จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมีนาคม 2565

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 128 เดือนมีนาคม 2565

กฎหมายใหม่ล่าสุด
     1. ยกเว้นภาษีให้แก่ลูกหนี้สำหรับเงินได้อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

ข่าวภาษี
     1. มาตรการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร
     2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 7536/2554
ระหว่าง   นาย ส.       โจทก์
        กรมสรรพากร   จำเลย
เรื่อง     เงินค่าพาหนะเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

กฎหมายใหม่ล่าสุด
     1. ยกเว้นภาษีให้แก่ลูกหนี้สำหรับเงินได้อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 742) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ลูกหนี้ สำหรับเงินได้อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3sLLwbK

ข่าวภาษี
     1. มาตรการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร
     เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร สำหรับกรณีเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย และกรณีที่มีการดำเนินการตามข้อบทว่าด้วย MAP ของสัญญา
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3vJoGDk

     2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย
     เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้แก่ผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว สำหรับกลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจาก     ต่างประเทศ หรือกลุ่มผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และอนุมัติหลักการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหักภาษี ณ ที่จ่าย และไม่ต้องนำเงินพึงประเมินไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้แก่ผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวสำหรับกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3tykeVj

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 7536/2554
ระหว่าง   นาย ส.       โจทก์
        กรมสรรพากร   จำเลย
เรื่อง     เงินค่าพาหนะเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ประเด็นข้อพิพาท : เงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง เป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่

ข้อเท็จจริง : โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) แสดงเงินได้พึงประเมินที่ได้รับเป็นเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง โดยระบุรายการเงินได้ที่ได้รับยกเว้นมีการหักเงินสะสม กบข. และเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งจำนวน 492,000 บาทออก เนื่องจากโจทก์ เห็นว่า ค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งดังกล่าว มีลักษณะเดียวกันกับรถประจำตำแหน่ง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ.2523 ข้อ 13 ที่ไม่เข้าลักษณะเป็นทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน อันจะถือเป็นเงินได้พึงประเมิน แต่ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามายังโจทก์ โดยให้โจทก์นำเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง 492,000 บาท มารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินและให้โจทก์ชำระภาษีและเงินเพิ่มรวม 92,374 บาท

คำพิพากษาย่อ : คดีนี้ ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 บัญญัติว่า “เงินได้พึงประเมิน” หมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน…” นอกจากนี้มาตรา 40 บัญญัติถึงประเภทเงินได้พึงประเมินไว้ว่ารวมถึง (1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง… และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้รับค่าพาหนะเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งเป็นรายเดือนเท่ากันทุกเดือน ถือได้ว่าค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งนั้นเป็นเงินที่โจทก์ได้รับเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการทำงานนอกเหนือไปจากเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งซึ่งคิดคำนวณได้เป็นเงิน จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 ซึ่งเงินได้พึงประเมินนี้ไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 และกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2509 แต่อย่างใด

     ดังนั้น แม้เงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งที่โจทก์ได้รับนั้นจะเป็นการจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับประโยชน์ที่ได้จากการใช้รถประจำตำแหน่งดังที่โจทก์อ้างก็ตาม แต่เงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายที่โจทก์ได้รับมาแล้วย่อมตกเป็นของโจทก์โดยไม่มีข้อบังคับหรือข้อจำกัดการใช้จ่ายเงินนี้ โจทก์ใช้จ่ายได้อย่างอิสระ อาจนำไปซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ประเภทใด ราคาเท่าใด และอาจเหลือเงินเป็นประโยชน์แก่โจทก์เองก็ได้ เมื่อพ้นจากตำแหน่งก็ยังมีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์นั้นต่อไป เงินจำนวนดังกล่าวจึงถือเป็นเงินได้ทำนองเดียวกับเงินเดือนของโจทก์ ที่โจทก์ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น เนื่องจากค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งที่โจทก์ได้รับนั้น แตกต่างไปจากรถประจำตำแหน่งซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้เฉพาะข้าราชการระดับสูง ระดับรองอธิบดี อธิบดี หรือปลัดกระทรวง ซึ่งรถประจำตำแหน่งดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้ใช้ในการปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่ หรือที่ได้รับมอบหมายโดยชอบ หรืองานที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับงานในตำแหน่งหน้าที่หรือฐานะที่ดำรงตำแหน่งนั้น รวมตลอดถึงการใช้เพื่อเดินทางไปกลับระหว่างที่พักและสำนักงาน และเพื่อการอื่นที่จำเป็นและเหมาะสมแก่การดำรงตำแหน่งหน้าที่ในหมู่ราชการและสังคม ดังนั้น รถประจำตำแหน่งจึงต้องใช้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นสำคัญ เปรียบได้กับกรณีที่ข้าราชการใช้เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องปรับอากาศของทางราชการในการปฏิบัติหน้าที่ให้ได้ผลงานตามวัตถุประสงค์ของทางราชการและเมื่อพ้นจากตำแหน่งก็ไม่มีสิทธิในรถประจำตำแหน่งอีกเลย การได้รับรถประจำตำแหน่งจึงมิได้เป็นประโยชน์ที่ได้รับส่วนตัวอันจะถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ซึ่งก็สอดคล้องกับกรณีที่บริษัทเอกชนเบิกจ่ายเงินค่าโทรศัพท์ หรือค่าน้ำมันรถยนต์ ตามระเบียบของบริษัท ให้แก่พนักงานเนื่องจากพนักงานได้นำโทรศัพท์ หรือน้ำมันรถยนต์นั้นไปใช้เฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน และได้จ่ายไปทั้งหมดเพื่อการปฏิบัติงานตามหน้าที่อันเกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการ ที่พนักงานจะได้รับยกเว้นไม่ถือว่าเงินค่าโทรศัพท์และค่าน้ำมันรถยนต์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน อันถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

     ดังนั้น เมื่อสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งกับสิทธิได้รับรถประจำตำแหน่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นเหตุให้เกิดผลทางกฎหมายในอันที่จะถือเป็นเงินได้พึงประเมินหรือไม่แตกต่างกัน แม้เงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งจะมีที่มาจากรถประจำตำแหน่งดังที่โจทก์อ้าง ก็มิใช่เป็นเหตุผลโดยกฎหมายอันจะทำให้เงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งไม่เป็นเงินได้พึงประเมิน จึงเข้าลักษณะเป็นทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน อันถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรดาสำหรับเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งดังกล่าว

นายวรินทร สะรุโณ

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9785, 0-2680-9777
Email: Warinthorns@dlo.co.th