ประเด็นร้อน!!! หลักเกณฑ์และรายละเอียด การหักรายจ่ายเพื่อการลงทุน ฯ

สุนทรี จุงเลียก

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

 

               ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 604) พ.ศ.2559 ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธินำรายจ่ายเพื่อการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม มาหักรายจ่ายได้อีก 1 เท่านั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 รัฐได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

                ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงขอชี้แจงว่าบทความเดิม เรื่อง รายจ่ายเพื่อการลงทุน  ต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้น หักรายจ่ายได้อีก 1 เท่า !!!” ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 [1]ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอก่อนที่ประกาศอธิบดีฉบับนี้[2]จะมีผลใช้บังคับนั้นมีบางประเด็นในบทความดังกล่าวอาจมีความคลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามประกาศอธิบดีฉบับนี้กำหนด ดังนั้นผู้เขียนจึงขอนำเสนอบทความฉบับนี้ เพื่ออธิบายให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจหลักเกณฑ์ตามที่ประกาศอธิบดีกำหนดไว้ โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้ 

เงื่อนไขการได้รับสิทธิหักรายจ่ายได้อีก 1 เท่า มีดังนี้

1. ผู้ประกอบการได้จ่ายรายจ่ายเพื่อการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ (ต้องไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม)

โดยพิจารณาความหมายได้ ดังนี้

         1.1 คำว่า “รายจ่ายอันมีลักษณะเพื่อการลงทุน” เป็นรายจ่ายที่กิจการจ่ายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเป็นการถาวรต่อกิจการไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เช่น ค่าอาคาร ค่าสิทธิ ค่าซื้อเครื่องจักร ค่าซื้อคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งจะอำนวยประโยชน์แก่กิจการเป็นระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี[3]

       1.2 คำว่า “รายจ่ายในการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก  หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน” เป็นรายจ่ายเพื่อยังผลให้อายุการใช้งานของทรัพย์สินเดิมยาวนานขึ้น หรือปรับปรุงสภาพของทรัพย์สินที่กิจการมีอยู่แล้วให้มีสภาพดีขึ้น ประโยชน์การใช้มีมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะในรูปการต่อเติม เปลี่ยนแปลงหรือขยายออกซึ่งทรัพย์สิน หรือแม้เพียงทำให้มีสภาพดีขึ้นก็ตาม[4] เช่น ค่าตกแต่งอาคาร[5] เป็นต้น แต่มีข้อแม้ว่าในการปรับปรุงทรัพย์สินดังกล่าว ต้องไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้ทรัพย์สินเหล่านั้นกลับคืนสู่สภาพเดิม เช่น การซ่อมแซมทรัพย์สินให้คงสภาพเดิม เป็นต้น

2. ต้องเป็นทรัพย์สิน ดังนี้

          2.1 เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์

          2.2 โปรแกรมคอมพิวเตอร์

          2.3 ยานพาหนะที่จดทะเบียนในไทย ไม่รวมรถยนต์ต้องห้าม (ยกเว้นซื้อมาเพื่อให้เช่า)

          2.4 อาคารถาวร (ไม่รวมที่ดินและที่อยู่อาศัย)

3. ต้องจ่ายไปในระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559

4. ทรัพย์สินตามข้อ 2. ต้องมีลักษณะ ดังนี้

           4.1 เป็นทรัพย์สินใหม่แกะกล่อง

       4.2 มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ และพร้อมใช้งานภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 แต่สำหรับทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรและอาคารขนาดใหญ่ ไม่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนเวลาดังกล่าว เนื่องจากเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้มีการปรับปรุงเงื่อนไขการหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรและอาคารขนาดใหญ่ ซึ่งเดิมทรัพย์สินดังกล่าวต้องได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การได้ตามประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เป็นไม่จำเป็นต้องได้ทรัพย์สินดังกล่าวมาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การได้ตามประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559[6] ทั้งนี้ ต้องติดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐบาลจะประกาศกำหนดกันต่อไป ดังเช่น พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 622) พ.ศ.2559

         4.3 ทรัพย์สินนั้นต้องอยู่ในประเทศไทย (ยกเว้น ยานพาหนะ)

         4.4 ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้นำไปใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่นและใช้สิทธิในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน         

5. ระยะเวลาการจัดทำเอกสารประกอบการซื้อทรัพย์สินตามข้อ 2.1 – 2.3 ต้องเกิดจากหนังสือสัญญา ใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้น ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559

6. ระยะเวลาการขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร ต้องขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารดังกล่าวตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559 และได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างหรือดัดแปลงตามคำขอนั้นแล้ว   

7. วิธีการหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนดังกล่าว   

              ผู้ประกอบการมีสิทธินำรายจ่ายเพื่อการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้น[7]ซึ่งทรัพย์สินตามข้อ 2. มาหักรายจ่ายโดยวิธีการเฉลี่ยในจำนวนเท่ากันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกันตามประเภทของทรัพย์สิน

สรุปตารางการเฉลี่ยหักรายจ่ายของทรัพย์สินแต่ละประเภท[8]

