Transfer Pricing ตอนที่ 4 รู้ก่อนและเตรียมความพร้อมก่อน กับหลักเกณฑ์การปรับปรุงรายได้รายจ่าย

ตามที่ผู้ประกอบการได้ยื่น Disclosure Form สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 ซึ่งเป็นรายงานที่กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันและมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งมีผู้ประกอบการบางรายที่ไม่ได้ยื่นแบบภายในกำหนดเวลา ไม่ว่าจะเนื่องมาจากข้อมูลที่ต้องรวบรวมมีปริมาณมาก หรือยังคงมีความสับสนในการตีความหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จนเป็นเหตุให้ได้รับหนังสือแจ้งจากกองบริหารการเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ต้องชำระค่าปรับอาญา เมื่อเป็นดังนี้ ผู้ประกอบการจึงต้องเตรียมความพร้อมมากยิ่งขึ้น ในการยื่น Disclosure Form สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 ที่ต้องยื่นตามกำหนดเวลาในปี 2564 นี้ ทั้งนี้ ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องได้ในบทความ Transfer Pricing ตอนอื่นๆ ตามลิงค์ท้ายบทความนี้ ซึ่งผู้เขียนได้สรุปไว้ในเบื้องต้นแล้ว

สำหรับบทความ Transfer Pricing ตอนที่ 4 นี้ หลักใหญ่ใจความในการนำเสนอคือ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน ได้ทราบถึงหลักเกณฑ์ในการปรับปรุงรายได้รายจ่ายของกรมสรรพากร ซึ่งหากผู้ประกอบการได้รับแจ้งให้ปรับปรุงแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องนำรายได้ที่พึงได้รับและรายจ่ายที่พึงได้จ่ายไปใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี เนื่องจากภายหลังที่ได้ยื่น Disclosure form ต่อกรมสรรพากรแล้ว เจ้าพนักงานประเมินจะวิเคราะห์ รวมทั้งประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลที่ท่านรายงานไปว่า มีความเสี่ยงที่จะเข้าลักษณะมีการถ่ายโอนกำไรระหว่างกันหรือไม่ ซึ่งหากเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่ามีความเสี่ยงแล้ว จะส่งหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบการยื่นเอกสารหรือหลักฐานแสดงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์ข้อกำหนดของธุรกรรมระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (TP Document) รวมทั้งเข้าชี้แจงต่อเจ้าพนักงานประเมิน เมื่อเป็นเช่นนี้ เรามาดูกันว่า หลักเกณฑ์ในการปรับปรุงรายได้รายจ่ายของกรมสรรพากรตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 369 (พ.ศ. 2563) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 400) ที่ใช้บังคับสำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป มีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง เบื้องต้นผู้เขียนได้สรุปสาระสำคัญดังนี้

1. กฎกระทรวง ฉบับที่ 369 (พ.ศ. 2563)
กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดถึงหลักเกณฑ์ในการปรับปรุงรายได้และรายจ่าย กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันที่มีข้อกำหนดทางด้านการพาณิชย์หรือการเงินระหว่างกัน แตกต่างไปจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไปที่ได้ดำเนินการโดยอิสระ ในลักษณะที่เชื่อได้ว่ามีการถ่ายโอนกำไร โดยสรุปได้ดังนี้

2. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 400)
กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดถึงหลักเกณฑ์ในการปรับปรุงรายได้และรายจ่าย ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 369 (พ.ศ. 2563) โดยสรุปได้ดังนี้

2.1 นิยาม

“บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันตามมาตรา 71 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
“ธุรกรรมที่ถูกควบคุม” หมายความว่า ธุรกรรมระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน
“ธุรกรรมที่ไม่ถูกควบคุม” หมายความว่า ธุรกรรมระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่คู่สัญญาของธุรกรรมนั้นไม่ใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน
“ผลตอบแทนสำหรับธุรกรรม” หมายความรวมถึง ตัวชี้วัดทางการเงินซึ่งสัมพันธ์กับวิธีการกำหนดราคาที่เลือกใช้ ดังต่อไปนี้ หรือตัวชี้วัดทางการเงินอื่นที่เหมาะสมซึ่งสัมพันธ์กับวิธีการกำหนดราคาอื่นแล้วแต่กรณี
     (1) ราคา สำหรับวิธีการเปรียบเทียบราคาที่มิได้ถูกควบคุม
     (2) อัตรากำไรจากการขายต่อ สำหรับวิธีราคาขายต่อ
     (3) อัตรากำไรส่วนเพิ่มจากต้นทุน สำหรับวิธีราคาทุนบวกกำไรส่วนเพิ่ม
     (4) อัตรากำไรสุทธิสำหรับวิธีอัตรากำไรสุทธิที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกรรม
     (5) ส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงาน สำหรับวิธีแบ่งสรรกำไรของธุรกรรม

