จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกรกฎาคม 2562

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 102 เดือนกรกฎาคม 2562

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นไม่ต้องนำเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากโครงการจัดการลงทุนกลุ่มอาเซียนมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
2. ยกเว้นภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์
3. ยกเว้นภาษีเงินได้จำนวน 2 เท่า สำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
4. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 2 เท่า สำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์

ข่าวภาษี

1. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ
2. ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของ SMEs
3. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการระดมทุนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
4. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการกีฬา
5. มาตรการภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ
6. การกำหนดหลักเกณฑ์ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่
ระหว่าง                              บริษัท อ. จำกัด              โจทก์
กรมสรรพากร               จำเลย
เรื่อง ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมิได้เฉลี่ยภาษีซื้อ

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นไม่ต้องนำเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากโครงการจัดการลงทุนกลุ่มอาเซียนมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 680) พ.ศ. 2562 กำหนดให้ผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากโครงการจัดการลงทุนกลุ่มอาเซียน เฉพาะในส่วนของการเสนอขายหน่วยในประเทศไทย และยอมให้ผู้จ่ายเงินได้นั้นหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 10 ไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีผู้มีเงินได้ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืน
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2ZFxlU8

2. ยกเว้นภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 681) พ.ศ.2562 กำหนดให้ยกเว้นภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึง 31 ธันวาคม 2562 ดังนี้
1. สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามมาตรา 47 (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินที่ได้รับยกเว้นสำหรับการบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาในโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนดังกล่าวนั้น
2. สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นเงินได้เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ หรือรายจ่ายเพื่อการศึกษา หรือเพื่อการกีฬา หรือที่ต้องนำมารวมคำนวณรวมกับรายจ่ายดังกล่าวแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายดังกล่าว
3. ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือขายสินค้า หรือตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่สถานศึกษาดังกล่าว โดยผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2ICXPQA

3. ยกเว้นภาษีเงินได้จำนวน 2 เท่า สำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 682) พ.ศ.2562 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ถึง 31 ธันวาคม 2563 ดังนี้
1. สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามมาตรา 47 (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินที่ได้รับยกเว้นสำหรับการบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาในโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนดังกล่าวนั้น
2. สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นเงินได้เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ หรือรายจ่ายเพื่อการศึกษา หรือเพื่อการกีฬา หรือที่ต้องนำมารวมคำนวณรวมกับรายจ่ายดังกล่าวแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายดังกล่าว
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/31TGWIP

4. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 2 เท่า สำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 683) พ.ศ.2562 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 2 เท่าสำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2562 ถึง 31 ธันวาคม 2562 ดังนี้
1. รายจ่ายเพื่อการลงทุนในระบบการจัดทำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เก็บใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อื่นใดที่ใช้ร่วมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น
2. รายจ่ายเพื่อการลงทุนในระบบการนำส่งภาษี เพื่อใช้ในกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีและผู้ให้บริการชำระเงิน
3. รายจ่ายค่าบริการใช้พื้นที่เก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ค่าบริการใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ และค่าบริการที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จ่ายไปเพื่อประโยชน์สำหรับกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น
4. รายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องบันทึกการเก็บเงินของห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2xdR3dm

ข่าวภาษี

1. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 25 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ และได้รับการรับรองจากกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2LcPbtU

2. ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของ SMEs
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินเกิน 200 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานเกิน 200 คน เป็นจำนวน 2 เท่า ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ที่มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ หรือรายจ่ายเพื่อการศึกษา หรือเพื่อการกีฬา หรือที่ต้องนำมารวมคำนวณรวมกับรายจ่ายดังกล่าวแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายดังกล่าว ทั้งนี้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2562 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2563
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2LcPbtU

3. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการระดมทุนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ ดังนี้
1. ดอกเบี้ยและรางวัลสลากออมทรัพย์ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ แต่ไม่รวมถึงดอกเบี้ยซึ่งผู้รับมิใช่ผู้ทรงคนแรก ทั้งนี้ สำหรับสลากออมทรัพย์ที่ออกจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป
2. ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ทั้งนี้ สำหรับดอกเบี้ยที่คำนวณตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2LcPbtU

4. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการกีฬา
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้บริจาคหรือสนับสนุนการกีฬาให้แก่ การกีฬาแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกีฬาจังหวัด สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด สมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” หรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย และกรมพลศึกษา โดยขยายระยะเวลาจากมาตรการเดิมตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 596) พ.ศ. 2559 ซึ่งได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ออกไปอีก 1 ปี เป็น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2J7wjd7

5. มาตรการภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนการศึกษา โดยยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร ให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2J7wjd7

