ประเด็นร้อนแรงสำหรับอสังหาริมทรัพย์กับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตอนที่ 4

วรินทร สะรุโณ
อชิรญาณ์ สุทธิสุนทรินทร์
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

ตอนที่ 4 หลักเกณฑ์การพิจารณาลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

     จากตอนที่ 1-3 ที่ได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษี วิธีการและตัวอย่างในการคำนวณภาษี และสิทธิประโยชน์สำหรับการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามลำดับนั้น ในตอนนี้จะเป็นการกล่าวถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภทว่าจะพิจารณาอย่างไร หากเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประสงค์จะประกอบเกษตรกรรม หรือใช้เป็นที่อยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์อื่น ๆ จะต้องทำอย่างไร มีความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะได้รับการพิจารณาว่าจะเข้าลักษณะที่ไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพหรือไม่ ดังนี้

     1. การพิจารณาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เพื่อประกอบเกษตรกรรม

       การใช้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในการประกอบเกษตรกรรมนั้น จะพิจารณาจากสภาพการใช้ประโยชน์บนที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามจริง หากเป็นการประกอบการเกษตรตามความหมายในระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภค จำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์มแล้วให้ถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์เพื่อประกอบเกษตรกรรม ทั้งนี้ เว้นแต่การทำการประมงและการทอผ้า

       ในส่วนของพื้นที่ต่อเนื่องของพื้นที่หลักที่ใช้ประโยชน์เพื่อประกอบเกษตรกรรม หากไม่เกินกึ่งหนึ่งของพื้นที่หลัก ให้ถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์เพื่อประกอบเกษตรกรรมด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

       อย่างไรก็ตาม หากพื้นที่ต่อเนื่องที่ใช้ประโยชน์เพื่อประกอบเกษตรกรรมทับซ้อนกับพื้นที่ต่อเนื่องที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ให้ถือว่าพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวเป็นการใช้ประโยชน์เพื่อประกอบเกษตรกรรม ดังจะเห็นได้ว่า จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการเสียภาษีในอัตราการใช้ประโยชน์เพื่อประกอบเกษตรกรรมซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าการใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย

       ทั้งนี้ การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ทั้งการปลูกพืชก็ดี เลี้ยงสัตว์ก็ดี ให้เป็นไปตามอัตราขั้นต่ำ ตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ลงวันที่ 30 มกราคม 2563

     2. การพิจารณาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย

       การใช้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยนั้น จะพิจารณาจากสภาพการใช้ประโยชน์บนที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามจริง หากมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ทั้งที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ หรืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือปรับปรุง ต่อเติม ให้ถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย เว้นแต่กรณี ดังนี้

       2.1 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่สร้างเพื่อขายตามกฎหมายจัดสรรที่ดิน หรืออาคารชุด
       2.2 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการโรงแรม หรือผู้ให้บริการเป็นที่พักชั่วคราวโดยมีค่าตอบแทน นอกจากการคิดค่าตอบแทนเป็นรายเดือนขึ้นไปหรือโฮมสเตย์
       2.3 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่รอการขายของสถาบันการเงิน หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์

     3. การพิจารณาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อย่างอื่น

       กรณีหากปรากฏว่าไม่เข้าลักษณะเป็นการใช้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกอบเกษตรกรรม หรือเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย จะเข้าลักษณะเป็นการใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น ใช้เพื่อประกอบกิจการ หรือเป็นสำนักงาน เป็นต้น

     4. การพิจารณาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ

       ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพนั้น พิจารณาจากสภาพของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิประเทศ ความลาดชันของพื้นที่ สภาพดิน และการทำประโยชน์ของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างบริเวณใกล้เคียง หากสามารถใช้ประโยชน์ได้แต่ไม่มีการทำประโยชน์หรือทิ้งร้างไว้ หรือใช้ประโยชน์ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การทำประโยชน์ หรือไม่เหมาะกับสภาพที่ดินดังกล่าว ให้ถือว่าเป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแล้วแต่กรณี

       ด้วยเหตุนี้ หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้มีการซื้อที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างมา โดยที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นที่ดินซึ่งอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมสังคมเมือง หรือย่านชุมชน หรือย่านเศรษฐกิจ แต่ใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมดังกล่าว กรณีมีความเสี่ยงที่จะถูกประเมินว่าเป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ

       นอกจากนี้ ตามที่ได้มีการขยายระยะเวลาการดำเนินการตามกฎหมายสำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปีภาษี 2563 นั้น ทำให้จากเดิมที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องส่งแบบประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีและผู้เสียภาษีต้องชำระภายในเดือนเมษายนของปี ได้ถูกขยายออกไปโดยต้องส่งแบบประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีภายในเดือนมิถุนายน 2563 และผู้เสียภาษีมีหน้าที่ต้องชำระภาษีภายในเดือนสิงหาคม 2563 ให้ถูกต้องครบถ้วนต่อไป

       อย่างไรก็ตาม หากผู้เสียภาษีไม่อาจชำระภาษีให้ครบถ้วนภายในคราวเดียวได้ทั้งหมด อาจยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษีเป็นงวด งวดละเท่า ๆ กันก็ได้ ดังนี้

         งวดที่ 1 ชำระภายในเดือนเมษายนของปี แต่สำหรับปีภาษี 2563 ขยายเป็นชำระภายในเดือนสิงหาคม 2563
         งวดที่ 2 ชำระภายในเดือนพฤษภาคมของปี แต่สำหรับปีภาษี 2563 ขยายเป็นชำระภายในเดือนกันยายน 2563
         งวดที่ 3 ชำระภายในเดือนมิถุนายนของปี แต่สำหรับปีภาษี 2563 ขยายเป็นชำระภายในเดือนตุลาคม 2563

       ทั้งนี้ สำหรับกรณีที่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินแล้วแต่ไม่ชำระภาษีตามกำหนดเวลา จะมีโทษอย่างไร หรือหากไม่เห็นด้วยกับหนังสือแจ้งการประเมิน แล้วต้องการคัดค้านหรืออุทธรณ์จะต้องทำอย่างไรนั้น ติดตามได้ในตอนต่อไปครับ/ค่ะ