ถาม : ค่าโดยสารรถแท็กซี่ รถขนส่งสาธารณะ หรือรถขนส่งอื่น ๆ ที่ไม่มีใบเสร็จรับเงิน สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ อย่างไร
ตอบ : บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำค่าโดยสารดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายได้ หากได้จัดทำเอกสารประกอบการลงบัญชีซึ่งต้องมีคำอธิบายรายการ (รายละเอียดของรายจ่าย) วิธีการและการคำนวณต่าง ๆ (ถ้ามี) และลายมือชื่อของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อนุมัติรายการ เพื่อพิสูจน์ว่าใครเป็นผู้รับ จึงไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2519/2565 โดยปกติผู้ให้บริการรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์รับจ้างจะไม่มีการออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้รับบริการ โจทก์จึงไม่อาจมีใบเสร็จรับเงินค่าโดยสารรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์มาแสดงได้ แต่การที่โจทก์เพียงแต่จัดทำยอดรวมสรุปค่าใช้จ่ายค่าโดยสารรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์รับจ้างโดยไม่ปรากฎรายละเอียดของรายจ่าย ประกอบกับประกาศกรมทะเบียนการค้า เรื่อง กำหนดชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำ ข้อความและรายการที่ต้องมีในบัญชี ระยะเวลาที่ต้องลงรายการในบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี พ.ศ. 2544 ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ซึ่งกำหนดว่า เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี ได้แก่ บันทึก หนังสือ หรือเอกสารใด ๆ ที่ใช้เป็นหลักฐานในการลงรายการในบัญชี ซึ่งแยกได้เป็น 3 ประเภท คือ เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีที่จัดทำขึ้นโดยผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี เพื่อใช้ในกิจการของตนเอง ซึ่งเอกสารดังกล่าวต้องมี 1. คำอธิบายรายการ 2. วิธีการและการคำนวณต่าง ๆ (ถ้ามี) และ 3. ลายมือชื่อของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อนุมัติรายการ ดังนั้น ค่าโดยสารรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์รับจ้างที่โจทก์อ้างว่าผู้ให้บริการไม่ออกใบเสร็จรับเงินให้ จึงต้องมีการจัดทำเอกสารประกอบการลงบัญชีเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เมื่อโจทก์เพียงแต่จัดทำยอดรวมสรุปค่าใช้จ่ายซึ่งไม่ปรากฎรายละเอียดตามข้อกำหนดข้างต้น จึงทำให้ค่าโดยสารรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์รับจ้างเป็นรายจ่ายที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ ซึ่งถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (18)