• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • มาตรการภาษี 3 ฉบับ เพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package)

มาตรการภาษี 3 ฉบับ เพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package)

ฉบับที่ 1 ยกเว้นภาษีเงินได้ 100% สำหรับมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบอัตโนมัติ (Automation)

พระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 710 พ.ศ. 2563 กำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้

1. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวน 100% ของรายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครื่องจักร ตามโครงการลงทุนในระบบอัตโนมัติ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซ่มให้คงสภาพเดิม

2. จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

3. เครื่องจักรและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
     3.1 เป็นเครื่องจักรและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามโครงการลงทุนในระบบอัตโนมัติที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่อธิบดีประกาศกำหนด
     3.2 ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน
     3.3 เป็นเครื่องจักรและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่นำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ โดยต้องได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563
     3.4 อยู่ในราชอาณาจักร
     3.5 ไม่เป็นเครื่องจักรและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
     3.6 ไม่เป็นเครื่องจักรและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

4. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะใช้สิทธิจะต้องจัดทำโครงการลงทุนในเครื่องจักรและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครื่องจักรในระบบอัตโนมัติและแผนการจ่ายเงิน และแจ้งต่ออธิบดี

     ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 710 พ.ศ. 2563 ได้ที่ https://bit.ly/3igbknI

ฉบับที่ 2 ยกเว้นภาษีเงินได้ 50% สำหรับมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูง

พระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 711 พ.ศ. 2563 กำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้

1. ยกเว้นภาษีเงินนิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย สำหรับเงินได้เป็นจำนวน 50% ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นเงินเดือนให้แก่การจ้างงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินเดือน (จำนวนที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนค่าจ้างที่ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อเดือน)

2. เป็นเงินเดือนที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

3. ลูกจ้างดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
     3.1 ได้รับการรับรองว่าเป็นผู้มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ และทำงานในตำแหน่งหน้าที่งานดังกล่าว โดยหน่วยงานที่อธิบดีประกาศกำหนด
     3.2 เริ่มปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างแรงงานในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
     3.3 ไม่เป็นลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามข้อ 1. ในระยะเวลา 1 ปี ก่อนวันเริ่มปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างแรงงานตามข้อ 3.2

     ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 711 พ.ศ. 2563 ได้ที่ https://bit.ly/34bPlcA

ฉบับที่ 3 ยกเว้นภาษีเงินได้ 150% สำหรับมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง

พระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 712 พ.ศ. 2563 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล 150% ของรายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมหรือค่าใช้จ่ายในการจัดฝึกอบรมลูกจ้างในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐที่อธิบดีประกาศกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ข้างต้น ต้องไม่นำรายจ่ายดังกล่าวไปใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

     ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 712 พ.ศ. 2563 ได้ที่ https://bit.ly/36bCgTc