• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนธันวาคม 2558

จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนธันวาคม 2558

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 61 เดือนธันวาคม 2558

 

                                                                ขอท่านสุขทั่วหล้า               เจริญรุ่งเรือง

                                                                กิจการงานประเทือง            พรั่งพร้อม

                                                                สำเร็จล่วงลงได้                   โดยง่ายดายนา

                                                                ธรรมนิติวอนให้                  ท่านไร้ภัยพาล

                                                                       พุทธิมา  เกิดศิริ ประพันธ์       

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

กำหนดเงินได้บางประเภทได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณ

รมว.คลังออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 309 (พ.ศ.2558) กำหนดให้เงินได้ดังต่อไปนี้ที่ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคลได้รับเป็นเงินได้พึงประเมินที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

1. เงินได้จากส่วนแบ่งกำไรจากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมซึ่งได้มาโดยทางมรดกหรือจากการให้โดยเสน่หา

2. ดอกเบี้ยเงินฝากซึ่งถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ทั้งนี้ เฉพาะผู้ที่ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/aPML9f

กำหนดหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์กรณีประกอบธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 591) พ.ศ.2558 ลดอัตราภาษีเงินได้ให้แก่นิติบุคคลที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้น

อธิบดีกรมสรรพากรออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 262) กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

1. กำหนดความหมายของคำว่า “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” “รายได้จากการผลิตสินค้า” “รายได้จากการให้บริการ” และ “รายได้จากกิจการอื่น”

2. กำหนดให้นิติบุคคลรายใดที่ประสงค์ใช้สิทธิต้องแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 โดยยื่นคำขอที่สำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ กรมสรรพากรหรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่นิติบุคคลนั้นมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่แล้วแต่กรณี

3. กำหนดให้นิติบุคคลตามข้อ 2 ยื่นแผนธุรกิจเพื่อประกอบการพิจารณาโดยมีรายละเอียด เช่น ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับนิติบุคคล รายละเอียดธุรกิจที่ขอจดแจ้งการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นต้น

4. การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของนิติบุคคลที่ขอใช้สิทธิเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร

5. กรณีนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษซึ่งได้รับสิทธิลดอัตราภาษีและกิจการที่ไม่ได้รับสิทธิลดอัตราภาษี ซึ่งมีรายได้จากทั้งสองกิจการ หากมีผลขาดทุนสุทธิสำหรับกิจการใด ให้คงผลขาดทุนสุทธิไว้สำหรับกิจการนั้นเท่านั้น

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเป็นไปตามที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรกำหนดและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/ye4WRR

 

ข่าวภาษี

สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณี FTA ไทย-ชิลี มีผลใช้บังคับแล้ว

                รมว.กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ตามที่ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยและชิลีมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 นั้น ความตกลงดังกล่าวส่งผลให้สินค้าของชิลีและไทยร้อยละ 90 และมูลค่าการนำเข้าสินค้าลดภาษีเหลือร้อยละ 0 สำหรับสินค้าที่เหลืออีกร้อยละ 10 ทั้งสองประเทศจะทยอยลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ภายในเวลา 8 ปี

                ติดตามรายละเอียดได้จาก  http://goo.gl/9nwR3Q

คาดการณ์ปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

                ปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปภาษีเปิดเผยว่า ได้มีการประชุมร่วมกับกรมสรรพากรเพื่อพิจารณาปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะพิจารณาให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนธันวาคม 2558 นี้

                ติดตามรายละเอียดได้จาก  http://goo.gl/7HYMxd

จัดเก็บรายได้เดือนแรกได้ต่ำกว่าเป้า

                โฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า เดือนตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 นั้น รัฐเก็บรายได้สุทธิ 165,304 ล้านบาทซึ่งต่ำกว่าประมาณการ 1,212 ล้านบาทหรือร้อยละ 0.7 สาเหตุสำคัญมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษียาสูบเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ

                ติดตามรายละเอียดได้จาก  http://goo.gl/3djgMP

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 12846/2557

ระหว่าง                   บริษัท อ                                              โจทก์

กรมสรรพากร                                      จำเลย

เรื่อง                       หลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม

ปัญหาว่าโจทก์ถูกจำเลยประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีธันวาคม 2547 และเดือนภาษีธันวาคม 2549 เนื่องจากโจทก์ขายสินค้าและแสดงรายรับไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่ เห็นว่ามาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากรกำหนดให้ฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าได้แก่ มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้า และตามมาตรา 79/3(1) กำหนดให้มูลค่าฐานภาษีกรณีขายสินค้าโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้ถือตามราคาตลาดของสินค้าในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้น

การที่จำเลยวางแนวปฏิบัติในการกำหนดมูลค่าฐานภาษีสินค้าของโจทก์ว่า จะต้องไม่ต่ำกว่าราคาที่เจ้าพนักงานกรมศุลกากรประเมิน เพื่อเรียกเก็บอากรขาเข้าบวกด้วยอากรขาเข้าของกรมศุลกากร โดยวิธีดังกล่าวเป็นราคาเฉลี่ยที่คำนวณโดยการเก็บสถิติราคาสินค้าจากผู้นำเข้าทุกราย แนวปฏิบัติดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดราคาที่มีเหตุผล นอกจากนี้โจทก์เองก็เคยยินยอมชำระอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มตามวิธีดังกล่าว ซึ่งโจทก์ยังได้เคยนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้ชำระมาถือเป็นภาษีซื้อและใช้คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามแนวทางการคำนวณของเจ้าพนักงาน ย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นการประเมินที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดที่แท้จริง เมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นจึงต้องฟังว่าการขายสินค้าของโจทก์เป็นการขายต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร

ความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติม

จากคดีข้างต้นมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ การคำนวณฐานภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการขายเครื่องยนต์เก่าจากการนำเข้าของโจทก์ถูกต้องหรือไม่ กรณีนี้ตามมาตรา 79/3(1) แห่งประมวลรัษฎากรให้ถือตามราคาตลาดของสินค้าในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้น ซึ่งหลักเกณฑ์การคำนวณราคาตลาดกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะจึงต้องใช้แนวทางปฏิบัติ ซึ่งจำเลยได้วางแนวปฏิบัติว่าต้องเป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาที่เจ้าพนักงานกรมศุลกากรประเมิน เพื่อเรียกเก็บอากรขาเข้าบวกด้วยอากรขาเข้าของกรมศุลกากร ดังนั้น หากโจทก์ตั้งราคาขายต่ำกว่าราคาที่กล่าวข้างต้นย่อมมีแนวโน้มว่าจะเป็นการขายสินค้าโดยมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรซึ่งอาจถูกประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากแสดงภาษีขายขาดไปได้และเมื่อเป็นการขายต่ำกว่าราคาตลาดแล้วอาจเป็นผลให้เจ้าพนักงานสรรพากรประเมินให้มีรายได้เพิ่มขึ้นตามมาตรา 65 ทวิ(4) แห่งประมวลรัษฎากรและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกโสดหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ดี หากโจทก์สามารถพิสูจน์ได้ว่าราคาที่ตนตั้งขายนั้นแม้ว่าจะต่ำกว่าราคาตลาดแต่มีเหตุอันสมควรโจทก์ก็อาจไม่ต้องรับผิด ซึ่งต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป เช่น กรณีการขายรถยนต์ในราคาต่ำกว่าทุนในภาวะที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงโดยบริษัทผู้ขายเป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ประเภทนั้นประเภทเดียวและมีความจำเป็นต้องขายรถยนต์เพื่อนำเงินสดมารักษาสภาพคล่องของบริษัท กรณีดังกล่าวแม้ว่าจะเป็นการขายทรัพย์สินที่ต่ำกว่าราคาตลาดก็ถือว่าเป็นการขายโดยมีเหตุอันสมควรตามมาตรา 79/3(1) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นต้น  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 5639/2550)

นายธรดล  จันทรศัพท์
ที่ปรึกษาภาษีอากร

                หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใดๆเกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนน วิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9753 Email:  budhimak@dlo.co.th, sureelukt@dlo.co.th

    บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th

 

พุทธิมา เกิดศิริ

+662 680-9751

budhimak@dlo.co.th

 

สุรีย์ลักษณ์ ธนากิจไพศาล

+662 680-9753

sureelukt@dlo.co.th