จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนพฤษภาคม 2565

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’s Tax Newsletter

ฉบับที่ 130 เดือนพฤษภาคม 2565

กฎหมายใหม่ล่าสุด

  1. สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น

ข่าวภาษี

  1. ขยายระยะเวลาการยกเว้นรัษฎากรสำหรับการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 2. ขยายระยะเวลายกเว้นรัษฎากรสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำเข้ายา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ต้าน COVID-19 ที่บริจาคเป็นสาธารณกุศล
  2. สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับการบริจาคด้านสาธารณสุข
  3. ยกเว้นรัษฎากรสำหรับรายจ่ายค่าซื้อชุดตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่   6710/2554

ระหว่าง                   บริษัท อ. (ประเทศไทย)          โจทก์

              กรมสรรพากร                      จำเลย

เรื่อง การส่งออกบริการที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0

กฎหมายใหม่ล่าสุด

     1.สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น

     กฎกระทรวง ฉบับที่ 381 (พ.ศ.2565) แก้ไขเปลี่ยนแปลง ข้อ 6 จัตวา แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) กำหนดให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อื่น สำหรับส่วนของหนี้ที่ได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3XHJaH1

ข่าวภาษี

     1.ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

     เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ โดยกำหนดให้มีการขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร ให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2565 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566

     2.ขยายระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำเข้ายา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ต้าน COVID-19 ที่บริจาคเป็นสาธารณกุศล

     เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ โดยกำหนดให้มีการขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการนำเข้าสินค้าที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อบริจาคเป็นสาธารณกุศล และยกเว้นภาษีเงินได้ที่ได้โอนทรัพย์สินให้แก่ให้กับสถานพยาบาล หน่วยงานของรัฐ และองค์การหรือสถานสาธารณกุศล จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2565 เป็นสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2566

     3.สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับการบริจาคด้านสาธารณสุข

     เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  1. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ให้แก่มูลนิธิ รวม 6 แห่ง ได้แก่ (1) มูลนิธิโรคมะเร็ง โรงพยาบาลศิริราช (2) มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี (3) มูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า (4) มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (5) มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ (6) มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กองทัพเรือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565
  2. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่มูลนิธิทั้ง 6 แห่งดังกล่าว ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 โดยผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้า ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

     4.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายค่าซื้อชุดตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง

     เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 50 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen test self-test kits) เพื่อใช้สำหรับพนักงานหรือลูกจ้างของตนเอง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3KjaTee

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่      6710/2554

ระหว่าง                        บริษัท อ. (ประเทศไทย)                       โจทก์

                 กรมสรรพากร                                    จำเลย

เรื่อง การส่งออกบริการที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0

ประเด็นข้อพิพาท         : การที่โจทก์ให้บริการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ผลิตสินค้าในประเทศไทย แล้วส่งข้อมูลที่ได้จากการให้บริการหรือผลของการบริการไปให้ผู้ว่าจ้างที่อยู่ในต่างประเทศนำข้อมูลไปใช้ เป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ที่จะได้รับสิทธิในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 หรือไม่

ข้อเท็จจริง                   : บริษัท อ. ในต่างประเทศ (ผู้ว่าจ้าง) ประสงค์จะได้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของโรงงานผลิตสินค้าเพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาว่า โรงงานผลิตสินค้าดังกล่าวมีลักษณะและคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการหรือไม่ จึงว่าจ้างโจทก์ให้เข้าไปตรวจสอบโรงงานผลิตสินค้า รวมทั้งตรวจวิเคราะห์และทดสอบตัวอย่างวัตถุในห้องปฏิบัติการเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวอย่างวัตถุในด้านคุณสมบัติหรือคุณลักษณะทางเคมีหรือวิทยาศาสตร์ของตัวอย่างวัตถุนั้นตามที่ผู้ว่าจ้างกำหนดเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าว โดยโจทก์ให้บริการดังกล่าวในราชอาณาจักร และได้ส่งข้อมูลที่ได้จากการให้บริการหรือผลของการบริการไปให้ผู้ว่าจ้างที่อยู่ในต่างประเทศนำข้อมูลไปใช้

