ครีเอทีฟคอมมอน สู่โลกแห่งการสร้างสรรค์เพื่อสาธารณะ

ในโลกยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน "สิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคล"
เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกคนให้ความสนใจ
และเรียกร้องให้รัฐบาลของตนปกป้องอย่างสุดกำลัง

แต่ในขณะเดียวกัน โลกยุคนี้ก็เป็นยุคที่ "ผู้สร้างงาน" เช่น นักแต่งเพลง
หรือนักเขียน มักไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานที่ตัวเองสร้าง อีกต่อไป
ก่อให้เกิดคำถามว่า "ผู้สร้างงาน" และ "ผู้เสพงาน" ควรมีสิทธิด้อยกว่า
"นายทุน"
เจ้าของลิขสิทธิ์ผู้จ่ายเงินสนับสนุนการสร้างและเผยแพร่งานสร้างสรรค์ชิ้น
นั้น หรือไม่ เพียงใด ?

ในสังคมไทยปัจจุบัน คลื่นวิทยุกระแสหลัก
ถูกครอบงำด้วยค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ไม่กี่ค่าย
ที่เน้นการผลิตเพลงพ็อปที่มีเนื้อหาและท่วงทำนองใกล้เคียงกันอย่างน่าเบื่อ
ออกอัลบั้มใหม่ที่มี เพลงใหม่เพียง 3-4 เพลง ที่เหลือเป็น "เวอร์ชั่น"
ต่างๆ ของเพลงเดียวกัน

บางค่ายชอบรณรงค์ให้คนเลิกซื้อ "แผ่นผี" แต่ตัวเองกลับเอาเพลงเก่า
มาเรียบเรียงให้นักร้องในค่ายร้องใหม่โดยไม่ให้เครดิตกับเจ้าของเพลงเดิม
แถมยังไม่อนุญาต
ให้ลูกค้าที่ซื้อซีดีก๊อบปี้เพลงไปฟังในเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเอง ทั้งๆ
ที่เรื่องนี้เป็นสิทธิของผู้บริโภคภายใต้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

ปัญหาหลักในแวดวงสร้างสรรค์ของประเทศไทยอาจยังอยู่ที่การละเมิดลิขสิทธิ์มาก
เกิน ไป โดยเฉพาะในยุคอินเทอร์เน็ตที่การ "ขโมย" งานอิเล็กทรอนิกส์ เช่น
เพลง งานเขียนบนเว็บไซต์ และรูปถ่าย
สามารถทำได้อย่างง่ายดายและหาตัวคนผิดยาก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการ
"เอียง" ไปสู่อีกข้างหนึ่งของตาชั่ง กล่าวคือ

การบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์อย่างเข้มงวด
และให้เจ้าของลิขสิทธิ์เรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์สูงๆ
จะทำให้ปัญหาทุกอย่างจบสิ้นลง เพราะการยอมให้เจ้าของลิขสิทธิ์
(ซึ่งโดยมากเป็นบริษัท) เรียก "ค่าลิขสิทธิ์"
แพงเกินเหตุจากทุกคนที่ต้องการใช้งานของพวกเขาในการสร้างสรรค์ งานใหม่ๆ
อาจทำให้เราต้องสูญเสียโอกาสที่จะได้เสพงานสร้างสรรค์ดีๆ
ไปอย่างน่าเสียดาย

เพราะผู้สร้างงานจำนวนมากที่มีความคิดสร้างสรรค์ดีเด่น
มักจะไม่มีเงินพอจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพื่อนำงานเก่าไปต่อยอดหรือดัดแปลงเป็นงาน
ใหม่ ดังนั้น ระบบลิขสิทธิ์ที่ "ดี" จึงไม่ใช่ระบบที่
ปกป้องคุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นระบบที่สร้าง
"สมดุล" ระหว่างการคุ้มครองสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์
และการส่งเสริมให้คนนำงานชิ้นนั้นไปใช้เพื่อสร้างสรรค์งานใหม่ๆ

พูดอีกนัยหนึ่งคือ ระบบลิขสิทธิ์ที่ดีต้องคุ้มครองสิทธิ โดยไม่บ่อนทำลายความคิดสร้างสรรค์