      

                โดยให้ผู้ประสงค์จะใช้สิทธิหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนได้อีก 1 เท่า สามารถหักรายจ่ายทางภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มต้นหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน[9] อย่างไรก็ตาม หากเป็นการนำทรัพย์สินไปใช้ในโครงการที่มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ตามาตรการเร่งรัดการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ยังไม่มีการลงทุนจริงและเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิประโยชน์นั้น ให้เริ่มหักรายจ่ายทางภาษีตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีถัดจากรอบระยะเวลาบัญชีที่สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนสิ้นสุดลง 

               เพื่อความเข้าใจ ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง ดังต่อไปนี้ 

ตัวอย่างที่ 1 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 (รอบระยะเวลาบัญชีปี 2558) บริษัท ก. ซื้อเครื่องจักรใหม่ราคา 1,000,000 บาท บริษัท ก. มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา และหักรายจ่ายทางภาษีได้ ดังนี้

ตัวอย่างที่ 2 ตามตัวอย่างที่ 1 หากต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 บริษัท ก. ได้ขายทรัพย์สินราคา 500,000 บาท (ราคาตลาด) บริษัท ก. มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา และมีสิทธิหักรายจ่ายทางภาษีได้ ดังนี้        

 

                หากบริษัท ก. ขายทรัพย์สินในปี 2560 บริษัท ก. ไม่มีสิทธิหักรายจ่ายทางภาษีส่วนเพิ่มอีก 1 เท่าได้อีกนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้มีการขายทรัพย์สินนั้นเป็นต้นไป (ปี 2560 – 2562) และไม่ต้องนำรายจ่ายทางภาษีจำนวน 400,000 บาท (ปี 2558 – 2559) มารวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลย้อนหลังในรอบระยะเวลาบัญชีที่ขายทรัพย์สิน (ปี 2560)[13]ทั้งนี้ กรณีมีการขายทรัพย์สิน บริษัท ก. ควรจัดเก็บหลักฐานการขายเครื่องจักรไว้ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่สรรพากรต่อไป

                ทั้งนี้ ในการขายเครื่องจักรนั้น ผู้ประกอบการควรขายตามราคาตลาด เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการถูกประเมินจากเจ้าหน้าที่สรรพากร เกี่ยวกับการกำหนดราคาขายเครื่องจักรที่ไม่เป็นไปตามราคาตลาด โดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร

                อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการนำรายจ่ายดังกล่าวมาหักรายจ่ายทางภาษีได้อีก 1 เท่าตามประกาศอธิบดีฉบับนี้ มีรายละเอียดค่อนข้างซับซ้อน ดังนั้น ผู้ประกอบการควรศึกษาและพิจารณาหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ชัดแจ้ง และควรติดตามกฎหมายที่รัฐบาลอาจจะประกาศกำหนดต่อไปหากมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการหักรายจ่ายทางภาษีได้อีก 1 เท่าในอนาคต เพื่อความถูกต้องในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลต่อไป

                สุดท้ายนี้ เนื่องจากหลักเกณฑ์รายจ่ายเพื่อการลงทุน ฯ ล้วนมีประเด็นปัญหาภาษีอากรค่อนข้างซับซ้อน ยากแก่การตีความทางกฎหมาย ดังนั้น หากท่านผู้ประกอบการมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษีคอยให้คำแนะนำปรึกษา ก็จะสามารถดำเนินการทางด้านภาษีอากรได้อย่างถูกต้องและลดความเสี่ยงในการถูกประเมินภาษีจากเจ้าหน้าที่สรรพากร นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษียังสามารถช่วย Update ข้อมูลข่าวสารหรือกฎหมายภาษีให้ท่านเพื่อให้ท่านไม่พลาดในประเด็นกฎหมายภาษีใหม่ ที่สำคัญ 

                สนใจบริการด้านที่ปรึกษาภาษี กรุณาสอบถามรายละเอียดบริการเพิ่มเติมได้ที่

                02 – 6809753, 02 – 6809708, 02 – 6809760

 

 



[1] https://goo.gl/TWCcda

[2] ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 266)

[3] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 949/2509.

[4] ไพจิตร โรจนวานิช, ชุมพร เสนไสย และสาโรช ทองประคำ, คำอธิบายประมวลรัษฎากร เล่ม 1 ภาษีสรรพากร (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สามเจริญพาณิชย์ (กรุงเทพ) จำกัด, 2553), หน้า 2-180.

[5] ข้อหารือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0811/ก.194, ลงวันที่ 12 เมษายน 2545.

[6] มติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2559

[7] มาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร

[8] ข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพการเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266)

[9] มาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

[10] ค่าเสื่อมราคาคำนวณโดย 1,000,000 ´ 20% ´ 31/365 = 16,986.30 บาท

[11] ข้อ 8 ของพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527

[12] ค่าเสื่อมราคาคำนวณโดย 1,000,000 ´ 20% ´ 31/365 = 16,986.30 บาท

[13] มาตรา 6 ของพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559