• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกรกฎาคม 2559

จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกรกฎาคม 2559

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 67 เดือนกรกฎาคม 2559

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับรถยนต์ต้นแบบหรือรถจักรยานยนต์ต้นแบบให้แก่ผู้นำเข้า

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 613) พ.ศ.2559 กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้นำเข้าซึ่งเป็นผู้วิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะยานยนต์ที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพสามิต สำหรับการนำเข้ารถยนต์ต้นแบบหรือรถจักรยานยนต์ต้นแบบเพื่อวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะที่ได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิตตามกฎหมายสรรพสามิต

ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/sGxoZz

หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าใช้จ่ายฯ ช่วงสงกรานต์

ตามที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 315 (พ.ศ. 2559) กำหนดให้เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าบริการธุรกิจนำเที่ยวหรือค่าที่พักในโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ในระหว่างวันที่ 9 – 17 เมษายน 2559  เป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาทนั้น

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 268) พ.ศ.2559 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการยกเว้นเงินได้ดังกล่าวให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น โดยมีหลักเกณฑ์ เพิ่มเติมดังต่อไปนี้

1. กรณีโสด ได้รับยกเว้นเงินได้ไม่เกิน 15,000 บาท

2. กรณีมีคู่สมรส

– มีเงินได้ฝ่ายเดียว ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นเงินได้ไม่เกิน 15,000 บาท

– ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้  แต่ละฝ่ายได้รับยกเว้นเงินได้ไม่เกิน 15,000 บาท

3. ต้องไม่นำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีไปหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/j3Nt2l, http://goo.gl/yQdL9i และ https://goo.gl/4gwcZD

ขยายเวลาให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อการท่องเที่ยวในประเทศ

กฎกระทรวง ฉบับที่ 316 (พ.ศ. 2559) กำหนดให้ขยายเวลาการได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้บุคคลธรรมดาเท่าที่จ่ายเป็นค่าบริการหรือค่าที่พัก สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศที่ได้จ่ายตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึง 31 ธันวาคม 2559 (เดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2558)

ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีประกาศกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/UVlwLW และ http://goo.gl/ekNtte

ขยายเวลาให้กิจการ BOI ที่ลงทุนมากกว่า 1 โครงการ ยื่นแบบปรับปรุงการคำนวณกำไร

ประกาศกระทรวงการคลัง ฉบับลงวันที่ 16 มิถุนายน 2559  กำหนดให้ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล และขยายกำหนดเวลาการยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มากกว่า 1 โครงการ ที่ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ไม่ถูกต้อง เนื่องจากมิได้นำรายได้และรายจ่ายของทุกโครงการในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันมาคำนวณเพื่อให้ได้ยอดกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

สามารถยื่นรายการพร้อมชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2559 ถึง 1 สิงหาคม 2559 โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม ทั้งนี้ หากมีการอุทธรณ์หรือฟ้องร้องคดีในประเด็นดังกล่าวไว้ ต้องถอนอุทธรณ์หรือถอนฟ้องในประเด็นดังกล่าวก่อน จึงจะได้รับสิทธิ

กรณีนิติบุคคลได้ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล เบี้ยปรับและเงินเพิ่มไว้แล้ว และพ้นกำหนดเวลายื่นคำร้องขอคืนตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรแล้วนั้น ให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นคำร้องขอคืนเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ออกไปเป็นภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2559

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/Rdhgg7

สรรพากรเตือน นิติบุคคลที่จดแจ้งระบบบัญชีเดียวต่อกรมสรรพากรให้ยื่น (ภ.ง.ด. 50) ภายในกำหนด

กรมสรรพากรได้ออกคำชี้แจง (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2559 เพื่อแจ้งให้นิติบุคคลที่จดแจ้งเข้าสู่ระบบบัญชีเดียวฯ ที่ยังไม่ยื่น (ภ.ง.ด. 50) ของปี 2558 ภายในกำหนด ให้นิติบุคคลดังกล่าวดำเนินการภายในกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้

                       1. กรณีมีรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2558 ให้ยื่น (ภ.ง.ด. 50) ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2559 พร้อมชำระภาษี เงินเพิ่ม และค่าปรับตามกฎหมาย

                       2. กรณีมีรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มต้นหลังวันที่ 1 มกราคม 2558 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ให้ยื่นแบบ (ภ.ง.ด. 50) ภายในกำหนดเวลาที่จะต้องยื่นแบบ (ภ.ง.ด. 51) ของรอบระยะเวลาบัญชีถัดไป พร้อมชำระภาษี เงินเพิ่ม และค่าปรับตามกฎหมาย