เมื่อคุณผลิตงานสร้างสรรค์ขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นงานเขียน บทเพลง
รูปถ่าย รูปวาด ฯลฯ งานนั้นจะถูกคุ้มครองภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์แบบ
"สงวนลิขสิทธิ์ 100%" โดยอัตโนมัติ ไม่ว่าคุณจะแจ้งต่อทางการหรือไม่
และไม่ว่า คุณจะแสดงเครื่องหมายบนงานของคุณหรือเปล่า
นี่เป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่อยากควบคุม
รูปแบบที่คนอื่นจะนำงานของพวกเขาไป "ใช้" ในทุกแง่ทุกมุม
ไม่ว่าจะเป็นการอ้างอิง จัดแสดง เผยแพร่ ก๊อบปี้ ดัดแปลง ฯลฯ

แต่ถ้าหากคุณอยากแบ่งปันงานของคุณให คนอื่นได้ใช้ง่ายๆ
โดยไม่ต้องขออนุญาตคุณก่อนทุกครั้งล่ะ ? เช่น
คุณอาจเป็นนักเขียนใหม่ที่อยากเผยแพร่งานฟรีบนเว็บไซต์เพื่อให้ชื่อ
"ติดตลาด" ก่อน และดังนั้นจึงอยากให้เจ้าของเว็บไซต์ต่างๆ
ตีพิมพ์งานของคุณบนเว็บให้คนอื่นอ่านฟรี
ตราบใดที่ให้เครดิตว่าคุณเป็นคนเขียนและไม่ดัดแปลงงานของคุณ

หรือไม่คุณอาจเป็นนักดนตรีใจกว้างที่อยากอำนวยความสะดวกนักดนตรีคนอื่น
สามารถนำงานของคุณไปรีมิกซ์หรือดัดแปลงเพื่อใช้ในงานใหม่ๆได้
โดยไม่ต้องขออนุญาตคุณก่อน
ตราบใดที่พวกเขาให้เครดิตคุณในฐานะคนต้นคิดดนตรีบางท่อน

หรือไม่อีกที
คุณอาจเป็นอาจารย์วิชาวิทยาศาสตร์ที่อยากจะเผยแพร่ความรู้ที่คุณสังเคราะห์
และย่อยออกมาให้เข้าใจง่ายในงานเขียน
ต่อสาธารณชนให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่สนใจว่าใครจะให้เครดิต
หรือนำงานของคุณไปขายต่อหรือเปล่า

ครีเอทีฟคอมมอน (Creative Commons – http://creativecommons.org/)
คือรูปแบบ "สัญญาอนุญาต" (license agreement)
ที่ทุกคนนำไปใช้กับงานของตัวเองได้ฟรี
คิดค้นโดยองค์กรการกุศลชื่อเดียวกันซึ่งก่อตั้งโดยนักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญ
ด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่ง นำโดย ลอว์เรนซ์ เลสสิก
(Lawrence Lessig) อาจารย์กฎหมายประจำมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
ผู้รณรงค์แนวคิด "วัฒนธรรมเสรี" (free culture)

เป้าหมายของครีเอทีฟคอมมอนคือการ อนุญาตให้คนทั่วโลกสามารถเผยแพร่ จัดแสดง
ทำซ้ำ และโพสงานต่างๆ ลงในเว็บไซต์ได้
ตราบใดที่พวกเขาปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้กำหนด
ดังตัวอย่างข้างต้น

ครีเอทีฟคอมมอนพยายามสร้าง "พื้นที่ตรงกลาง" ที่อยู่ระหว่างโลกสองขั้ว
คือโลกแห่งการควบคุมที่สงวนลิขสิทธิ์ 100% อย่างเคร่งครัด
จนบั่นทอนแรงจูงใจที่จะรังสรรค์งานใหม่ๆ
(ซึ่งเป็นปัญหาของอเมริกาในปัจจุบัน)
และโลกแบบอนาธิปไตยที่คนไร้จรรยาบรรณและความรับผิดชอบ
ไม่มีใครเคารพในลิขสิทธิ์ซึ่งกันและกัน
(ซึ่งเป็นปัญหาที่เมืองไทยเราอาจกำลังประสบอยู่)

