จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’s Tax Newsletter
ฉบับที่ 168 เดือนกรกฎาคม 2568
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1.ลดอัตรารัษฎากร ตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 797) พ.ศ. 2568 ตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3GnPQaM
2.หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 458) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3IvYjsX
ข่าวภาษี
1.การยกเว้นรัษฎากร [มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Hub) ของโลก]
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2568 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับกำไรส่วนทุน (Capital Gains) จากการขายสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล) ผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572
2.การยกเว้นรัษฎากร [มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการแปลงเป็นดิจิทัล (Digital Transformation) ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)]
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2568 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยให้หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า (ไม่เกิน 3 แสนบาท) สำหรับค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหรือค่าจ้างทำหรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Device) หรือบริการด้านดิจิทัล (Digital Service) แต่ไม่รวมถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 736/2550
ระหว่าง บริษัท ส. จำกัด โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง เงินได้ตามสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย
ประเด็นข้อพิพาท : เงินผลต่างระหว่างจำนวนเงินที่แต่ละฝ่ายต้องจ่ายให้แก่กันตามสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เป็นฝ่ายจ่ายให้ธนาคาร เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ก) ที่ต้องหักภาษีจากเงินที่จ่ายและนำส่งหรือไม่
คำพิพากษา : โจทก์ตกลงกับคู่สัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Swap) และตกลงว่าในวันที่สัญญาครบกำหนดต่างฝ่ายต่างต้องจ่ายเงินในอัตราดอกเบี้ยคงที่และอัตราลอยตัวตามที่กำหนดให้แก่กัน โดยนำจำนวนเงินที่คิดคำนวณมาหักกลบลบหนี้และจ่ายเฉพาะส่วนต่าง ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวไม่ใช่สัญญากู้ยืมเงิน และคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายอาจเป็นฝ่ายรับหรือจ่ายเงินให้แก่อีกฝ่ายก็ได้ ขึ้นอยู่กับผลของการคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในสัญญา เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชำระเงินส่วนต่างแก่คู่สัญญา เงินที่โจทก์จ่ายก็เป็นรายรับของคู่สัญญาโดยผลของสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยเฉพาะ ไม่ใช่เงินได้จากดอกเบี้ย โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
ความเห็นของผู้เขียน : ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาข้างต้น เนื่องจากสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเป็นการตกลงแลกเปลี่ยนเฉพาะภาระการชำระดอกเบี้ยระหว่างคู่สัญญา ไม่ใช่การชำระดอกเบี้ยโดยตรง ซึ่งคู่สัญญาอาจได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหากคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดแล้วได้ผลกำไร
ส่วนเงินที่ได้จากสัญญาดังกล่าว ไม่ถือเป็นเงินได้ที่เป็นดอกเบี้ย หรือเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย เพราะไม่ใช่เงินที่คำนวณจากเงินต้นโดยใช้อัตราและระยะเวลาที่กำหนดโดยนิติกรรมหรือกฎหมายใด ๆ แต่สัญญาได้กำหนดเงินต้นอ้างอิงและอัตราดอกเบี้ยตามที่คู่สัญญาตกลงเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการคำนวณว่าคู่สัญญาฝ่ายใดต้องชำระเงินจำนวนเท่าใดให้แก่อีกฝ่ายเท่านั้น
ทั้งนี้ ในขณะทำสัญญา คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายยังไม่ทราบว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ชำระเงิน รวมถึงไม่ทราบจำนวนเงินที่คู่สัญญาฝ่ายนั้นต้องจ่าย ต่างกับกรณีดอกเบี้ยที่ฝ่ายลูกหนี้ทราบล่วงหน้าว่ามีภาระต้องชำระให้แก่เจ้าหนี้ในจำนวนเท่าใด
ดังนั้น เงินที่ได้จากสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย จึงไม่อาจถือเป็นเงินได้ที่เป็นดอกเบี้ยหรือเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย คำพากษาของศาลจึงชอบแล้ว
อนึ่ง กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการตีความกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้ในการนำเสนอมีเพียงวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น
พราว พืชมงคล