จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนสิงหาคม 2562

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 103 เดือนสิงหาคม 2562

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์
2. แก้ไขเพิ่มเติมเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
3. กำหนดให้การยาสูบเสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาทุกทอด
4. กำหนดให้การยาสูบเสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทุกทอด

ข่าวภาษี

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2673/2561
ระหว่าง บริษัท ส. โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีรับจ้างขนส่งตามสัญญาจ้างเหมาระวางบรรทุกของเรือ (Charter)

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. กำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตม์ (ฉบับที่ 58) กำหนดให้ตราสารอิเล็กทรอนิกส์บางรายการต้องชำระอากรเป็นตัวเงินตามมาตรา 103 (3) แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ผู้มีหน้าที่เสียอากรยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ตผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร หรือทาง Application Programming Interface ของกรมสรรพากร แล้วชำระเงินค่าอากรก่อนกระทำตราสารหรือภายใน 15 วัน นับแต่วันถัดจากวันกระทำตราสาร ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของกรมสรรพากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Payment) จากนั้นกรมสรรพากรจะออกรหัสรับรองการเสียอากรแสตมป์ พร้อมใบเสร็จรับเงิน จึงถือว่าตราสารอิเล็กทรอนิกส์ได้ปิดอากรแสตมป์สมบูรณ์แล้ว ทั้งนี้ ตราสารอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ประกอบด้วยตราสารดังนี้
1.) จ้างทำของ ตามลักษณะแห่งตราสาร 4. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
2.) กู้ยืมเงินหรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร ตามลักษณะแห่งตราสาร 5. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
3.) ใบมอบอำนาจ ตามลักษณะแห่งตราสาร 7. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
4.) ใบมอบฉันทะ สำหรับให้ลงมติในที่ประชุมของบริษัท ตามลักษณะแห่งตราสาร 8. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
5.) คำประกัน ตามลักษณะแห่งตราสาร 17. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป อีกทั้งสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จัดทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ผู้มีหน้าที่เสียอากรจะเลือกยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงินโดยใช้แบบ อ.ส.4 ก็ได้ และตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2RIYfI6

2. แก้ไขเพิ่มเติมเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กฎกระทรวงฉบับที่ 349 (พ.ศ.2562) แก้ไขเพิ่มเติม (19) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้จากการขายสินค้ายาสูบที่การยาสูบแห่งประเทศไทยได้เสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายสินค้าดังกล่าวทุกทอดตามมาตรา 48 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 และตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/32M6ok1

3. กำหนดให้การยาสูบเสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาทุกทอด
กฎกระทรวงฉบับที่ 350 (พ.ศ.2562) กำหนดให้สินค้ายาสูบตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิตเป็นสินค้าที่การยาสูบแห่งประเทศไทยต้องเสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายสินค้าดังกล่าวซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาทุกทอดที่ซื้อสินค้าของการยาสูบแห่งประเทศไทยตามมาตรา 48 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 12.5 ของกำไรของผู้ขายส่งและร้อยละ 10 ของกำไรของผู้ขายปลีก สำหรับสินค้าที่ขายในแต่ละเดือนปฏิทินด้วยการยื่นแบบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
ทั้งนี้ ใช้บังคับสำหรับการเสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 และตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2OhSDX8

4. กำหนดให้การยาสูบเสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทุกทอด
กฎกระทรวงฉบับที่ 351 (พ.ศ.2562) กำหนดให้สินค้ายาสูบตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิตเป็นสินค้าที่การยาสูบแห่งประเทศไทยต้องเสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายสินค้าดังกล่าวซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทุกทอดที่ซื้อสินค้าของการยาสูบแห่งประเทศไทยตามมาตรา 65 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 12.5 ของกำไรของผู้ขายส่งและร้อยละ 10 ของกำไรของผู้ขายปลีก สำหรับสินค้าที่ขายในแต่ละเดือนปฏิทินด้วยการยื่นแบบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
ทั้งนี้ ใช้บังคับสำหรับการเสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 และตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2XWXxgG

ข่าวภาษี

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2673/2561
ระหว่าง บริษัท ส. โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีรับจ้างขนส่งตามสัญญาจ้างเหมาระวางบรรทุกของเรือ (Charter)