           หากนิติบุคคลดังกล่าวมิได้ยื่นแบบ (ภ.ง.ด.50) ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจเพิกถอนการได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวนฯ ตามพระราชกำหนดฯ และมีสิทธิประเมินภาษีย้อนหลังสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 ได้ต่อไป

           ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/X1zudV

ข่าวภาษี

มาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ผ่านกองทรัสต์ฯ

ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงตามมาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ผ่านกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดยลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดจากเดิมอัตราร้อยละ 2 เป็นอัตราร้อยละ 0.01 แต่อย่างสูงไม่เกิน 100,000 บาท ในกรณีดังต่อไปนี้

1.    สำหรับอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป

1.1 การแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นกองทรัสต์

1.2 การเปลี่ยนตัวทรัสตีรายเดิมเป็นทรัสตีรายใหม่

2.    สำหรับอาคารชุด

2.1 การแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นกองทรัสต์

2.2 การเปลี่ยนตัวทรัสตีรายเดิมเป็นทรัสตีรายใหม่

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/ye0XJZ

รัฐบาลยังไม่ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม กท. การคลังกำลังศึกษาการการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะยังไม่ปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจากปัจจุบันจัดเก็บในอัตราร้อยละ 7 ที่จะครบกำหนดการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในสิ้นเดือนกันยายน 2559 แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น เพราะยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม

สำหรับการดูแลทางด้านสังคมให้ยั่งยืน รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังศึกษาการจูงใจทางภาษีอากร เพื่อสร้างงานให้กับผู้สูงอายุ หรือคนวัยเกษียณที่ออกจากงานไปแล้ว เพื่อให้บริษัทเอกชนนำค่าใช้จ่ายในการจ้างงานมาใช้ประโยชน์ทางภาษีอากรต่อไป ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้

ติดตามรายละเอียดได้จาก  http://goo.gl/0zxl2r

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่  15100/2558

ระหว่าง               บริษัท ท.                                                          โจทก์

กับ                     กรมสรรพากร                                                    จำเลย

เรื่อง                  การนำผลขาดทุนสะสมของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และผลขาดทุนของกิจการที่ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลมาใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิของกิจการ

 

พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ไม่ได้กำหนดวิธีการคำนวณผลกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้สำหรับบริษัทซึ่งประกอบกิจการทั้งที่ได้รับและไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน หรือบริษัทที่ประกอบกิจการเฉพาะที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ดังนั้น การคำนวณผลกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของประมวลรัษฎากร

โจทก์มีผลขาดทุนสะสมสำหรับกิจการที่โจทก์ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 2540 จำนวน 1,558 ล้านบาท โจทก์มีสิทธินำผลขาดทุนสะสมดังกล่าวไปใช้กับกิจการที่ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 2541 ถึงปี 2545 ได้ ดังนั้น เมื่อหักกับกำไรใน 2541 โจทก์จะเหลือผลขาดทุนสะสมสำหรับกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล จำนวน 925 ล้านบาท

ในปี 2545 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่โจทก์ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล โจทก์มีกำไร 529 ล้านบาท แต่เมื่อรอบระยะเวลาบัญชีก่อนหน้านี้ คือ ปี 2542 ถึง 2544 กิจการของโจทก์ที่ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลมีผลขาดทุน 17 ล้านบาท, 343 ล้านบาท และ 6 ล้านบาท ตามลำดับ โจทก์ต้องนำผลขาดทุนของกิจการที่ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 2542 ถึงปี 2544 มาใช้ก่อนตามลำดับ จากนั้นจึงมีสิทธินำเอาผลขาดทุนสะสมของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 2540 ที่เหลืออยู่ 925 ล้านบาทมาใช้ได้ ด้วยเหตุนี้ ในปี 2545 กิจการของโจทก์ที่ได้รับลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงไม่มีกำไร และมีผลขาดทุนสะสมเหลืออยู่ 762 ล้านบาท

