ถอดคำพิพากษาภาษี ep.16 ภาษีกรมสรรพากร ประเภทภาษีเงินได้

ถาม: การที่ลูกจ้างได้รับใบสําคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น (Warrant) จากนายจ้าง โดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่นายจ้าง ต้องเสียภาษีหรือไม่ อย่างไร

ตอบ: ใบสําคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น (Warrant)  คือ ตราสารที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการซื้อหุ้นที่ใบสำคัญแสดงสิทธิฯ นั้นอ้างอิงอยู่ ตามราคาใช้สิทธิ จำนวนที่ให้ใช้สิทธิ และภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งการที่ลูกจ้างได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิฯ นั้นก็ทำให้ลูกจ้างมีสิทธิซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าราคาปกติ

ดังนั้นใบสําคัญแสดงสิทธิฯ จึงถือเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน อันถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 และมาตรา 40 (1) ลูกจ้างจึงต้องนำเงินได้พึงประเมินในส่วนนี้มาเสียภาษีด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15360/2557 การที่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญจากบริษัท ช. ซึ่งเป็นนายจ้าง โดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่นายจ้าง ถือว่าโจทก์ได้รับเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 ประกอบมาตรา 40 เพราะใบสำคัญแสดงสิทธิฯ เป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่โจทก์ได้รับจากนายจ้างซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12847/2557 จำเลยได้ขอคืนภาษีโดยอ้างว่าชำระไว้เกิน เพราะใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นบริษัท ช. ไม่ถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินที่จำเลยที่ 1 จะต้องเสียภาษี และเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับคืนภาษีจึงคืนเงินภาษีให้ ต่อมาโจทก์ตรวจสอบเห็นว่า ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี จึงแจ้งให้จำเลยทั้งสองคืนเงินภาษีที่ได้รับคืนไปแก่โจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ยอมคืน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาเงินค่าภาษีอากรที่มีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31