ข้อเท็จจริง : โจทก์ประกอบกิจการโดยนำเรือไปรับจ้างขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเลตามสัญญาจ้างเหมาระวางบรรทุกของเรือ (Charter) แบบกำหนดระยะเวลา (Time Charter Party) โดยโจทก์เห็นว่า กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเลที่กระทำโดยผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลซึ่งได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (3) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย เห็นว่า การที่โจทก์นำเรือไปให้บริการพร้อมกัปตันเรือและพนักงานประจำเรือ มีผู้ใช้บริการเป็นผู้กำหนดเส้นทางเดินเรือและสั่งการ จึงถือว่าโจทก์ส่งมอบการครอบครองและการควบคุมเรือให้แก่ผู้ใช้บริการแล้ว ประกอบกับการเรียกเก็บค่าบริการที่โจทก์เรียกเก็บล่วงหน้าเท่ากันทุกเดือน จึงมีลักษณะเป็นการให้เช่าทรัพย์สินอันถือเป็นการให้บริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร

ประเด็นข้อพิพาท : การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

คำพิพากษา : จำเลยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักร เมื่อโจทก์ไม่ได้ขนส่งสินค้าออกจากราชอาณาจักร หรือขนเข้ามาในราชอาณาจักร กรณีจึงมิใช่การขนส่งทางทะเลอันอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 แต่อย่างไรก็ตามในการตีความสัญญานั้น ต้องตีความไปในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ซึ่งโจทก์นำสืบได้ว่า การที่โจทก์ทำสัญญาจ้างขนส่งแบบมีกำหนดระยะเวลา (Time Charter Party) อันมีลักษณะเป็นสัญญาบริการรับขนส่งสินค้าทางทะเลตามกฎหมายว่าด้วยพาณิชย์นาวี ประกอบกับรูปแบบสัญญาดังกล่าวสอดคล้องกับแบบมาตรฐานสำหรับชาร์เตอร์เรือตามประเพณีทางพาณิชย์นาวีทั่วไป อีกทั้งหน้าที่และความรับผิดของโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวที่โจทก์ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าและความล่าช้าที่เกิดจากการขนส่งสินค้าต่อผู้ใช้บริการ และความรับผิดอันเกิดจากการเดินเรือต่อบุคคลภายนอกนั้น แสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์อยู่ในฐานะเป็นผู้ขนส่ง ดังนั้น ตามสัญญาดังกล่าวและตามประเพณีการขนส่งระหว่างประเทศ จึงเชื่อได้ว่า โจทก์ตกลงทำสัญญาดังกล่าวกับผู้รับบริการโดยโจทก์เป็นผู้ขนส่ง การประกอบกิจการดังกล่าวเป็นการประกอบกิจการขนส่งระหว่างประเทศมิใช่การเช่าทรัพย์ การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบ
อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การประกอบกิจการให้บริการขนส่งระว่างประเทศของโจทก์ตามสัญญาดังกล่าว ไม่มีการขนส่งจากราชอาณาจักรไปยังต่างประเทศและจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร กรณีจึงไม่เป็นการให้บริการในราชอาณาจักรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 โจทก์จึงไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 แต่ก็มีผลให้ต้องเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวเนื่องจาก ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้การขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราเท่าใดนั้น จะต้องพิจารณาจากลักษณะของสัญญาหรือธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม กำหนดให้การขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรกรณีทั่วไปเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 และตามมาตรา 80/1 (3) กำหนดให้การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเลที่กระทำโดยผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0
จากกรณีพิพาทดังกล่าวเป็นการตีความลักษณะของสัญญาแตกต่างกันระหว่างโจทก์ที่เห็นว่า เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศซึ่งได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 กับเจ้าพนักงานประเมินที่เห็นว่า เข้าลักษณะเป็นการให้บริการเช่าทรัพย์ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 จึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณารายละเอียดของสัญญาทั้งสองประเภทว่ามีจุดแตกต่างที่เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าเป็นสัญญาประเภทใด ดังนี้

