ถอดคำพิพากษาภาษี Ep.20 ภาษีกรมสรรพากร ประเภทภาษีเงินได้

ถาม: กรณีบริษัทในประเทศไทยซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ให้แก่บริษัทในต่างประเทศได้หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด บริษัทในประเทศไทยจะมีสิทธิขอคืนภาษีซึ่งได้หักและนำส่งไว้เกินได้หรือไม่ อย่างไร

ตอบ: หากปรากฏว่าบริษัทในประเทศไทยได้คืนเงินในส่วนที่หักไว้เกินให้แก่บริษัทในต่างประเทศ และยื่นคำร้องต่อสำนักงานสรรพากรภาคให้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ร.อ.01) ให้แก่บริษัทในต่างประเทศในอัตราที่ถูกต้องแล้ว กรณีย่อมถือได้ว่าบริษัทในต่างประเทศได้ชำระภาษีไว้ครบถ้วนแล้ว บริษัทในประเทศไทยจึงเป็นผู้เสียประโยชน์จากการชำระหรือนำส่งภาษีไว้เกินตามข้อ 4 (5) แห่งระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ. 2539 ดังนั้น บริษัทในประเทศไทยจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีตามประมวลรัษฎากรมาตรา 27 ตรี ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4725/2565

เงินค่าตอบแทนที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัท B สิงคโปร์ เป็นเงินค่าแห่งลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40(3) อันเป็นค่าสิทธิตามความในข้อ 12 วรรคสอง (ก) แห่ง DTA ไทย-สิงคโปร์ ซึ่งกำหนดให้เรียกเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 5 แต่ปรากฏว่าโจทก์ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินค่าตอบแทนดังกล่าวเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ต่อมาโจทก์ได้โอนเงินให้แก่บริษัท B สิงค์โปร์ เพื่อชดเชยเงินภาษีส่วนที่หักไว้เกินแล้ว แม้ประมวลรัษฎากรมาตรา 27 ตรี ไม่ได้กำหนดนิยามของคำว่า “ผู้มีสิทธิขอคืน” ไว้ แต่จำเลยมีระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ. 2539 ข้อ 4 ซึ่งได้ให้นิยามของคำว่า “ผู้ขอคืน” ไว้หมายความว่า (1) ผู้เสียภาษีอากรซึ่งได้ชำระภาษีอากรไว้เกิน หรือผิด หรือซ้ำ (2) ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เกิน หรือมีภาษีเกินเนื่องจากได้รับการเครดิตภาษี (3) ผู้ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีแต่ได้ชำระภาษีไว้ หรือถูกหักภาษีไว้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ (4) ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ที่นำเงินของตนส่งภาษีไว้ผิดหรือซ้ำ (5) ผู้เสียประโยชน์จากการชำระหรือนำส่งภาษีไว้เกิน หรือผิด หรือซื้อ หรือโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย เมื่อโจทก์เป็นผู้จ่ายเงินได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40(3) จากประเทศไทยให้แก่บริษัท B ที่สิงคโปร์ โจทก์จึงมีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้ที่จ่ายให้แก่บริษัท B สิงคโปร์ตามอัตราที่กฎหมายกำหนดแล้วนำส่งให้แก่จำเลยตามประมวลรัษฎากรมาตรา 70 การที่โจทก์โอนเงินในส่วนที่หักไว้เกินให้แก่บริษัท B สิงคโปร์ และจำเลยได้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราที่ถูกต้องให้แก่บริษัท B สิงคโปร์แล้ว เท่ากับจำเลยยอมรับว่าบริษัท B สิงคโปร์ ได้ชำระภาษีไว้ครบถ้วนแล้ว ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เสียประโยชน์จากการชำระหรือนำส่งภาษีไว้เกิน ดังนั้นโจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีตามประมวลรัษฎากรมาตรา 27 ตรี