พูดอีกนัยหนึ่งคือ สัญญาอนุญาตแบบครีเอทีฟคอมมอน
ถูกสร้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการ
ของคนทุกคนที่เข้าใจว่านวัตกรรมและไอเดียใหม่ๆ
เกิดจากการต่อยอดไอเดียที่มีอยู่เดิม รูปแบบสัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอน
ช่วยให้ผู้สร้างงานสามารถรักษาลิขสิทธิ์ ไว้
แต่ในขณะเดียวกันก็อนุญาตให้คนอื่นใช้งานชิ้นนั้นภายใต้เงื่อนไขที่ผู้สร้าง
เป็นคนกำหนดเอง

กล่าวโดยสรุป สัญญาอนุญาตแบบครีเอทีฟคอมมอน
ช่วยให้ผู้สร้างสามารถเผยแพร่งานในลักษณะ "สงวนลิขสิทธิ์บางประการ" ได้
ไม่ต้องสงวนสิทธิ์ทั้ง 100% หรืออุทิศงานให้เป็นสมบัติสาธารณะ

ถึงแม้ว่าจะเป็น "สัญญา" ที่มีผลบังคับใช้
ตามกฎหมายในทุกประเทศที่มีกฎหมายลิขสิทธิ์
(เพราะเป็นเงื่อนไขที่เจ้าของลิขสิทธิ์กำหนดเอง)
สัญญาอนุญาตแบบครีเอทีฟคอมมอนก็เป็นสัญญาที่เข้าใจง่ายสำหรับทุกคนที่ไม่ใช่
นักกฎหมาย เพราะแต่ละรูปแบบมีถึงสามฉบับ ได้แก่

สัญญาฉบับอ่านง่าย (สำหรับคนทั่วไป), สัญญาฉบับกฎหมาย
(สำหรับการนำไปใช้ในกระบวนการยุติธรรม เช่น
เมื่อเกิดคดีฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์), และสัญญาฉบับภาษาคอมพิวเตอร์
(สำหรับให้โปรแกรมท่องเว็บต่างๆ เช่น เสิร์ชเอ็นจิ้นของกูเกิล "อ่าน"
ออกโดยอัตโนมัติ)

สัญญาอนุญาตแบบครีเอทีฟคอมมอนมีเงื่อนไขหลักสี่ข้อ
ผู้สร้างงานสามารถเลือกใช้ข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อรวมกันก็ได้ ได้แก่
"ยอมรับสิทธิ ของผู้สร้าง" (Attribution), "ไม่ใช้เพื่อการค้า"
(noncommercial), "ไม่แก้ไขต้นฉบับ" (no derivative works), และ
"ใช้สัญญาอนุญาต แบบเดียวกัน" (share alike)

ต่อไปนี้ ผู้เขียนจะลองอธิบายความหมายของเงื่อนไขหลักสี่ข้อดังกล่าว
โดยใช้กรณีสมมติว่าคุณเป็นคนถ่ายรูป ตึกช้างในกรุงเทพฯ ที่สวยมากรูปหนึ่ง
และอยากเผยแพร่งานนี้ในเว็บไซต์ของคุณ โดยใช้สัญญาอนุญาตแบบครีเอทีฟคอมมอน

ถ้าคุณอยากให้ใครก็ตามที่นำรูปตึกช้างของคุณไปใช้ (เช่น โพสในเว็บของเขา)
ให้เครดิตว่าคุณเป็นคนถ่าย และอ้างอิงที่มาว่ามาจากเว็บของคุณ
คุณก็ควรเลือกใช้เงื่อนไขแบบ "ยอมรับสิทธิของผู้สร้าง" (attribution)
หลังจากที่คุณโพสรูปบนเว็บของคุณและแปะป้ายสัญญาอนุญาตแบบครีเอทีฟคอมมอนแบบ
นี้ไว้ข้างๆ แล้ว

ใครก็ตาม ที่อ่านสัญญาอนุญาตในเว็บของคุณก็จะรู้ว่า
เขาไม่จำเป็นต้องติดต่อคุณก่อนที่จะนำรูปไปใช้
เขาเพียงแต่ต้องระบุชื่อของคุณอย่างชัดเจน
และลิงก์กลับไปหาสัญญาอนุญาตของคุณเท่านั้น

