• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกันยายนและตุลาคม 2562

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกันยายนและตุลาคม 2562

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 104 เดือนกันยายนและตุลาคม 2562

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนจากการฝากเงินในประเทศ
2. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ หรือผลตอบแทนจากการฝากเงินในประเทศ
3. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย

ข่าวภาษี

1. มาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม
คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3612/2561
ระหว่าง บริษัท จ. โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีได้รับเงินชดเชยจากการตกลงกันเลิกสัญญา

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนจากการฝากเงินในประเทศ

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 351) กำหนดหลักเกณ์ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในประเทศ หรือดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นการฝากเงินในประเทศตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 664) พ.ศ. 2561 ดังนี้

1. ได้รับจากบัญชีเงินฝากที่ผู้มีเงินได้เปิดขึ้นใหม่โดยเฉพาะแยกต่างหากจากบัญชีเงินฝากประเภทอื่น และผู้มีเงินได้ต้องมีบัญชีเงินฝากที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นี้บัญชีเดียว
2. ต้องเป็นการฝากตามวงเงินและภายในระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละเดือน จะขาดการฝาก หรือฝากไม่ครบตามวงเงินที่กำหนด หรือฝากล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนด กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือทุกกรณีรวมกันเกินสองเดือนไม่ได้
3. ชื่อบัญชีเงินฝากจะต้องเป็นชื่อของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนเงินฝากนั้น แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลและกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
4. กรณีที่ผู้มีเงินได้ถอนเงินฝากตามข้อ 1 ก่อนครบกำหนดจ่ายคืนเงินฝาก ผู้มีเงินได้เป็นอันหมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนเงินฝากดังกล่าว
5. กรณีสามีภริยาเป็นผู้ฝากเงินร่วมกันและไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นเงินฝากของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด ให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง
6. ผู้ฝากเงินต้องแจ้งเลขประจำตัวประชาชน หรือเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรต่อธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ผู้รับฝากเมื่อเปิดบัญชีเงินฝากดังกล่าว
7. ธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนเงินฝาก ต้องส่งข้อมูลของผู้ฝากเงินต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่ตั้งอยู่แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ สำหรับรอบระยะเวลาตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2561 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 ให้ส่งภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2mYRtT6

2. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ หรือผลตอบแทนจากการฝากเงินในประเทศ

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 352) กำหนดหลักเกณ์ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำหรือผลตอบแทนเงินฝาก ตามหลักการของศาสนาอิสลามที่ได้รับจากการฝากเงินกับธนาคารในประเทศ ตามข้อ 2 (69) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ดังนี้

1. ได้รับจากการฝากเงินกับธนาคารในประเทศที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่เมื่อรวมกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทหรือผลตอบแทนเงินฝากแล้ว ต้องมีจำนวนรวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 30,000 บาทตลอดปีภาษีนั้น และผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากดังกล่าวเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์
2. ชื่อบัญชีเงินฝากต้องเป็นชื่อของผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนเงินฝากนั้น แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลและกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
3. กรณีที่ผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนเงินฝากตามข้อ 1 รวมกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทรวมกันหรือผลตอบแทนเงินฝาก มีจำนวนทั้งสิ้นเกิน 30,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น ให้ธนาคารผู้จ่าย หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทั้งจำนวน และนำส่งสรรพากร
4. กรณีสามีภริยาเป็นผู้ฝากเงินร่วมกันและไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นเงินฝากของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด ให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง
5. ผู้ฝากเงินต้องแจ้งเลขประจำตัวประชาชน หรือเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรต่อธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ผู้รับฝากเมื่อเปิดบัญชีเงินฝากดังกล่าว
6. ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนเงินฝากตามต้องแจ้งข้อมูลของผู้มีเงินได้ตามหนังสือแจ้งการขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
7. ธนาคารผู้จ่ายต้องส่งข้อมูลของผู้มีเงินได้ที่แจ้งต่อธนาคารตามข้อ 6 และข้อมูลการฝากเงินของผู้มีเงินได้ต่อกรมสรรพากร ภายในเดือนมกราคมของปีถัดไป เว้นแต่รอบระยะเวลาตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2561 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 ให้ส่งภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2n3qS7x

3. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 353) กำหนดหลักเกณ์ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ดังนี้

1. ผู้มีเงินได้ต้องมิใช่ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
2. อสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่เกิน 5,000,000 บาท และต้องไม่ใช่กรณีซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่มีการแยกสัญญาซื้อขายที่ดินและสัญญาก่อสร้างออกจากกัน
3. ต้องเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ตามจำนวนที่จ่ายจริง และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ให้แล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562
4. ต้องใช้สิทธิยกเว้นเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี 2562 ที่ต้องยื่นรายการและชำระภาษีเงินได้ในปี 2563
5. ผู้มีเงินได้ต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตนเอง
มาก่อน
6. ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เท่าจำนวนที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์จริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
7. กรณีที่หลายคนร่วมกันซื้ออสังหาริมทรัพย์ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ทุกคน โดยเฉลี่ยตามส่วนกรรมสิทธิ์ของแต่ละคน แต่รวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์จริงและไม่เกิน 200,000 บาท
8. กรณีที่สามีภริยาร่วมกันซื้ออสังหาริมทรัพย์ และต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ การได้รับสิทธิยกเว้น ภาษีเงินได้ให้ใช้หลักเกณฑ์ตามข้อ 7 โดยยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน ดังนี้
(ก) ถ้าต่างฝ่ายต่างยื่นรายการ ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
(ข) ถ้ายื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน ให้ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ส่วนของตน และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ส่วนของสามีหรือภริยาด้วย
9. กรณีที่สามีภริยาร่วมกันซื้ออสังหาริมทรัพย์ หากมีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เต็มจำนวนที่ได้จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
10. ผู้มีเงินได้ต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ แต่ไม่รวมถึงกรณีที่ผู้มีเงินได้ถึงแก่ความตาย หรืออสังหาริมทรัพย์นั้นสิ้นสภาพไปทั้งหมด
11. ให้ผู้มีเงินได้มีสิทธินำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2n51Chn

