จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนสิงหาคม 2564

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 121 เดือนสิงหาคม 2564

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคให้แก่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
2. ขยายระยะเวลายกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้สำหรับการนำเข้าสินค้าต้าน COVID-19 เพื่อการบริจาค
3. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้
4. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

ข่าวภาษี
1. กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากดอกเบี้ยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8376/2563
ระหว่าง     บริษัท ว. จำกัด     โจทก์
          กรมศุลกากร      จำเลย
เรื่อง อำนาจฟ้อง กรณีอุทธรณ์การประเมินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มแยกกัน

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคให้แก่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 719) พ.ศ. 2564 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสำหรับการบริจาคเงินผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคสินค้า ให้แก่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3wSKt8y และ https://bit.ly/3l83TUC

2. ขยายระยะเวลายกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้สำหรับการนำเข้าสินค้าต้าน COVID-19 เพื่อการบริจาค

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 720) พ.ศ. 2564 กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการนำเข้าสินค้าที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรค COVID-19 เพื่อบริจาคให้แก่สถานพยาบาลที่กำหนด โดยไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินที่บริจาคนั้นมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ สำหรับการนำเข้าและบริจาคตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2UqT4Cb และ https://bit.ly/3xROrQ3

3. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 721) พ.ศ. 2564 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้สถาบันการเงินสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงิน และยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินและสถาบันการเงิน สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า และการกระทำตราสาร อันเนื่องมาจากการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3rlJuwD และ https://bit.ly/3xLF2cS

4. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

     กฎกระทรวง ฉบับที่ 375 (พ.ศ. 2564) เพิ่มข้อ 6 เตรส ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2563) โดยกำหนดให้การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่ได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ตามมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 6 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2563)

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/36Iy3p5

ข่าวภาษี

1. กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากดอกเบี้ยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

     เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับดอกเบี้ยที่ได้จากพันธบัตรออมทรัพย์ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันการเงิน

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/36W6vNj

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8376/2563
ระหว่าง     บริษัท ว. จำกัด     โจทก์
          กรมศุลกากร      จำเลย
เรื่อง : อำนาจฟ้อง กรณีอุทธรณ์การประเมินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มแยกกัน

ประเด็นข้อพิพาท : โจทก์มีอำนาจฟ้องเพิกถอนการประเมินในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

ข้อเท็จจริง : โจทก์นำเข้าสินค้าเครื่องจัดเก็บอุปกรณ์เลื่อนได้อัตโนมัติควบคุมการทำงานโดยคอมพิวเตอร์ โดยสำแดงพิกัด 8479.890 อัตราอากร ร้อยละ 1 (ลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและการยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2546) แต่จำเลยแจ้งการประเมินว่าสินค้าดังกล่าวจัดอยู่ในพิกัด 9403.20 อัตราอากร ร้อยละ 20 โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์การประเมินอากรขาเข้าต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย และอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมสรรพากร ต่อมาจำเลยได้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์มายังโจทก์ โจทก์จึงฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งในส่วนอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม

คำพิพากษา : ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมสรรพากร และยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมสรรพากร จึงอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมสรรพากรที่จะต้องวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป โจทก์ไม่อาจก้าวล่วงมาฟ้องขอเพิกถอนการประเมินในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มได้

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกา เนื่องจากการฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร ผู้ฟ้องคดีจะต้องอุทธรณ์การประเมินภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย และได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อนจึงจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7 (1) และมาตรา 8 ซึ่งเป็นไปตามลำดับขั้นตอนการพิจารณาและวินิจฉัยของกฎหมาย ดังนั้น เมื่อการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมสรรพากร จึงเท่ากับว่าการพิจารณาในส่วนนี้ยังไม่แล้วเสร็จ จึงไม่อาจข้ามขั้นตอนมาฟ้องคดีต่อศาลได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจที่จะกระทำได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มนี้จนกว่าจะได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมสรรพากร

     จากปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้องดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่ายังมีผู้ประกอบการหลายรายที่ไม่ทราบว่าการอุทธรณ์การประเมินอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถรวมยื่นที่กรมศุลกากรเพียงจุดเดียวได้ โดยยื่นต้นฉบับคำอุทธรณ์ตามแบบ กศก.171 จำนวน 1 ชุด และสำเนา 1 ชุด ภายในกำหนดเวลา 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแบบแจ้งการประเมิน เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมศุลกากรและกรมสรรพากรพิจารณาในคราวเดียวกัน ซึ่งจะเป็นผลทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลภาษีอากรกลางเพื่อขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ทั้งในส่วนอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกันได้ ทั้งนี้ ตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 189/2560 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2560

     อย่างไรก็ดี สำหรับภาษีสรรพสามิตนั้น ผู้ประกอบการยังคงต้องยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีสรรพสามิตตามแบบ อส.1 ณ สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ หรือสำนักงานสรรพสามิตภาค หรือสำนักกฎหมาย กรมสรรพสามิต เท่านั้น ไม่สามารถรวมยื่นที่กรมศุลกากรได้ ทั้งนี้ ตามประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอุทธรณ์การประเมินภาษี พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 16 กันยายน 2560

นางสาววรรณนิภา สงวนราษฎร์

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725
Email: wannipas@dlo.co.th