คำพิพากษา               : งานบริการที่โจทก์รับทำให้แก่ผู้ว่าจ้างในต่างประเทศเป็นเพียงงานด้านการตรวจสอบสินค้า ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ผลิตสินค้าในประเทศไทย และตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสินค้าในห้องปฏิบัติการ มิใช่งานบริการด้านการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล จัดทำรายงานข้อมูลให้แก่ผู้ว่าจ้างในต่างประเทศเพื่อนำข้อมูลนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด การที่โจทก์ส่งผลการตรวจสอบที่เกิดจากการตรวจวิเคราะห์ของโจทก์ให้แก่ผู้ว่าจ้างในต่างประเทศเป็นเพียงการรายงานผลจากการใช้บริการด้านการตรวจสอบของผู้ว่าจ้างในต่างประเทศเท่านั้น มิใช่เป็นการส่งผลของการให้บริการด้านการตรวจสอบนั้นออกไปใช้นอกราชอาณาจักร

ส่วนการที่ผู้ว่าจ้างในต่างประเทศจะนำผลการตรวจสอบไปใช้ในการประกอบการตัดสินใจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในต่างประเทศนั้น เป็นเรื่องของการใช้ผลการตรวจสอบซึ่งเป็นขั้นตอนภายหลังจากที่บริการด้านการตรวจสอบของโจทก์ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว โดยผลการตรวจสอบนั้นอาจถูกนำมาใช้ในการพิจารณาสั่งซื้อ ต่อรองราคา ว่าจ้างผลิต ส่งออกสินค้าและวิเคราะห์ตัวอย่างสินค้าในประเทศไทยในภายหลังได้แล้ว กรณีเช่นนี้ย่อมไม่อยู่ในความหมายของถ้อยคำที่ว่า “ได้ส่งผลของการให้บริการนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด” ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105) ที่โจทก์มีสิทธิใช้อัตราภาษีร้อยละ 0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการตามฟ้องได้

ความเห็นของผู้เขียน   : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น เนื่องจากการส่งออกบริการที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 จะต้องเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศ และได้ส่งผลของการให้บริการนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 80/1 (2) ประกอบข้อ 2 (1) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105) ซึ่งคำว่า “ได้ส่งผลของการให้บริการนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด” นั้น หมายถึง การส่งผลทั้งหมดที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการให้บริการ และเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงของโจทก์ การที่โจทก์ให้บริการตรวจสอบสินค้า ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ผลิตสินค้าในประเทศไทย และตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสินค้าในห้องปฏิบัติการที่ทำในประเทศไทยนั้น มิได้เป็นการให้บริการด้านการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล หรือการจัดทำรายงานข้อมูลที่จะส่งให้แก่ผู้ว่าจ้างเพื่อให้ผู้ว่าจ้างนำข้อมูลนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด เนื่องจากโจทก์ได้ทำการรวบรวม วิเคราะห์ และจัดทำรายงานข้อมูลดังกล่าวให้แก่ผู้ว่าจ้างเสร็จสิ้นแล้วในประเทศไทย ดังนั้นการที่โจทก์ส่งผลการตรวจสอบที่เกิดจากการตรวจวิเคราะห์ของโจทก์ให้แก่ผู้ว่าจ้างในต่างประเทศนั้นเป็นเพียงการรายงานผลการตรวจสอบให้ผู้ว่าจ้างทราบเท่านั้น โดยมิได้ถือว่าการส่งผลการตรวจสอบดังกล่าวเป็นการส่งผลทั้งหมดที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการให้บริการในประเทศไทยไปใช้ในต่างประเทศ การให้บริการของโจทก์จึงมิใช่การให้บริการที่ได้กระทำในราชอาณาจักรแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศที่จะได้รับสิทธิในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 80/1 (2) ประกอบข้อ 2 (1) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105) แต่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร

อนึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการตีความกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้ในการนำเสนอนี้มีเพียงวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น

 มัญจา บุญช่วย

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725

Email: wannipas@dlo.co.th