นอกจากนี้ เมื่อนำผลขาดทุนสะสมที่เหลืออยู่ 762 ล้านบาทไปหักกับกำไรของกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 2545 จำนวน 342 ล้านบาทแล้ว ทำให้ปี 2545 กิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่มีกำไร และมีผลขาดทุนสะสมเหลืออยู่อีก 420 ล้านบาท อย่างไรก็ดี โจทก์ไม่มีสิทธินำผลขาดทุนสะสมที่เหลืออยู่ในปี 2540 ไปใช้ได้อีก เพราะเกินกำหนดระยะเวลา 5 ปีนับแต่กำหนดเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 มาตรา 31 วรรคสี่แล้ว

ความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติม

จากคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าโจทก์สามารถเลือกนำผลขาดทุนสะสมของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมาลงเป็นรายจ่ายก่อนผลขาดทุนของกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมาได้หรือไม่ และกรณีจะส่งผลอย่างไรหากนำผลขาดทุนของกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปลงรายจ่ายผิดรอบระยะเวลาบัญชี

คดีนี้ โจทก์มีผลขาดทุนสะสมจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน  และมีผลขาดทุนจากกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับสิทธิลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลาอีก 5 ปี โดยสิทธิลดหย่อนอัตราภาษีดังกล่าวเป็นเพียงสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมหลังจากสิ้นสุดเวลาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเท่านั้น หาใช่วิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล เมื่อโจทก์ต้องคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิในปีที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน กรณีจึงต้องปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร มิใช่พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520

โดยที่มาตรา 31 วรรค 4 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 กำหนดให้นำผลขาดทุนจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมาใช้ได้ไม่เกิน 5 ปีนับแต่สิ้นสุดระยะเวลาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน โดยเลือกหักจากกำไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งก็ได้ หมายความว่า หากกิจการมีผลขาดทุนสะสมเหลืออยู่ กิจการสามารถนำไปหักจากกำไรสุทธิได้จนกว่าจะหมดภายใน 5 รอบระยะเวลาบัญชีนับแต่สิ้นสุดการได้รับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งกรณีก็ไม่ได้กำหนดวิธีการในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิแต่อย่างใด เป็นเพียงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อสิ้นสุดเวลาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ดังนั้น จึงต้องนำผลขาดทุนของกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนซึ่งคำนวณตามประมวลรัษฎากรมาลงเป็นรายจ่ายก่อน หากยังมีกำไรสุทธิเหลือ จึงนำสิทธิประโยชน์ของผลขาดทุนของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวมาใช้

เมื่อหลักต้องพิจารณาบทบัญญัติของประมวลรัษฎากรแล้ว มาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดห้ามไม่ให้นำผลขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ๆ มาลงรายจ่าย เว้นแต่ผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบัน หมายความว่า หากกิจการมีผลขาดทุนเกิดขึ้น กิจการจะสามารถนำผลขาดทุนนั้นมาใช้ได้ภายในระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีจากรอบระยะเวลาบัญชีที่ขาดทุน ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรา 65 และมาตรา 65 ตรี (9) แล้ว กฎหมายกำหนดให้ใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิ และกำหนดห้ามมิให้นำรายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นมาลงรายจ่าย เว้นแต่ในกรณีที่ไม่สามารถจะลงรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็อาจลงรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีถัดไปได้

จากข้อกฎหมายข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า หากกิจการมีผลขาดทุนในรอบระยะเวลาบัญชีใดและต่อมายังคงประกอบกิจการขาดทุน กิจการก็ยังไม่สามารถนำผลขาดทุนมาใช้ได้เนื่องจากไม่มีกำไรสุทธิที่สามารถนำรายจ่ายไปหักได้ แต่หากมีกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็ต้องนำผลขาดทุนมาใช้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นทันทีเนื่องจากเป็นรอบระยะเวลาบัญชีที่มีสิทธินำมาลงเป็นรายจ่ายแล้ว ดังนั้น หากกิจการไม่นำผลขาดทุนมาลงรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีกำไรดังกล่าว ก็เท่ากับว่ากิจการไม่นำไปใช้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ตนมีสิทธิ ซึ่งจะไม่สามารถนำไปลงรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นได้ ทั้งนี้ ยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3185/2522 ที่ตัดสินในทำนองเดียวกัน

นางสาวชัชวลี ไมตรี
ที่ปรึกษาภาษีอากร

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใดๆเกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9753 Email:  budhimak@dlo.co.th, chatwaleem@dlo.co.th

    บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th

 

พุทธิมา เกิดศิริ

+662 680-9751

budhimak@dlo.co.th

 

ชัชวลี ไมตรี

+662 680-9760

chatwaleem@dlo.co.th