2.2 หลักเกณฑ์และวิธีการในการปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของเจ้าพนักงานประเมิน มีดังต่อไปนี้

2.2.1 การพิจารณาเทียบเคียงผลตอบแทนสำหรับธุรกรรม
1) ธุรกรรมที่นำมาเทียบเคียงกันนั้นจะต้องไม่มีความแตกต่างอันอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อตัวชี้วัดทางการเงินที่ถูกตรวจสอบด้วยวิธีการกำหนดราคาที่รับรองแล้ว หรือหากมีความแตกต่างดังกล่าวต้องมีการปรับปรุงความสามารถในการเทียบเคียงกันของธุรกรรมนั้นอย่างเหมาะสมเพื่อขจัดผลกระทบของความแตกต่างดังกล่าวแล้ว
2) การพิจารณาลักษณะของธุรกรรมที่สามารถเทียบเคียงได้ข้างต้น จะต้องพิจารณาปัจจัยดังต่อไปนี้ ประกอบด้วยเท่าที่มีความเกี่ยวพันในเชิงเศรษฐกิจกับข้อเท็จจริงและสถานการณ์
     (1) ข้อตกลงตามสัญญาในการทำธุรกรรม
     (2) หน้าที่งานที่คู่สัญญาแต่ละรายรับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมนั้น โดยคำนึงถึงสินทรัพย์ที่ใช้และความเสี่ยงที่รับ
     (3) ลักษณะของทรัพย์สินที่โอนหรือบริการที่ทำ
     (4) สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะที่ทำธุรกรรม และ
     (5) กลยุทธ์ทางธุรกิจซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันใช้ในการทำธุรกรรม

2.2.2 วิธีการกำหนดราคา ในการพิจารณาผลตอบแทนสำหรับธุรกรรมที่ถูกควบคุม
ในการพิจารณาว่า ผลตอบแทนสำหรับธุรกรรมระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันเป็นผลตอบแทนสำหรับธุรกรรมที่พึงกำหนดหากได้ดำเนินการโดยอิสระ (หากไม่ใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน) ผู้ประกอบการสามารถพิจารณาเลือกใช้วิธีการกำหนดราคาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสถานการณ์ในแต่ละกรณี ตามวิธีการกำหนดราคาที่ได้รับการรับรองแล้ว ดังต่อไปนี้

ทั้งนี้ ในการพิจารณาเลือกใช้วิธีการกำหนดราคาที่เหมาะสมข้างต้น ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้
1) จุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละวิธีการกำหนดราคา
2) ความเหมาะสมของวิธีการกำหนดราคาตามลักษณะของธุรกรรมที่ถูกควบคุมผ่านการวิเคราะห์หน้าที่งานของคู่สัญญาแต่ละรายในธุรกรรมที่ถูกควบคุมนั้นโดยคำนึงถึงสินทรัพย์ที่ใช้และความเสี่ยงที่ได้รับ
3) ความมีอยู่ของข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่จำเป็นในการปรับใช้วิธีการกำหนดราคาที่เลือกใช้
4) ระดับความสามารถในการเทียบเคียงกันได้ระหว่างธุรกรรมที่ถูกควบคุมและธุรกรรมที่ไม่ถูกควบคุม รวมถึงความน่าเชื่อถือของการปรับปรุงความสามารถในการเทียบเคียงกันของธุรกรรมนั้นอย่างเหมาะสมเพื่อขจัดผลกระทบของความแตกต่างกันแล้ว