6. การกำหนดหลักเกณฑ์ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 71 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
1. การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการตรวจสอบข้อกำหนดของธุรกรรมและให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน ในกรณีที่มีข้อกำหนดทางด้านการพาณิชย์หรือการเงิน ในการทำธุรกรรมระหว่างกันแตกต่างจากที่ควรกำหนด หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวได้ดำเนินการโดยอิสระ
2. กำหนดข้อยกเว้นหน้าที่การรายงานข้อมูลและการนำส่งเอกสารหรือหลักฐานแสดงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์ข้อกำหนดของธุรกรรมระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายได้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสองร้อยล้านบาท
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2WWKWVv

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2376/2561
ระหว่าง                     บริษัท อ. จำกัด           โจทก์
กรมสรรพากร             จำเลย
เรื่อง ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมิได้เฉลี่ยภาษีซื้อ

ข้อเท็จจริง :  โจทก์เป็นผู้ประกอบการให้เช่าหรือขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ต) แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทห้างสรรพสินค้า โรงแรม ที่พัก และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะประเภทกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร ในช่วงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารสำนักงาน โจทก์ยื่นแบบแสดงยอดขายและภาษีขายเป็น 0 เนื่องจากยังไม่มีรายได้ แต่แสดงรายการภาษีซื้อจากรายจ่ายค่าก่อสร้าง และค่าใช้จ่ายอื่นตามความเป็นจริงเรื่อยมา ทำให้โจทก์มีภาษีที่ชำระไว้เกินและพันยอดมาถึงปัจจุบัน จากการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยปรากฏว่าโจทก์มีภาษีที่ชำระไว้เกิน ไม่มีหน้าที่ต้องชำระภาษีเพิ่ม และมิได้เฉลี่ยภาษีซื้อ อันเป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ไม่ถูกต้อง จึงประเมินให้โจทก์ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ

ประเด็นที่ต้องพิจารณา : โจทก์ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามการประเมินหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกา : กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นเฉลี่ยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษีตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อโจทก์มีการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นสำนักงานและให้เช่า มีทั้งสำนักงาน ศูนย์การค้า และโรงแรม ซึ่งเป็นกิจการทั้งที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และโจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารและการใช้พื้นที่ภายในกำหนดตามหลักเกณฑ์ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร โจทก์จึงไม่สามารถนำภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งจำนวนได้ กรณีเมื่อโจทก์แสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องแม้โจทก์จะมีภาษีที่ชำระไว้เกิน โจทก์ก็ต้องเสียเบี้ยปรับจากการยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้อง

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว เนื่องจาก ในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมีการประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการได้นำอาคารสำนักงาน สินค้าหรือบริการที่ได้มาในการประกอบกิจการไปใช้ในกิจการทั้งสองประเภท มีประเด็นจะต้องพิจารณาดังนี้

1. กรณีนำสินค้าหรือบริการไปใช้ในกิจการทั้งสองประเภท และสามารถแยกได้อย่างชัดเจนว่าภาษีซื้อที่เกิดขึ้นเป็นของกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ให้ถือเป็นภาษีซื้อของกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ๆ
2. กรณีนำสินค้าหรือบริการไปใช้ในกิจการทั้งสองประเภท และไม่สามารถแยกได้อย่างชัดเจนว่าภาษีซื้อที่เกิดขึ้นเป็นของกิจการประเภทใด ก็ให้เฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของแต่ละกิจการ และมีสิทธินำภาษีซื้อเฉพาะส่วนของกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมาหักออกจากภาษีขายเท่านั้น
3. กรณีก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ในการประกอบกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและเพื่อการอื่น ให้เฉลี่ยภาษีซื้อโดยประมาณการการใช้พื้นที่สำหรับกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีสิทธินำภาษีซื้อเฉพาะส่วนของกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมาหักออกจากภาษีขายเท่านั้น

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการคำนวณและเฉลี่ยภาษีซื้อดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกำหนด ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)

จากกรณีข้างต้น เมื่อปรากฏว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และใช้อาคาร สำนักงาน หรือทรัพย์สินต่าง ๆ เพื่อประกอบกิจการทั้งสองประเภทร่วมกันแล้วไม่สามารถแยกได้อย่างชัดเจนว่าภาษีซื้อที่เกิดขึ้นเป็นของกิจการประเภทใด ผู้ประกอบการจึงต้องนำภาษีซื้อดังกล่าวมาเฉลี่ยตามส่วนรายได้ของกิจการแต่ละประเภท หรือเฉลี่ยตามประมาณการการใช้พื้นที่ของกิจการแต่ละประเภทแล้วแต่กรณี เพื่อนำภาษีซื้อเฉพาะส่วนของกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี

ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการมิได้มีการเฉลี่ยภาษีซื้อ กรณีย่อมทำให้การยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้อง จึงต้องเสียเบี้ยปรับดังนัยคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว

นายวรินทร สะรุโณ

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760