ถ้าคุณไม่อยากให้คนอื่น เอางานของคุณไปขาย คุณก็สามารถเลือกใส่เงื่อนไข
"ไม่ใช้เพื่อการค้า" (noncommercial) เข้าไปในสัญญาอนุญาต
เงื่อนไขนี้แปลว่าใครก็ตามที่ต้องการใช้รูปถ่าย ตึกช้างของคุณเพื่อการค้า
เช่น เป็นรูปประกอบ ในหนังสือเรื่องตึกระฟ้าที่จะพิมพ์ขาย
จะต้องมาขออนุญาตคุณก่อน
(ซึ่งในกรณีนั้นคุณก็จะมีโอกาสต่อรองเรื่องส่วนแบ่งกำไรหรือค่าตอบแทน
ถ้าคุณสนใจจะหารายได้จากรูปของคุณ)

เงื่อนไขหลักที่ครีเอทีฟคอมมอนมี ให้เลือกใช้ คือ "ไม่แก้ไขต้นฉบับ" (no
derivative works)
เงื่อนไขนี้อนุญาตให้ทุกคนทำซ้ำและเผยแพร่รูปถ่ายของคุณได้
ตราบใดที่พวกเขาไม่ดัดแปลง หรือตัดต่อรูปดังกล่าว
คุณอาจเลือกใช้เงื่อนไขนี้ ถ้าต้องการเผยแพร่รูปที่เป็น "ต้นฉบับ" จริงๆ
เท่านั้น

ดังนั้น สมมติว่ามีคนต้องการตัดต่อรูปถ่ายตึกช้างเพื่อเอาไปใช้ในงานคอลลาจ
(collage) ที่กำลังทำอยู่
คนนั้นก็จะต้องขออนุญาตคุณก่อนที่จะเอารูปไปตัดต่อได้
(แต่ถ้าอยากทำซ้ำและเผยแพร่ต้นฉบับดั้งเดิมของรูปนี้ก็ไม่ต้องขอ)

เงื่อนไข หลักทั้งสามประการที่กล่าวมาแล้ว
ข้างต้นไม่ใช่เงื่อนไขเฉพาะที่ต้องคุณเลือกแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น แต่เป็น
"เมนู" ที่คุณสามารถเลือกมากกว่าหนึ่งข้อ หรือทั้งสามข้อมาผสมผสานกัน
เพื่อให้ตรงกับจุดประสงค์มากที่สุด เช่น

ถ้าคุณอยากให้คนอื่นนำงานของคุณไปตัดต่อ หรือดัดแปลงได้
ตราบใดที่ไม่ใช้เพื่อการค้า และให้เครดิตคุณ คุณก็สามารถระบุเงื่อนไข ทั้ง
"attribution" และ "noncommercial" ในสัญญาอนุญาตแบบครีเอทีฟคอมมอน หรือ
ถ้าคุณอยากให้คนอื่นนำรูปตึกช้างของคุณไปขายต่อได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
ตราบใดที่ให้เครดิต และไม่ตัดต่อดัดแปลงรูปนั้น คุณก็สามารถระบุ
"attribution" และ "no derivative works" ในสัญญาอนุญาตที่แปะไว้ข้างรูป

เงื่อนไขหลักข้อสุดท้ายที่ครีเอทีฟคอมมอน มีให้เลือก คือ
"ใช้สัญญาอนุญาตแบบเดียวกัน" (share alike) เงื่อนไขนี้หมายความว่า ทุกคน
ที่นำรูปถ่ายของคุณไปใช้ในการสร้างงานใหม่
จะต้องเผยแพร่งานชิ้นใหม่ของพวกเขาที่มีรูปนั้น เป็นส่วนประกอบภายใต้
เงื่อนไขเดียวกันกับที่คุณเลือกใช้ เช่น
สมมติว่าคุณเลือกใช้สัญญาอนุญาตแบบ "share alike", "attribution" และ
"noncommercial"

ดังนั้น
คนที่นำรูปตึกช้างของคุณไปตัดต่อและใช้ในงานคอลลาจจะต้องเผยแพร่งานคอลลา
จชิ้นนั้นภายใต้เงื่อนไข "share alike", "attribution" และ
"noncommercial" ในสัญญาอนุญาตแบบครีเอทีฟคอมมอนด้วย

นอกจากนี้ผู้สร้างคอลลาจยังต้องปฏิบัติตามสัญญาอนุญาตดั้งเดิมของคุณ
นั่นคือ ให้เครดิตกับคุณ ในฐานะผู้ถ่ายรูปตึกช้าง และไม่นำคอลลาจนั้น
ไปขาย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคุณก่อน