สัญญาบริการรับขนส่งสินค้าทางทะเลหรือสัญญาจ้างเหมาระวางบรรทุกของเรือ (Charter) แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. สัญญาจ้างเหมาระวางบรรทุกของเรือแบบรายเที่ยว (Voyage Charter) มีลักษณะเป็นการจ้างเหมาระวางบรรทุกโดยกำหนดรายเที่ยวเป็นสำคัญ
โดยเจ้าของเรือจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาเรือพร้อมทั้งอุปกรณ์ประจำเรือ ออกใบตราส่ง รับผิดในความเสียหายแก่เจ้าของสินค้า หรือความเสียหายต่อบุคคลภายนอกอันเกิดจากการเดินเรือ และดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งหมด เช่น นำมันเชื้อเพลิง ค่าจ้างลูกเรือ ค่าเสบียงอาหาร ค่าบำรุงรักษาและซ่อมแซมเรือ ค่าประกันภัยความรับผิด ประกันภัยตัวเรือ และเครื่องจักร เป็นต้น ส่วนผู้รับบริการจะเพียงแต่ใช้ประโยชน์จากระวางสินค้าเรือทั้งลำเพื่อส่งมอบสินค้าให้เจ้าของเรือขนส่งตามสัญญาและเป็นผู้รับผิดชอบบริหารการจัดส่งสินค้าที่จะทำการขนส่ง เช่น หาวิธีขนถ่ายสินค้า ติดต่อประสานงานกับผู้รับสินค้าและผู้รับตราส่ง เป็นต้น

2. สัญญาจ้างเหมาระวางบรรทุกของเรือแบบมีกำหนดระยะเวลา (Time Charter Party) มีลักษณะเป็นการจ้างเหมาระวางบรรทุกเรือโดยกำหนดระยะเวลาเป็นสำคัญ โดยเจ้าของเรือจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาเรือพร้อมทั้งอุปกรณ์ประจำเรือ ตลอดจนนายเรือและลูกเรือให้แก่ผู้รับบริการ และเป็นผู้ครอบครอง สั่งการในการเดินเรือ ออกใบตราส่ง รับผิดในความเสียหายแก่เจ้าของสินค้า หรือความเสียหายต่อบุคคลภายนอกอันเกิดจากการเดินเรือ และดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งหมด เช่น ค่าจ้างลูกเรือ ค่าเสบียงอาหาร ค่าบำรุงรักษาและซ่อมแซมเรือ ค่าประกันภัยความรับผิด ประกันภัยตัวเรือ และเครื่องจักร เป็นต้น ส่วนผู้รับบริการจะเพียงแต่ใช้ประโยชน์จากระวางสินค้าเรือทั้งลำเพื่อส่งมอบสินค้าให้เจ้าของเรือขนส่งตามระยะเวลาที่กำหนดและภายในขอบเขตเส้นทางการเดินเรือที่กำหนดไว้ในสัญญาและเป็นผู้รับผิดชอบด้านการพาณิชย์หรือการค้าต่าง ๆ เช่น การกำหนดเมืองท่าตามขอบเขตและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา รับผิดชอบต้นทุนแปรผัน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าธรรมเนียมการใช้เรือ และค่าพนักงานนำร่อง เป็นต้น

3. สัญญาจ้างเหมาระวางบรรทุกของเรือแบบเรือเปล่า (Bareboat Charter Party) เป็นสัญญาเช่าทรัพย์สินที่เจ้าของเรือต้องส่งมอบการครอบครองเรือให้แก่ผู้รับบริการ การดูแลรับผิดชอบเรื่องการเดินเรือ การจ้างนายเรือและลูกเรือ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับเรือ ความเสียหายหรือสูญหายของสินค้า อยู่ในความรับผิดชอบของผู้รับบริการ

ส่วนสัญญาเช่าทรัพย์สิน ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินที่เช่าให้แก่ผู้เช่าใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แห่งการเช่า ส่วนผู้เช่ามีหน้าที่จะต้องสงวนทรัพย์สิน บำรุงรักษา ตลอดถึงการซ่อมแซมเล็กน้อยสำหรับทรัพย์สินที่เช่าด้วย

ด้วยเหตุนี้ จุดที่เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความแตกต่างของสัญญาดังกล่าว คือ สัญญาเช่าทรัพย์สินจะมุ่งที่การส่งมอบสิทธิครอบครองในทรัพย์สินเป็นสำคัญ แต่สัญญาขนส่งอันมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของจะมุ่งที่ผลสำเร็จของการขนส่งเป็นสำคัญ โดยผู้ขนส่งมีหน้าที่และความรับผิดในการขนส่งและมิได้ส่งมอบสิทธิครอบครองในเรือให้แก่ผู้ใช้บริการ ดังนั้น เมื่อผู้รับบริการมีเพียงสิทธิในการใช้ประโยชน์จากระวางบรรทุกสินค้าโดยไม่มีสิทธิในการครอบครองเรือ อีกทั้งโจทก์มีหน้าที่และความรับผิดในการส่งสินค้าเป็นสำคัญ สัญญาดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล ดังคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น

นายวรินทร สะรุโณ

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760