จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนธันวาคม 2560

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’s Tax Newsletter

 

 

          ยินพรปีใหม่บันดาลไทยสุขสันต์คะนึงถึงเทวัญ ธ นำไทยสุขศรี
วันนี้แม้มีเพียงสำเนียงดนตรีตระหนักทำความดีตามวิถีของพระองค์
อยู่อย่างพอเพียงไม่ต้องพึ่งพาคำสอนพระราชาข้าฯน้อมนำตามประสงค์
รับผิดชอบประกอบกิจที่ตนดำรงเพื่อให้ไทยจงรุ่งเรืองวัฒนา
          ผ่านพ้นศกนี้ให้เป็นปีที่พ้นโศกขอให้ทุกข์ขอให้โรคภัยพาลพลันสูญ
เถลิงศักราชใหม่ให้ประเทืองเรืองจำรูญขอให้ไทยเพิ่มพูนความรักสามัคคี
กิจการงานใดใดให้รุ่งเรืองเฟื่องฟูยิ่งขอให้พบแต่เพียงสิ่งที่ดีงามความสุขศรี
สุขสวัสดิ์พิพัฒน์ผลขจรเกียรติทรัพย์ทวีขอให้ทุกท่านมีสุขสราญเบิกบานเทอญ

พุทธิมา เกิดศิริ : ประพันธ์

 

ฉบับที่ 84  เดือนธันวาคม 2560

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อหรือจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์

2. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในช่วงปลายปี 2560

 

ข่าวภาษี

1. มาตรการการเงินการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2560 (เพิ่มเติม)

2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ

3. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการซื้อขายทองคำแท่งตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีการรับมอบส่งมอบทองคำแท่ง

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 7052/2559

ระหว่าง                   บริษัท ก.                             โจทก์

กรมสรรพากร                      จำเลย

เรื่อง                       เงินส่วนต่างที่เกิดจากการรับประกันค่าเช่าถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อหรือจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 647) พ.ศ. 2560 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสามสิบล้านบาท (SMEs) สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหรือจ้างทำหรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างทำหรือผู้ให้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เฉพาะในส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก   https://goo.gl/FM8anW

 

2. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงปลายปี 2560

กฎกระทรวง ฉบับที่ 333 (พ.ศ. 2560) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 311) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาทให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษี ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2560 ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2560 แต่ไม่รวมถึงสินค้าและบริการบางประเภท เช่น สุรา ยาสูบ น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ รถยนต์ จักรยานยนต์ ค่าบริการนำเที่ยวและค่าที่พักโรงแรม

ติดตามรายละเอียดจาก https://goo.gl/NUJ5px และ https://goo.gl/BHwuEc

 

ข่าวภาษี

1. ขยายระยะเวลาสำหรับมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2560 (เพิ่มเติม)

ตามที่พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 645) พ.ศ. 2560 กำหนดหลักเกณฑ์และช่วงเวลาเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ 1.5 เท่า สำหรับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอุทกภัยระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ได้สิ้นสุดลงแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาสำหรับมาตรการดังกล่าวไปเป็นช่วงระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก  https://goo.gl/MHqYiy

 

2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาฯ นี้ใช้บังคับ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 โดยบุคคลธรรมดาสามารถหักเป็นค่าลดหย่อนได้เป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ และกรณีเป็นนิติบุคคลสามารถบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน และหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายสำหรับการบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์อื่นๆ ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อสาธารณประโยชน์อื่นๆ

ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่สถานศึกษาข้างต้น

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/gbnv6M

 

3. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการซื้อขายทองคำแท่งตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีการรับมอบส่งมอบทองคำแท่ง

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับเงินได้ส่วนที่เกินกว่าที่ลงทุนจากการขายทองคำแท่งหรือเงินได้จากเงินชดเชยที่ได้รับจากกรณีเลื่อนการรับมอบส่งมอบทองคำแท่งที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ 99.99 ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ดังกล่าว ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการขายทองคำแท่งที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ 99.99 และยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นทองรูปพรรณหรือของรูปพรรณตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ทั้งนี้ สำหรับเงินได้และการขายตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับและตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/KiVSGe

 

