กระบวนการป้องกันและแก้ปัญหาทั้งในทางกฏหมาย และด้านอื่น
ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในขณะนี้ รัฐบาลและหน่วยงานอิสระ
ในหลาย ๆ ประเทศเริ่มมีความเคลื่อนไหวในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น
(แต่บางครั้งรัฐบาลประเทศสารฃัณฑ์ กลับเป็นผู้ละเมิดเสียเอง)

การหวังพึ่งพาหน่วยงานต่าง ๆ
เพียงอย่างเดียวจึงไม่ใช่แนวทางที่ดีนักสำหรับเรื่องนี้ การป้องกันตนเอง
การใช้บริการต่าง ๆ บนอินเตอร์เนตด้วยความระมัดระวัง
ถือเป็นความจำเป็นที่นักท่องอินเตอร์เนตทุกคนพึงมี

ผู้ใช้บริการต้องคิดไว้เสมอว่า ไม่มีความเป็นส่วนตัวบนโลกอินเตอร์เนต
การนำข้อมูลเข้าสู่อินเตอร์เนต หมายถึงการยอมรับโดยอัตโนมัติว่า
ข้อมูลเหล่านั้นคือ ข้อมูลทีเปิดเผยต่อสาธารณะ การใช้ความเป็น anonymous
บนโลกอินเตอร์เนต ถือเป็นวิธีการป้องกันปัญหาที่ดีวิธีหนึ่ง

ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อินเตอร์เนตเป็นศูนย์กลางของโลกข้อมูล
และเข้ามาแทนที่คอมพิวเตอร์ได้ไม่ยากนัก
แต่ด้วยปัญหาทางด้านสังคมและกฏหมาย อินเตอร์เนตกำลังแพ้ภัยตัวเอง
ในทุกสังคม กฏเกณฑ์เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

แต่สังคมที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีอัตราการโตเร็วที่สุดอย่างอินเตอร์เนต
กลับไม่มีกฏเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นตัวควบคุม อีกทั้งกฏเกณฑ์ในรูปแบบปกติที่มนุษย์รู้จัก
ก็ไม่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในอินเตอร์เนต
อินเตอร์เนตจึงเหมือนแดนสนธยา ที่มีทั้งอิสภาพไร้ขอบเขตและอันตรายแอบแฝงในตัวเอง

1) โอเพนซอร์ส เข้ามามีบทบาทอย่างมาก
ในกระบวนการการเข้าถึงเทคโนโลยี
การเข้าถึงแก่นแกนเทคโนโลยีแบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
และการเปิดโอกาสในการมีส่วนรวมในการพัฒนา
ทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งสามัญราคาถูก
และกระจายตัวอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

ที่มา –  biolawcom.de