• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกรกฎาคม 2558

จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกรกฎาคม 2558

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 56 เดือนกรกฎาคม 2558

กฎหมายใหม่ล่าสุด

กำหนดหลักเกณฑ์ การใช้สิทธิลดภาษีเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ

                ตามที่มีพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 584) พ.ศ.2558 ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้มีเงินได้จากการขายสินค้า ให้บริการ รวมถึงกรณีขายอสังหาริมทรัพย์ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจในปีพ.ศ.2558 ถึง พ.ศ.2560 นั้น

อธิบดีกรมสรรพากรออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 254) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขว่าหากบุคคลดังกล่าวประสงค์จะใช้สิทธิประโยชน์ต้องแจ้งการใช้สิทธิตามแบบพิมพ์ตามที่กำหนดภายใน 60 วันนับแต่วันแรกของทุกปีภาษีหรือวันแรกของทุกรอบระยะบัญชี สำหรับปีภาษี 2558 ให้แจ้งภายใน 60 วันนับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/S9M0r4

กำหนดหลักเกณฑ์การยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย

                อธิบดีกรมสรรพากรออกประกาศเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 255) กำหนดหลักเกณฑ์การยื่นแบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับบุคคลธรรมดา ดังนี้

1. แบบภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.1 ก, ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ, ภ.ง.ด.3 และ ภ.ง.ด.3 ก ให้ใช้แบบตามที่กรมสรรพากรกำหนดเท่านั้น เว้นแต่อธิบดีจะกำหนดเป็นอย่างอื่นและแบบฯดังกล่าวอาจยื่นด้วยสื่อบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์หรือด้วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นที่มีรายการอย่างน้อยตามที่ประกาศฉบับนี้กำหนดโดยไม่ต้องยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมสรรพากรก่อนแต่อย่างใด

2. แบบภ.ง.ด.2 และภ.ง.ด.2 ก ให้ยื่นด้วยสื่อบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์หรือด้วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นที่มีรายการอย่างน้อยตามที่ประกาศฉบับนี้กำหนด เว้นแต่อธิบดีกรมสรรพากรจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ใช้บังคับสำหรับแบบภ.ง.ด.2 ที่ใช้ยื่นรายการสำหรับเดือนภาษีกรกฎาคม พ.ศ.2558 และแบบภ.ง.ด.2 ก สำหรับการยื่นรายการของปีภาษี พ.ศ.2558 เป็นต้นไป

สำหรับผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายซึ่งได้ยื่นแบบด้วยสื่อบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ตามรูปแบบของข้อมูลเดิมซึ่งได้ยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมสรรพากรแล้วนั้นสามารถยื่นโดยใช้รูปแบบข้อมูลเดิมต่อไป อย่างไรก็ดีแบบภ.ง.ด. 2 ให้ยื่นโดยใช้แบบข้อมูลเดิมได้เฉพาะเดือนภาษีกรกฎาคมถึงธันวาคม พ.ศ.2558 และแบบภ.ง.ด. 2 ก. ให้ยื่นโดยใช้แบบข้อมูลเดิมเฉพาะปีภาษีพ.ศ. 2558 เท่านั้น

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2558 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ กรมสรรพากรได้ออกคำชี้แจงเกี่ยวกับวิธีการยื่นแบบภ.ง.ด.2 และภ.ง.ด.2 ก โดยผู้มีหน้าที่หักภาษีอาจยื่นแบบภ.ง.ด.2 โดยเป็นกระดาษพร้อมสื่อบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายหรือยื่นโดยใช้บริการโปรแกรมสำหรับซอฟแวร์สำเร็จรูป หรือผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตก็ได้ โดยเริ่มใช้บังคับตั้งแต่เดือนภาษีกรกฎาคม พ.ศ.2558 เป็นต้นไป แต่หากผู้มีหน้าที่ยื่นแบบภ.ง.ด. 2 ยังไม่อาจยื่นด้วยวิธีดังกล่าวได้ก็สามารถยื่นแบบภ.ง.ด.2 ที่เป็นกระดาษได้เฉพาะเดือนภาษีกรกฎาคมและสิงหาคม พ.ศ. 2558