2.2.3 กรณีที่ธุรกรรมที่ถูกควบคุมเป็นการบริการ
ในกรณีที่ธุรกรรมที่ถูกควบคุมเป็นการบริการจะถือว่าค่าตอบแทนสำหรับการบริการดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนที่พึงกำหนดหากได้ดำเนินการโดยอิสระต่อเมื่อ
1) เป็นค่าตอบแทนสำหรับการบริการที่ได้กระทำจริง
2) บริการนั้นมีประโยชน์หรือพึงคาดหมายได้ว่าจะมีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจหรือในทางการค้าแก่ผู้รับบริการ
3) เป็นบริการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นอิสระภายใต้สถานการณ์ที่อาจเทียบเคียงกันได้พึงจ่ายค่าตอบแทนเพื่อให้ได้รับบริการนั้นจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นที่ไม่ใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน หรือเพื่อให้มีการทำบริการนั้นโดยหน่วยงานภายในของตนเอง และ
4) จำนวนค่าตอบแทนเป็นจำนวนที่พึงกำหนดหากได้ดำเนินการโดยอิสระสำหรับการบริการที่อาจเทียบเคียงกันได้ ค่าตอบแทนของธุรกรรมการบริการซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ของความเป็นเจ้าของของผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ถือว่าเป็นค่าตอบแทนที่พึงกำหนดหากได้ดำเนินการโดยอิสระ

2.2.4 กรณีที่ธุรกรรมที่ถูกควบคุมเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินไม่มีตัวตน
ในกรณีที่ธุรกรรมที่ถูกควบคุมเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินไม่มีตัวตน ให้คำนึงถึงประเด็นดังต่อไปนี้ ประกอบการพิจารณาผลตอบแทนสำหรับธุรกรรมที่ถูกควบคุมด้วย
1) กรณีที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาประโยชน์ในทรัพย์สินไม่มีตัวตนให้คำนึงถึงหน้าที่งานที่คู่สัญญาแต่ละรายรับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา การปรับปรุง การบำรุงรักษา การคุ้มครอง และการแสวงหาประโยชน์ในทรัพย์สินไม่มีตัวตนนั้น โดยคำนึงถึงสินทรัพย์ที่ใช้และความเสี่ยงที่รับ
2) กรณีที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิการใช้ ขาย หรือโอนทรัพย์สินไม่มีตัวตนให้คำนึงถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์คุณลักษณะที่เฉพาะตัวหรือไม่เฉพาะตัว และสิทธิในการมีส่วนร่วมพัฒนาในทรัพย์สินไม่มีตัวตน

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับหลักเกณฑ์เบื้องต้นที่ผู้เขียนได้สรุปสาระสำคัญมาให้เป็นบางส่วน เนื่องจากรายละเอียดที่เกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะและซับซ้อน ผู้เขียนจึงขอนำเสนอเพิ่มเติมในบทความต่อไป อย่างไรก็ดี เนื่องจากหลักเกณฑ์ข้างต้นผู้ประกอบการแต่ละท่านอาจมีข้อมูลหรือคุ้นเคยกับข้อมูลต่างๆ ข้างต้นอยู่แล้วในการดำเนินธุรกิจ เพียงแต่ยังไม่ได้มีการวิเคราะห์หรือรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นหมวดหมู่หรือเป็นรูปธรรม ดังนั้น ท่านจึงควรศึกษาและจัดเตรียมข้อมูลไว้ก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินหมายตาต้องใจบริษัทท่านหรือกลุ่มของบริษัทท่าน จะได้สามารถชี้แจงและแสดงเอกสารได้อย่างสมเหตุสมผลและน่าเชื่อถือต่อไป

ที่มา / รายละเอียดเพิ่มเติม
1. กฎกระทรวง ฉบับที่ 369 (พ.ศ. 2563)
2. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 400)
3. Update!!!… 5 ข้อต้องรู้เพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือกฎหมาย Transfer Pricing
4. Transfer Pricing ตอนที่ 2 สิ่งที่บริษัทในเครือเดียวกันต้องรู้ก่อนยื่น Disclosure Form สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2562
5. Transfer Pricing ตอนที่ 3 คลายประเด็นสงสัยในการเตรียมข้อมูลสำหรับยื่น Disclosure Form สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2562

นางสาวเมษยา สีลาวรรณ
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
23 มีนาคม 2564

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9716
Email: maysayas@dlo.co.th