ถอดคำพิพากษาภาษีอากร EP.23 ภาษีกรมสรรพากร ประเภทภาษีเงินได้

ถาม: กรณีบริษัทกู้ยืมเงินมาเพื่อซื้อหุ้นและที่ดิน ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินดังกล่าวสามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ อย่างไร

ตอบ: หุ้นและที่ดินถือเป็นทุนรอนที่บริษัทมีไว้ใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการของบริษัทต่อไป เงินกู้ยืมที่บริษัทจ่ายเป็นค่าซื้อหุ้นและที่ดินจึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน เพราะเป็นรายจ่ายที่ทำให้บริษัทได้หุ้นและที่ดินมาโดยตรง โดยดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ยืมดังกล่าวถือเป็นรายจ่ายอันเป็นผลโดยตรงที่ต่อเนื่องจากการกู้ยืมเงินจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าซื้อหุ้นและที่ดินอันเป็นทรัพย์สินที่เป็นต้นทุนของบริษัท ดังนั้นดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินของบริษัทมาซื้อหุ้นและที่ดินจึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนซึ่งต้องห้ามมิให้ลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3291/2547

การที่โจทก์กู้ยืมเงินมาเพื่อซื้อหุ้นและที่ดิน หุ้นและที่ดินที่ซื้อมาย่อมตกเป็นทรัพย์สินของโจทก์ถือเป็นทุนรอนของโจทก์เพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการของโจทก์ต่อไป เงินกู้ยืมที่โจทก์จ่ายเป็นค่าซื้อหุ้นและที่ดินนั้นจึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (5) เพราะเป็นรายจ่ายที่ทำให้โจทก์ได้หุ้นและที่ดินมาโดยตรง ดอกเบี้ยอันเกิดจากการกู้ยืมดังกล่าว แม้จะไม่ใช่รายจ่ายที่โจทก์จ่ายเป็นค่าซื้อหุ้นและที่ดินโดยตรง แต่ดอกเบี้ยนั้นก็เกิดจากการกู้ยืมเงินมาซื้อหุ้นและที่ดินซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องจ่าย เมื่อโจทก์ทำการกู้ยืมเงินมาจนกว่าจะชำระต้นเงินเสร็จ ดอกเบี้ยดังกล่าวถือเป็นรายจ่ายอันเป็นผลโดยตรงที่ต่อเนื่องจากการกู้ยืมเงินของโจทก์ จึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าซื้อหุ้นและที่ดินอันเป็นทรัพย์สินที่เป็นต้นทุนของโจทก์ ดังนั้นดอกเบี้ยซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินของโจทก์มาซื้อหุ้นและที่ดินจึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนที่ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5)

ถอดคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 949/2509

รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (5) มิใช่หมายถึงรายจ่ายที่บริษัทได้รับประโยชน์จากรายจ่ายเท่านั้น แต่ต้องเป็นรายจ่ายที่ยังเกิดเป็นทุนรอนของบริษัทขึ้นมาลักษณะที่จะเป็นทุนรอนของบริษัทขึ้นมาก็คือเป็นทรัพย์สินของบริษัท รายจ่ายที่โจทก์จ่ายไปในการสร้างท่าเรือ สร้างทางแยก และสร้างถนนที่ไม่บังเกิดเป็นทุนรอน หรือทรัพย์สินของบริษัท จึงไม่ใช่รายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (5)