ข่าวภาษี

1. มาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการกำหนดขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยให้ยังคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563
ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป
คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3612/2561
ระหว่าง บริษัท จ. โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีได้รับเงินชดเชยจากการตกลงกันเลิกสัญญา

ข้อเท็จจริง : โจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการให้เช่าแผงตลาดสดและให้บริการเกี่ยวกับสาธารณูปโภค โดยโจทก์เช่าที่ดินจาก A เป็นระยะเวลา 15 ปี เพื่อนำมาทำแผงค้าตลาดสดแล้วเปิดให้บุคคลทั่วไปเช่าเป็นตลาดและแผงลอยมาเป็นเวลา 3 ปี แต่โจทก์ขาดทุนจากการประกอบกิจการจึงไม่ได้ชำระค่าเช่าตามสัญญาแต่อย่างใด
ต่อมา บริษัท B ต้องการเช่าที่ดินดังกล่าวโดยเสนอค่าตอบแทนให้แก่ A เป็นจำนวนสูงกว่าที่ A ตกลงไว้กับโจทก์ A จึงบอกเลิกสัญญาเช่าต่อโจทก์ จากนั้น ทั้ง 3 ฝ่ายจึงทำบันทึกข้อตกลงกันว่า โจทก์และ A ตกลงเลิกสัญญาเช่าต่อกัน และบริษัท B จะชำระเงินให้แก่โจทก์ 90,000,000 บาท เพื่อตอบแทนที่โจทก์ตกลงเลิกสัญญาเช่า และจัดการรื้อถอนอาคาร สิ่งปลูกสร้าง พร้อมทั้งให้ผู้เช่าแผงลอยออกจากตลาด แล้วให้ B เช่าที่ดินต่อจากโจทก์

ประเด็นข้อพิพาท : เงินที่โจทก์ได้รับจากบริษัท B อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

คำพิพากษา : บันทึกข้อตกลงดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โจทก์กับ A ทั้งสองฝ่ายตกลงเลิกสัญญาเช่าด้วยความสมัครใจ มิใช่เกิดจากการผิดสัญญา ทั้งยังมีข้อตกลงที่จะไม่เรียกร้อยค่าเช่า ค่าเสียหายใด ๆ ต่อกัน และ B ซึ่งมิใช่คู่สัญญาเดิมจะชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ ด้วยเหตุนี้ การที่ A บอกเลิกสัญญาโจทก์นั้นจึงเป็นเพียงนิติกรรมอำพรางเท่านั้น เงินค่าตอบเทนจำนวน 90,000,000 บาท จึงไม่ถือเป็นเงินชดเชยค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาเช่าตามที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนที่ B จ่ายให้แก่โจทก์เพื่อเลิกสัญญาเช่ากับ A อันถือเป็นค่าบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 ประกอบมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวเนื่องจาก ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้การขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดนิยามความหมายของคำว่า “บริการ” หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า ซึ่งการพิจารณาลักษณะของสัญญาหรือการกระทำใด ๆ ว่าจะเข้าลักษณะเป็นการให้บริการหรือไม่นั้น ย่อมจะต้องพิจารณาจากลักษณะ หรือเนื้อหาของสัญญาหรือธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริงเป็นสำคัญ ว่าคู่สัญญามีเจตนาในการทำสัญญาที่แท้จริงเป็นอย่างไร ไม่ใช่พิจารณาเพียงแต่ตัวอักษรในสัญญาหรือชื่อของของสัญญาเป็นหลัก ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาของแต่ละคดี ๆ ในฉบับก่อน ๆ ซึ่งได้วินิจฉัยเกี่ยวกับเนื้อหาและเจตนาที่แท้จริงของการทำนิติกรรมเป็นสำคัญ
จากกรณีพิพาทดังกล่าว เป็นการวินิจฉัยเกี่ยวกับเนื้อหาที่แท้จริงของการแสดงเจตนาทำนิติกรรมของคู่สัญญาเป็นสำคัญ และเมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าโจทก์ได้รับเงินจากบุคคลภายนอกเพื่อเป็นค่าตอบแทนที่โจทก์ยอมเลิกสัญญากับผู้ให้เช่าซึ่งเข้าลักษณะเป็นการกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์ที่มีมูลค่าได้ การกระทำดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงต้องนำเงินค่าตอบแทนดังกล่าวไปเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

อย่างไรก็ตาม หากโจทก์ได้รับค่าเสียหาย เนื่องจาก A เป็นฝ่ายผิดสัญญาเป็นผลให้มีการเลิกสัญญาต่อกันจริง เงินที่โจทก์ได้รับดังกล่าวย่อมเข้าลักษณะเป็นค่าเสียหายจากการเลิกสัญญาอันไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ดังนั้น ในการทำนิติกรรมหรือธุรกรรมใด ๆ คู่สัญญาจึงต้องพิจารณาจากลักษณะ หรือเนื้อหาของสัญญาหรือธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริงและอยู่ภายใต้หลักสุจริตเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์และป้องกันความเสียหายของคู่สัญญาเอง

นายวรินทร สะรุโณ

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760