จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนพฤศจิกายน 2565

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’s Tax Newsletter

 

ฉบับที่ 136 เดือนพฤศจิกายน 2565

กฎหมายใหม่ล่าสุด

  1. อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการสั่งงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไม่ต้องมีคําร้องของผู้นําเข้า
  2. การประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางทะเลแบบชาร์เตอร์ (Charter Services)

ข่าวภาษี

  1. การควบคุมการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากร
  2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย
  3. ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับวิสาหกิจชุมชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่    1109/2559

ระหว่าง                     บริษัท ด.                   โจทก์

               กรมสรรพากร              จำเลย

เรื่อง    รายจ่ายต้องห้าม กรณีเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญาตามมาตรา 65 ตรี (13) และ (6) แห่งประมวลรัษฎากร

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

     1.อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการสั่งงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไม่ต้องมีคําร้องของผู้นําเข้า

     คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 348/2565 แก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ที่ให้เจ้าพนักงานประเมินสั่งงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มบางกรณี โดยไม่ต้องมีคำร้องขอของผู้นำเข้า ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้นำเข้าไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากรและได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนด้วยดี

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3Kf4qRn

     2.การประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางทะเลแบบชาร์เตอร์ (Charter Services)

     คำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง การประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางทะเลแบบชาร์เตอร์ (Charter Services) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางทะเลแบบชาร์เตอร์ เพื่อให้ผู้เสียภาษีเกิดความเข้าใจในลักษณะของการประกอบกิจการ Charter Services ทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ การจ้างเป็นรายเที่ยว (Voyage Charter) การเหมาแบบมีกำหนดระยะเวลา (Time Charter) และการประกอบกิจการตามสัญญาเช่าเรือเปล่า (Bareboat Charter) รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เกี่ยวข้องกับกิจการดังกล่าว

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3XC9OB8

 

ข่าวภาษี

     1.การควบคุมการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากร

     เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้มีระบบติดตามการขนส่งของที่อยู่ในการควบคุมทางศุลกากรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Customs Tracking and Monitoring System: CTMS) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการควบคุม ติดตาม และตรวจสอบการขนส่งแบบ Real time ด้วยอุปกรณ์ควบคุมทางศุลกากรดิจิทัลที่เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Customs Electronics System: TCES) สำหรับเป็นทางเลือกจากเดิมที่มีการควบคุมการขนส่งของที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรด้วยอุปกรณ์เฉพาะ ซึ่งเป็นเพียงการมัดลวดและการใช้เทคโนโลยีระบบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ทางด้านการควบคุมทางศุลกากรและเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3YEu4mT

     2.มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย

     เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้เงินได้ที่นักแสดงสาธารณะที่เป็นนักแสดงภาพยนตร์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับอันเนื่องมาจากการแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศ และถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ครบกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3k280DR

     3.ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับวิสาหกิจชุมชน

     เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งมีเงินได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3YS2sdC

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่   1109/2559

ระหว่าง                     บริษัท ด.                                                          โจทก์

                กรมสรรพากร                                                     จำเลย

เรื่อง     รายจ่ายต้องห้าม กรณีเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญาตามมาตรา 65 ตรี (13) และ (6) แห่งประมวลรัษฎากร

ประเด็นข้อพิพาท        : เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญาเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะตามมาตรา 65 ตรี (13) และตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร หมายความรวมถึงเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญาตามกฎหมายอื่นด้วยหรือไม่

ข้อเท็จจริง                : โจทก์สำแดงราคาสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้า แบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ต่ำกว่าราคาตามเอกสารที่ศุลกากรตรวจยึดได้ โดยโจทก์ทราบราคาที่แท้จริง แต่มีเจตนาสำแดงราคาต่ำกว่าราคาที่แท้จริงเพื่อให้ไม่ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด และได้นำค่าปรับอากรขาด เงินเพิ่มศุลกากร และค่าปรับภาษีเพื่อมหาดไทย มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

เจ้าพนักงานของจำเลยเห็นว่า ค่าปรับเงินเพิ่มดังกล่าวไม่ควรนำมาหักเป็นค่าใช้จ่าย เนื่องจากเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) และมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ให้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและแจ้งการประเมินภาษีไปยังโจทก์เพื่อให้โจทก์รับผิดเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

คำพิพากษา              : ศาลฎีกาเห็นว่า ค่าปรับอากรขาด เงินเพิ่มศุลกากร และค่าปรับภาษีเพื่อมหาดไทย เป็นรายจ่ายอันเนื่องมาจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นรายจ่ายที่ไม่ใช่เพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร และถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากค่าปรับทางอาญาและเงินเพิ่มภาษีอากรตามมาตรานี้ มิใช่หมายถึงเฉพาะค่าปรับและเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากรเท่านั้น แต่รวมถึงค่าปรับที่เป็นโทษทางอาญาและเงินเพิ่มภาษีอากรตามกฎหมายอื่นด้วย

ความเห็นของผู้เขียน  : ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกา ในการตีความกฎหมายดังกล่าว ที่ไม่ควรตีความคำว่า “เบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และค่าปรับทางอาญา” ให้หมายความถึงเฉพาะเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และค่าปรับทางอาญาตามประมวลรัษฎากรเพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นการตีความตามความหมายอย่างแคบ การที่ศาลฎีกาตีความให้ครอบคลุมถึงเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และค่าปรับทางอาญาตามกฎหมายภาษีอากรทุกประเภท เนื่องจากรายจ่ายต้องห้ามในส่วนนี้กฎหมายกำหนดไว้เพื่อมุ่งประสงค์ให้เป็นบทลงโทษผู้กระทำผิด ซึ่งหากให้สิทธิโจทก์สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้อีก ย่อมเป็นการตีความบทบัญญัติดังกล่าวโดยขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย และอาจเป็นการสนับสนุนให้ผู้กระทำความผิดกระทำความผิดซ้ำอีกหรือสนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวมากยิ่งขึ้น และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิด

อย่างไรก็ดี หากเป็นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และค่าปรับทางอาญาตามกฎหมายอื่น นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น เช่น ค่าปรับจราจรทางบกตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ.2522 โจทก์อาจนำมาลงเป็นรายจ่ายได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (6)

อนึ่ง กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการตีความกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้ในการนำเสนอนี้มีเพียงวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น

ณัฏฐณิชา ศรีเจริญวณิชกุล

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725

Email: wannipas@dlo.co.th