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 7052/2559

ระหว่าง                   บริษัท ก.                             โจทก์

กรมสรรพากร                      จำเลย

เรื่อง                       เงินส่วนต่างที่เกิดจากการรับประกันค่าเช่าถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

 

โจทก์ตกลงให้กองทุนรวมเช่าทรัพย์สินมูลค่า 1,700 ล้านบาท ซึ่งกองทุนรวมตกลงเช่าและระดมทุนโดยออกขายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ที่สนใจลงทุน แต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกองทุนรวม ผู้ให้เช่าตกลงจ่ายเงินรับประกันค่าเช่าให้แก่กองทุนรวมในกรณีที่กองทุนรวมนำทรัพย์สินออกให้เช่าช่วงแล้วได้รับค่าเช่าต่ำกว่าค่าเช่าที่โจทก์รับประกันไว้ ซึ่งตามปกติการที่ผู้เช่าจะได้รับค่าเช่าจากการให้เช่าช่วงมากหรือน้อยเพียงใดล้วนเป็นเรื่องภายในของผู้เช่าเอง ไม่เกี่ยวกับกิจการของผู้ให้เช่า ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นเพียงวิธีที่โจทก์ใช้ช่วยเหลือกองทุนรวมในการเสนอขายหน่วยลงทุนแก่ผู้ลงทุนเท่านั้น มิได้เป็นประโยชน์ในทางการค้าหรือหากำไรของโจทก์ การรับประกันค่าเช่าดังกล่าวจึงเป็นการก่อความผูกพันที่ทำให้โจทก์เกิดค่าใช้จ่าย แต่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์เองก็ได้รับเงินค่าเช่าจำนวน 1,700 ล้านบาทจากกองทุนรวมครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา กรณียิ่งไม่มีเหตุจำเป็นใดที่โจทก์ต้องจ่ายเงินเพื่อรับประกันค่าเช่าที่กองทุนรวมจะได้รับจากการให้เช่าช่วง เงินที่โจทก์จ่ายเป็นเงินประกันค่าเช่าจึงมิได้จ่ายไปเพื่อประโยชน์ในทางการค้าของโจทก์ โจทก์ไม่สามารถนำเงินส่วนต่างดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

 

ความเห็น

ตามปกติแล้วรายจ่ายที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิจะต้องเป็นรายจ่ายที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จ่ายหรือจะต้องจ่ายเนื่องจากการประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น มาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร จึงกำหนดให้รายจ่ายที่มิได้จ่ายไปเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจึงไม่สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้

อย่างไรก็ดี เมื่อประมวลรัษฎากรมิได้นิยามความหมายของคำว่า “เพื่อหากำไร” หรือ “เพื่อกิจการ” ไว้โดยเฉพาะ กรณีจึงต้องพิจารณาถึงลักษณะของรายจ่าย หลักเกณฑ์และวิธีการจ่าย ตลอดจนเหตุผลความจำเป็นและหลักฐานในการจ่ายจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า การที่จะพิจารณาว่ารายจ่ายใดเป็นรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการ นอกจากจะต้องพิจารณาว่าเป็นรายจ่ายที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นมีหน้าที่หรือข้อผูกพันที่ต้องจ่ายหรือไม่แล้ว รายจ่ายดังกล่าวก็ควรเป็นรายจ่ายที่ก่อให้เกิดรายได้หรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้จ่ายเงินไปด้วย เพราะหากเป็นรายจ่ายที่จ่ายไปเพื่อประโยชน์ของกิจการอื่นก็ย่อมไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นใดที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าว

ดังนั้น เมื่อเงินส่วนต่างที่โจทก์ต้องจ่ายเนื่องจากการรับประกันค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าไม่ได้ทำให้โจทก์มีรายได้หรือได้รับประโยชน์อื่นใดเพิ่มมากขึ้น เพราะโจทก์เองก็ได้รับค่าเช่าครบถ้วนตั้งแต่วันทำสัญญาเช่าแล้ว เงินที่โจทก์จ่ายไปจึงไม่ได้ทำไปเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของโจทก์โดยเฉพาะ ที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเงินส่วนต่างจากการรับประกันค่าเช่าดังกล่าวเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้เขียนเห็นพ้องด้วย

วรรณนิภา สงวนราษฎร์

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760 Email: kamphols@dlo.co.th

 

บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th