ถอดคำพิพากษาภาษี EP2 การหักกลบลบหนี้ค่าภาษีและเงินเพิ่ม

ถาม : เจ้าพนักงานสรรพากรสามารถหักกลบลบหนี้โดยการนำเงินภาษีที่มีสิทธิได้รับคืนไปหักชำระภาษีบางส่วนและนำไปหักในส่วนเงินเพิ่มด้วย ได้หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่ได้ เนื่องจากเงินเพิ่มมีลักษณะเป็นการลงโทษผู้มีหน้าที่เสียภาษีกรณีไม่ชำระภาษีหรือชำระภาษีไม่ครบถ้วน เงินเพิ่มจึงไม่ใช่ดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เจ้าหน้าที่สรรพากรจึงไม่มีสิทธิหักกลบลบหนี้ภาษีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีสิทธิได้รับคืนกับหนี้เงินเพิ่มก่อนหนี้ภาษี (หนี้ประธาน) ได้ตามมาตรา 329 วรรคหนึ่งแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สรรพากรต้องหักกลบลบหนี้ภาษีก่อน หากมีส่วนที่เหลือจึงหักกลบลบหนี้เงินเพิ่ม เพราะหนี้ภาษีถือเป็นหนี้ที่ตกหนักที่สุดอันต้องปลดเปลื้องไปก่อน ตามมาตรา 328 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

อีกทั้ง กรมสรรพากรได้กำหนดแนวทางไว้ให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติให้ต้องชำระหนี้ภาษีก่อน หากมีส่วนที่เหลือ ให้ชำระเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามลำดับ ทั้งนี้ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.98/2543

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9145/2560 เงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากรมิใช่ดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับมาหักชำระหนี้เงินเพิ่มก่อนได้ กรณีนี้เป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระหนี้พร้อมกัน หนี้ค่าภาษีซึ่งเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดภาระและเป็นฐานในการคำนวณเงินเพิ่ม จึงเป็นหนี้รายที่ตกหนักที่สุด ย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคสอง จำเลยจึงต้องนำเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนไปหักชำระค่าภาษีอากรให้หมดก่อนแล้วจึงไปหักในส่วนเงินเพิ่ม