จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมีนาคม 2567

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’s Tax Newsletter

ฉบับที่ 152 เดือนมีนาคม 2567

กฎหมายใหม่ล่าสุด

     1. รายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์ รายจ่ายเพื่อการศึกษาและรายจ่ายเพื่อการกีฬา ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 444) เรื่อง กำหนดรายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์ รายจ่ายเพื่อการศึกษาและรายจ่ายเพื่อการกีฬา ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 44) ได้แก้ไขเพิ่มเติมรายการกิจการที่เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จ่ายหรือบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กิจการนั้นไป บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นสามารถนำรายจ่ายดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์ รายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือรายจ่ายเพื่อการกีฬา ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3xNkZQj

 

ข่าวภาษี

     1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … (ขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล)

     เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

     โดยกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นควรขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนขายคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ที่กระทำผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Broker) และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเท่าเทียมกัน และเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการโอนขายสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ​คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/49RG21k

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่   4960/2538

ระหว่าง                     ห้างหุ้นส่วนจำกัด จ.                         โจทก์

                      กรมสรรพากร                                 จำเลย

เรื่อง การโอนทรัพย์สินต่ำกว่าราคาตลาดตามมาตรา 65 ทวิ (4)

ประเด็นข้อพิพาท         : การขายปุ๋ยในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ถือเป็นการโอนทรัพย์สินต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ (4) หรือไม่

คำพิพากษา                : ปุ๋ยที่โจทก์ซื้อมาบางส่วนคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน โจทก์จึงขายปุ๋ยตามสภาพสินค้าและตลาดโดยทั่วไปตามราคาที่ควรจะได้ การที่เจ้าพนักงานจะกำหนดให้เอาราคาปุ๋ยคุณภาพมาตรฐานที่โจทก์ขายให้แก่ อ.ต.ก. ราคาเดียว มาคำนวณเป็นราคาของปุ๋ยทั้งหมดย่อมไม่ถูกต้อง เพราะราคาตลาดของสินค้านั้น อาจไม่มีราคาตายตัวหรือราคาเดียว การขายสินค้าแต่ละชนิดในราคาสูงต่ำผิดกันก็อาจอยู่ในกรอบของราคาตลาดได้ เมื่อโจทก์มีใบเสร็จรับเงินจากการขายปุ๋ยทุกครั้งเป็นหลักฐานว่าโจทก์ขายปุ๋ยในราคาต่าง ๆ กันตามสภาพของสินค้าและการขึ้นลงของตลาด ราคาตามใบเสร็จรับเงินจึงเป็นราคาตลาดในวันที่ขายสินค้า ไม่ใช่การขายสินค้าต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ (4)

 

ความเห็นของผู้เขียน     : ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ทวิ บัญญัติไว้ว่า “การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิในส่วนนี้ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ … (4) ในกรณีโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน โดยไม่มีค่าตอบแทน ค่าบริการหรือดอกเบี้ย หรือมีค่าตอบแทน ค่าบริการหรือดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการหรือดอกเบี้ยนั้นตามราคาตลาดในวันที่โอน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน”

     จากบทบัญญัติดังกล่าวมีข้อพิจารณา 3 ประการ ดังนี้

     1. ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้โอนทรัพย์สินโดยมีความผิดปกติทางด้านราคา กล่าวคือ โอนทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด เป็นต้น อันทำให้กำไรสุทธิที่เป็นฐานในการเสียภาษีลดลงกว่าปกติ เนื่องจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าหากำไรเพื่อนำไปจ่ายเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรให้ผู้ถือหุ้นและผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันทั้งสิ้น จึงมิใช่ปกติวิสัยที่ผู้ทำการค้าจะโอนทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด

     2. การโอนนั้นเป็นการกระทำโดยไม่มีเหตุอันสมควร

     3. เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาดในวันที่โอนได้ โดยราคาตลาดจะถือตามราคาที่พึงได้รับจากการขายตามปกติในวันที่โอน โดยเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นในท้องตลาด หรือการขายตามปกติของผู้เสียภาษีเอง หรือจากข้อมูลที่หน่วยงานราชการเก็บรวบรวม

     อย่างไรก็ตาม หากเป็นการโอนทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันสมควรแล้ว เจ้าพนักงานประเมินย่อมไม่มีอำนาจประเมินค่าตอบแทนเพิ่มเติมได้ เช่น การขายสินค้าเพื่อการส่งเสริมการขาย เพิ่มส่วนแบ่งการตลาด การขายสินค้าในจำนวนมาก สินค้าล้าสมัย สินค้าที่ชำรุดเสียหาย การขายสินค้าเพื่อเลิกกิจการทั้งหมดหรือบางแผนก เป็นต้น

     จากข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น การที่โจทก์ซื้อปุ๋ยที่คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน และขายปุ๋ยตามสภาพสินค้าและตลาดโดยทั่วไปตามราคาที่ควรจะได้ แม้จะเป็นการขายสินค้าโดยมีรายได้ต่ำกว่าราคาตลาดก็ตาม แต่เมื่อปุ๋ยที่ขายเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และโจทก์ยังมีใบเสร็จรับเงินจากการขายปุ๋ยทุกครั้งเป็นหลักฐานว่าโจทก์ขายปุ๋ยในราคาต่าง ๆ กันตามสภาพของสินค้าและการขึ้นลงของตลาด จึงเข้าลักษณะเป็นกรณีที่โจทก์โอนทรัพย์สินต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินจึงไม่มีอำนาจประเมินค่าตอบแทนเพิ่มเติมอีกได้ ทั้งนี้ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ข้าพเจ้าจึงเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว

     นอกจากนี้ ต่อมา กรมสรรพากรได้วางแนวทางโดยยอมรับในกรณีที่มีการขายสินค้าต่ำกว่าราคาตลาดได้ โดยสินค้าดังกล่าวจะต้องเป็นสินค้าจำพวกที่หมดอายุ ใกล้หมดอายุ หรือเสื่อมสภาพ ล้าสมัย ไม่ได้มาตรฐาน โดยจะต้องมีหลักฐานชัดเจนว่า การที่ขายไปในราคาดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานของการกำหนดคุณภาพของสินค้าของบริษัท และมีหลักฐานชัดเจนในการขาย คือ ในการขายสินค้านั้นต้องมีบุคคลร่วมสังเกตการณ์ประกอบด้วยฝ่ายคลังสินค้าและฝ่ายบัญชี ลงลายมือชื่อเป็นพยานเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการบันทึกบัญชี ทั้งนี้ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 79/2541 และหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากร เลขที่ กค 0811(กม)/134 ลงวันที่ 29 มกราคม 2542 ซึ่งสอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4960/2538 ดังกล่าวข้างต้นเช่นกัน

     อนึ่ง กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการตีความกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้ในการนำเสนอมีเพียงวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น

อารีญา เพ็ชรประไพ

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725