จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกันยายน 2561

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’s Tax Newsletter

ฉบับที่ 93 กันยายน 2561

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกิจการของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)

2. หลักเกณฑ์การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้จากการขายทองคำแท่งตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ฯ

3.ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายทองคำแท่งตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ฯ

4. หลักเกณฑ์การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีบริจาคให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ

5. หลักเกณฑ์การอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมือง

ข่าวภาษี

1. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ … (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปเป็นค่าที่พัก

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่      2043/2560

ระหว่าง                           บริษัท จ                   โจทก์

กรมสรรพากร          จำเลย

เรื่อง                               ค่าใช้จ่ายในการจัดหางาน

  

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกิจการของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 660) พ.ศ.2561 กำหนดให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกิจการของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) เฉพาะการให้สินเชื่อเพื่อการจัดหาและพัฒนาที่ดินหรือเพื่อสนับสนุนให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินกําหนด และการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากําไร ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการสนับสนุนสถาบันดังกล่าว ที่ดำเนินกิจการช่วยเหลือเกษตรกรหรือผู้ยากจนให้มีที่ดินในการประกอบอาชีพและอยู่อาศัย พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทํากิน ตลอดจนเป็นการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม

 

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2N4Jxru

 

2. หลักเกณฑ์การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้จากการขายทองคำแท่งตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าฯ

            พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 661) พ.ศ.2561 กำหนดให้บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้จากการขายทองคําแท่งตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งกระทําในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เฉพาะกรณีที่มีการโอนทองคําแท่งด้วยวิธีการโอนทางบัญชีจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อ ได้รับยกเว้นไม่ต้องนําเงินได้พึงประเมินนั้นมารวมคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เมื่อถึงกําหนดยื่นรายการ หากเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

            1. ยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากรในอัตราร้อยละ 15 ของผลต่างระหว่างราคาขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีทองคําแท่งเป็นสินค้าอ้างอิงซึ่งกระทําในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับราคาทองคําแท่งสําหรับการส่งมอบทองคําแท่ง ณ วันที่แจ้งความประสงค์และได้จับคู่ส่งมอบทองคําแท่ง หรือราคาทองคําแท่งสําหรับการส่งมอบทองคําแท่ง ณ วันครบกําหนดอายุสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าว แล้วแต่กรณีและ

            2. ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

            นอกจากนี้ยังให้ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับเงินชดเชยจากการเลื่อนการรับมอบหรือการส่งมอบทองคําแท่งตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งกระทําในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และยอมให้ผู้จ่ายเงินได้นั้นหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้จากเงินชดเชยดังกล่าว เมื่อถึงกําหนดยื่นรายการ ได้รับยกเว้นไม่ต้องนําเงินชดเชยดังกล่าวมารวมคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ดังกล่าวไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

            ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2ONb3ug

 

3. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายทองคำแท่งตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ฯ

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 662) พ.ศ. 2561 กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายทองคำแท่งตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งกระทําในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทั้งนี้ เฉพาะทองคําแท่งที่มีความบริสุทธิ์ 99.99 % ที่ยังไม่ได้ประกอบขึ้นเป็นทองรูปพรรณหรือของรูปพรรณ

 

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2L6GlKj

 

4. หลักเกณฑ์การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีบริจาคให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ

            ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2561 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีบริจาคเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้า ให้แก่สถานศึกษาตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 654) พ.ศ. 2561 ดังนี้

            1. กรณียกเว้นภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดา ผู้มีเงินได้จะต้องบริจาคให้แก่สถานศึกษา ฯเป็นเงินเท่านั้น

            2. กรณียกเว้นภาษีเงินได้ของนิติบุคคล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนบริจาคให้แก่สถานศึกษา ฯ จะบริจาคเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าก็ได้ หากบริจาคเป็นทรัพย์สินหรือสินค้า ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

            กรณีบริจาคเป็นทรัพย์สินหรือสินค้า ให้ถือมูลค่าดังต่อไปนี้เป็นมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้น

            (1) กรณีจัดหาทรัพย์สินหรือสินค้ามาเพื่อการบริจาค ต้องมีหลักฐานการได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือสินค้าที่ระบุจำนวนและมูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้านั้น โดยให้ถือว่ามูลค่าตามหลักฐานดังกล่าว

            (2) กรณีบันทึกบัญชีทรัพย์สินที่จะนำมาบริจาคดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ให้ถือเอามูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือจากการคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน

            (3) กรณีเป็นผู้ผลิตสินค้าเพื่อขายหรือเป็นผู้ขายสินค้า ให้ถือเอามูลค่าต้นทุนของสินค้าดังกล่าวที่สามารถพิสูจน์ได้ เป็นมูลค่าของสินค้าที่มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้

            ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

            ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2N0FhcI

5. หลักเกณฑ์การอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมือง

            ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 324) กำหนดให้ผู้เสียภาษีที่มีความประสงค์จะอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมือง จะต้องเป็นบุคคลธรรมดา มีสัญชาติไทย และเมื่อคำนวณภาษีตามประมวลรัษฎากรตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีแล้วมีภาษีที่ต้องชำระ ผู้เสียภาษีสามารถแสดงเจตนาอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองได้ไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระนั้น และจะต้องไม่เกิน 500 บาท โดยให้ใช้บังคับสำหรับการแสดงเจตนาอุดหนุนเงินภาษีในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี พ.ศ. 2561 ที่ต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป

            ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2NoLdwx

ข่าวภาษี

1. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ … (พ.ศ. …) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปเป็นค่าที่พัก

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ … (พ.ศ. …) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมให้กับผู้เสียภาษีที่เป็นบุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปเป็นค่าที่พักในสถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในอาคารเดียวกันหรือหลายอาคารรวมกันไม่เกิน 4 ห้องและมีจำนวนผู้พักรวมกันทั้งหมดไม่เกิน 20 คน ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นใดโดยมีค่าตอบแทน ตามข้อ 1 แห่งกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะค่าที่พักที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2561

 

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2nXgcV1

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่      2043/2560

ระหว่าง                           บริษัท จ               โจทก์

กรมสรรพากร      จำเลย

เรื่อง                               ค่าใช้จ่ายในการจัดหางาน

 

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในสัญญาจัดหางานเพื่อให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศ (แบบ จง.33) และใบเสร็จรับเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายสำหรับผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ (แบบ จง.37) โจทก์ได้รับเงินจากคนหางานเพื่อไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล เป็นค่าบริการจัดหางานรายละ 5,000 บาท ค่าใช้จ่ายรายละ 20,000 บาท และประเทศญี่ปุ่นเป็นค่าบริการจัดหางานรายละ 22,400 บาท ค่าใช้จ่ายรายละ 44,800 บาท โดยโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายที่โจทก์เรียกเก็บจากคนหางานดังกล่าวมิใช่ค่าใช้จ่ายในการจัดหางาน ประกอบกับระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากคนหางาน พ.ศ.2547 ข้อ 9 ก็ระบุว่า ผู้รับอนุญาตจัดหางานจะเรียกหรือรับค่าใช้จ่ายส่วนตัวของคนหางานจากคนหางานไม่ได้ ดังนี้ จึงฟังไม่ได้ว่า ค่าใช้จ่ายตามแบบ จง.33 และแบบ จง.37 เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวของคนหางาน ค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการจัดหางานตามแบบดังกล่าว จึงเป็นเงินที่โจทก์ได้รับจากคนหางานเพื่อดำเนินการจัดหางานให้แก่คนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ ไม่ว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนหางานหรือไม่ก็ตาม เงินค่าใช้จ่ายในการจัดหางานทั้งจำนวนจึงเป็นรายได้ที่โจทก์ได้รับจากกิจการจัดหางานของโจทก์ที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 แห่ง ประมวลรัษฎากร และเงินที่โจทก์ได้รับมาจากคนหางานทั้งจำนวนดังกล่าวย่อมถือเป็นมูลค่าทั้งหมดที่โจทก์ผู้ประกอบการได้รับจากการให้บริการในราชอาณาจักรอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 (1) แห่ง ประมวลรัษฎากร

ความเห็น

ผู้เขียนเห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าว ด้วยเหตุว่า การที่โจทก์เรียกเก็บค่าบริการจากคนหางานตามสัญญาจัดหางานเพื่อให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศและออกใบเสร็จรับเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายดังกล่าว ถือว่าโจทก์มีรายได้จากการประกอบกิจการ เมื่อโจทก์ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดว่า เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวของคนหางาน ประกอบกับโจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บจากคนหางานได้ตามข้อ 9 ของระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากคนหางาน พ.ศ.2547 จึงต้องถือว่า เงินที่โจทก์เรียกเก็บจากคนหางานเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหางานตามข้อ 8 ของระเบียบข้างต้นที่โจทก์ได้รับจากการประกอบกิจการจัดหางาน โจทก์จึงต้องนำรายได้ดังกล่าวมารับรู้รายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากรประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.1/2528

นอกจากนี้รายได้ที่โจทก์ได้เรียกรับจากคนจัดหางาน เป็นรายได้ที่เกิดจากการดำเนินการอันอาจหาประโยชน์จากมูลค่าของการจัดหางาน เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) ประกอบกับมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร อันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อความรับผิดเกิดขึ้น อีกทั้ง  กรณีที่โจทก์ได้ติดต่อประสานงานเพื่อให้คนหางานสามารถไปทำงานในต่างประเทศได้นั้นก็ไม่เข้าลักษณะการให้บริการในประเทศไทย ที่ส่งผลของบริการไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด ที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา ร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105) แต่อย่างใด โจทก์ต้องนำค่าบริการดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายด้วย การที่โจทก์ต้องรับผิดจากการกระทำดังกล่าวจึงชอบแล้ว

 

เมษยา  สีลาวรรณ

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760
Email: budhimak@dlo.co.th

บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

   

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th