ในขณะที่การยื่นแบบภ.ง.ด. 2 ก อาจยื่นโดยเป็นกระดาษพร้อมสื่อบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายหรือยื่นโดยใช้บริการโปรแกรมสำหรับซอฟแวร์สำเร็จรูปก็ได้ซึ่งเริ่มใช้บังคับกับปีภาษีพ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่กรมสรรพากรชี้แจง

ติดตามรายละเอียดได้จาก  http://goo.gl/D4XznE และ http://goo.gl/1xPJw8

กำหนดแก้ไขหลักเกณฑ์การยื่นแบบภ.ง.ด. 53 ด้วยสื่อในระบบคอมพิวเตอร์หรือด้วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

                ตามที่ได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 16) กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหากประสงค์จะยื่นแบบแสดงรายการด้วยสื่อบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ต้องยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมสรรพากรก่อนนั้น

                อธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 256) แก้ไขประกาศดังกล่าวข้างต้นโดยหากผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายประสงค์ยื่นรายการด้วยสื่อบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์หรือด้วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่น ที่มีรายการอย่างน้อยตามที่ประกาศฯ (ฉบับที่ 256) กำหนด สามารถยื่นได้ทันทีโดยไม่ต้องยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมสรรพากรอีกต่อไป

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/cu9GDD

ข่าวภาษี

สรรพากรเล็งเพิ่มค่าลดหย่อนส่วนตัวและค่าลดหย่อนเกี่ยวกับบุตร

อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่ากรมสรรพากรกำลังพิจารณาเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านภาษีหลายด้าน ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่สำคัญได้แก่  สิทธิเพิ่มค่าลดหย่อนส่วนตัวซึ่งปัจจุบันให้ 40% ของรายได้แต่ไม่เกิน 6 หมื่นบาทเป็น 1.2 แสนบาท สิทธิเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรที่ปัจจุบันให้แก่บุตร 2 คน คนละ 17,000 บาทสำหรับบุตรที่ศึกษาในประเทศ และ 15,000 บาทสำหรับบุตรที่ศึกษาต่างประเทศ เป็นให้สิทธิโดยไม่จำกัดจำนวนบุตรและเพิ่มวงเงินเป็น 30,000 บาทต่อคน

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/gCYLJU

(อนึ่ง ผู้จัดทำเห็นว่าข่าวข้างต้นมีข้อผิดพลาดเล็กน้อย กล่าวคือ สิทธิหักค่าลดหย่อนบุตรในปัจจุบันมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากรให้สิทธิลดหย่อนบุตรไม่เกิน 3 คนไม่ใช่ 2 คนตามที่ข่าวเสนอ)

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 13721/2557

ระหว่าง                 กรมสรรพากร                                      โจทก์

กับ                       บริษัท ก กับพวก                                 จำเลย

เรื่อง                     เพิกถอนการฉ้อฉล

เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ยื่นรายการพร้อมชำระภาษีครั้งแรกภายใน 2 เดือนนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือนและยื่นรายการพร้อมชำระภาษีครั้งที่สองภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 67 ทวิและมาตรา 68 แห่งประมวลรัษฎากร แม้ว่าต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์เพิ่งมีหนังสือแจ้งการประเมินไปยังจำเลยที่ 1 ภายหลังวันดังกล่าว ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของโจทก์ตามความหมายแห่งประมวลรัษฎากรและตามมาตรา 237 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วตั้งแต่วันที่โจทก์มีหน้าที่ยื่นรายการและชำระภาษีแล้วมิใช่วันที่โจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมิน

หลังจากจำเลยที่ 1 ยื่นรายการพร้อมชำระภาษีไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนลดทุนและโอนเงินค่าหุ้นคืนจำเลยที่ 3 ถึง 11 เมื่อเป็นการโอนให้ฝ่ายเดียวและทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ย่อมเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนลดทุนได้ นอกจากนี้ การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 2 ที่ 16 และที่ 17 เป็นการทำให้โจทก์เสียเปรียบ อีกทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 16 และที่ 17 ได้รู้ถึงข้อที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบด้วย โจทก์ย่อมเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินได้

เมื่อหนังสือที่โจทก์แจ้งไม่อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ทุเลาการชำระภาษี และบันทึกที่เจ้าพนักงานโจทก์เสนออธิบดีโจทก์ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 กระทำนิติกรรมใดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงการทำนิติกรรมที่ทำให้ตนเสียเปรียบนั้น ดังนั้น แม้ว่าวันที่โจทก์มีหนังสือและมีบันทึกจนถึงวันฟ้องคดีจะเกิน 1 ปี คดีของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ

 ความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติม

จากคดีข้างต้นมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าโจทก์ขอเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนลดทุนและนิติกรรมการซื้อขายที่ดินเพราะเหตุกลฉ้อฉลได้หรือไม่ ซึ่งตามมาตรา 237 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดหลักเกณฑ์การจะขอเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ต้องมีเงื่อนไข 2 ประการ คือ 1. ผู้ขอเพิกถอนต้องเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้ 2. นิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำไปโดยรู้อยู่ว่าทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ โดยบุคคลที่เข้าทำนิติกรรมกับลูกหนี้ต้องรู้ถึงความจริงที่ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เว้นแต่เป็นการทำให้โดยเสน่หาลูกหนี้รู้แต่เพียงฝ่ายเดียวก็เพียงพอ

ดังนั้น ข้อสำคัญที่ต้องพิจารณาคือความเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้เกิดขึ้นเมื่อใด ในเรื่องนี้ศาลฎีกาเห็นว่าความเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ยื่นแบบและชำระภาษีตามกำหนดเวลาของประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลฎีกานั้นชอบแล้ว เนื่องจากหากพิจารณาเรื่องการคิดเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งได้กำหนดไว้ว่า กรณีที่ผู้เสียภาษีไม่เสียภาษีหรือเสียแต่ไม่ถูกต้องจะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสีย ซึ่งให้เริ่มคิดตั้งแต่เมื่อพ้นกำหนดยื่นรายการจนถึงวันชำระ จะเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดให้ผู้เสียภาษีทุกคนมีหน้าที่ยื่นรายการและชำระภาษีให้ถูกต้องตั้งแต่วันที่กฎหมายกำหนดเวลาไว้ หากผู้เสียภาษีรายใดไม่ชำระหรือชำระไม่ถูกต้อง ต้องถือว่าเป็นหนี้ภาษีอากรนับแต่เมื่อพ้นกำหนดเวลานั้น อันแสดงให้เห็นถึงสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอันมีมาแต่ต้น มิใช่เพิ่งจะเป็นหนี้ภาษีอากรในวันที่เจ้าพนักงานแจ้งการประเมินในภายหลัง

เมื่อฟังได้แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนลดทุนและซื้อขายที่ดินภายหลังวันที่ตนเป็นลูกหนี้และเป็นนิติกรรมที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบอีกทั้งผู้ที่เข้าทำนิติกรรมกับจำเลยที่ 1 ได้รู้ถึงความจริงที่โจทก์ต้องเสียเปรียบด้วย โจทก์จึงขอเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้

นายธรดล  จันทรศัพท์
ที่ปรึกษาภาษีอากร

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใดๆเกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนน วิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9753 Email:  budhimak@dlo.co.th, sureelukt@dlo.co.th

    บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th

 

พุทธิมา เกิดศิริ

+662 680-9751

budhimak@dlo.co.th

 

สุรีย์ลักษณ์ ธนากิจไพศาล

+662 680-9753

sureelukt@dlo.co.th