ความยืดหยุ่นของเงื่อนไข ครีเอทีฟคอมมอนที่สามารถนำมาผสมผสานกันได้
แปลว่ามีสัญญาทั้งหมด 11 รูปแบบด้วยกัน นอกจากนี้
หากผู้สร้างงานไม่ต้องการสงวนลิขสิทธิ์เลย
แต่ต้องการมอบงานชิ้นนั้นให้ใครก็ได้ไปใช้ต่อ โดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ
ทั้งสิ้น ก็สามารถอุทิศงานชิ้นนั้น ให้เป็น "สมบัติสาธารณะ" (public
domain) ผ่านเว็บไซต์ครีเอทีฟคอมมอน ซึ่งเท่ากับเป็นการประกาศว่า
"ไม่ขอสงวนลิขสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น"

ในโลกที่อุดมการณ์ ความเชื่อและจุดยืนในประเด็นต่างๆ
ดูเหมือนจะถูกบีบให้อยู่ "ขั้ว" ใด ขั้วหนึ่งเท่านั้น (polarized) โดยมี
"พื้นที่ตรงกลาง" เหลืออยู่น้อยมาก ครีเอทีฟคอมมอน
เป็นความพยายามที่น่าสรรเสริญ เพราะเป็น "ทางออก"
จากปัญหาลิขสิทธิ์ในปัจจุบัน
โดยส่งเสริมทั้งการสร้างสรรค์โดยต่อยอดงานเก่า
และคุ้มครองสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์
อันเป็นเจตนารมณ์ดั้งเดิมของผู้ร่างกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ในอดีต

อย่างน้อยก็ในอเมริกา ก่อนที่กฎหมายจะถูกบิดเบือนไปอยู่ข้าง "คุ้มครอง"
สิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์มากเกินไป
จนบั่นทอนแรงจูงใจที่จะใช้งานในอดีตเพื่อสร้างสรรค์งานใหม่ๆ สำหรับอนาคต

ปัจจุบัน มีงานสร้างสรรค์นับล้านๆ ชิ้นที่ใช้สัญญาอนุญาตแบบครีเอทีฟคอมมอน
และนับวันก็มีแต่จะยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
เพราะครีเอทีฟคอมมอนมีประโยชน์ชัดเจนสำหรับผู้สร้างงานที่เชื่อมั่นในพลัง
ของการร่วมมือกัน และ "ต่อยอด" ความคิดสร้างสรรค์ในอดีตออกไปเป็นงานใหม่ๆ

มูลนิธิครีเอทีฟคอมมอนเองก็มุ่งพัฒนาสัญญาอนุญาตอย่างไม่หยุดยั้ง
เพื่อตอบสนองความต้องการอันหลากหลายของผู้สร้างงาน เช่น
เมื่อไม่นานมานี้มีการสร้างเงื่อนไข "ใช้ในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น"
สำหรับผู้สร้างงานในประเทศพัฒนาแล้ว ที่ปรารถนาจะให้ทุกคนในประเทศ
กำลังพัฒนานำงานของคนไปใช้ได้ฟรี
แต่สงวนสิทธิที่จะเก็บค่าลิขสิทธิ์จากผู้ใช้ที่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว
(เพราะมีฐานะดีกว่า จึงสมควรจะจ่ายค่าลิขสิทธิ์มากกว่า)

ประเทศไทยเองก็เริ่มมีเว็บไซต์ที่ใช้สัญญา อนุญาตแบบครีเอทีฟคอมมอนแล้ว
เช่น Fuse.in.th นอกจากนั้นก็มีการรวมตัวกันในหมู่ ผู้สนใจเป็นทีมงาน
เพื่อแปลงสัญญาอนุญาตแบบครีเอทีฟคอมมอนเป็นภาษาไทย
และให้ใช้บังคับได้ภายใต้ระบบกฎหมายไทย

โดยมีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เป็น "เจ้าภาพ" ในการแปลงสัญญา
ขอเชิญทุกท่านร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างสัญญาฉบับภาษาไทย
และเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับครีเอทีฟคอมมอนได้ที่ http://cc.in.th/

ขอเชิญทุกท่านมาร่วมกัน เปิดศักราชใหม่ให้กับรูปแบบการสร้างสรรค์ อันอ่อนโยนกว่าที่แล้วมา

ที่มา –  คอลัมน์ ล่องคลื่นโลกาภิวัตน์ นสพ.ประชาชาติธุรกิจ