กระทรวงพาณิชย์ เสนอแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

นางปัจฉิมา ธนสันติ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายบายด้านทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งการปราบปราม และการส่งเสริมผ่านโครงการครีเอทีฟไทยแลนด์ หรือการพึ่งพาการสร้างสรรค์

ส่วนการจัดอันดับของสหรัฐอเมริกา ที่ยังให้ประเทศไทยคงอันดับประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) อยู่ แต่ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2552  หน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้มงวดกวดขัดมีการดำเนินคดีกับผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญากว่า 2,300 คดี จำนวนของกลาง 1.5 ล้านชิ้น  คาดว่าภายในปี 2553 ไทยจะหลุดจาก PWL

นางปัจฉิมา กล่าวอีกว่า  เมื่อต้นปี 2552 ไทยมีข่าวดีเรื่องมาตรการปราบปรามสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟแวร์   เนื่องจากกลุ่มบิสเนสซอฟแวร์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยประกาศว่าไทยมีการละเมิดลิขสิทธิ์ถึง 78% แต่ปัจจุบันได้ปรับลดเหลือ 76% ลดลง 2% และไทยไม่ติด 1 ใน 25 ประเทศที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟแวร์สูงที่สุดในโลก ส่วนการสร้างมูลค่าความเสียหายไทยอยู่ในอันดับที่ 17 ขณะที่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่สร้างความเสียหายสูงสุดในการละเมิดลิขสิทธิ์ด้านซอฟแวร์

"สถิติดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ไทยมีความพยายามรณรงค์ให้มีการใช้ซอฟแวร์และ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ถูกกฎหมาย  ซึ่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์ได้ประสานและกำชับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งปราบปรามสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง"นางปัจฉิมากล่าว

นางปัจฉิมา กล่าวเพิ่มเติมว่า  จากข้อมูลแนวชายแดนในเขตภาคเหนือ ที่อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นแหล่งผลิต-ซื้อขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ทราบว่าตำรวจท้องที่และส่วนกลางได้เข้าไปดำเนินการกับแหล่งผลิต แหล่งจัดเก็บ คาดว่าจะทำให้ของกลางในตลาดเริ่มมีปริมาณลดลง

ส่วนการระงับข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาเป็น แนวทางปฎิบัติหนึ่ง  รัฐมองว่าสามารถเจรจาได้ก่อนส่งเรื่องสู่กระบวนการศาล โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 ปัจจุบันมีเรื่องเข้าสู่กระบวนการเจรจาระงับข้อพิพาทกว่า 300 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นข้อพิพาทเรื่องซอฟแวร์  งานเขียนหนังสือ เครื่องหมายการค้า ฯลฯ

ส่วนการสำรวจพื้นที่จ.เชียงใหม่ ถูกจัดอันดับเป็นพื้นที่สีแดง – เหลือง โดยพื้นที่สีแดง หรือ พื้นที่ต้องจับตาและเฝ้าระวัง คือ ย่านไนท์บาซ่า ซึ่งพบมีการละเมิดลิขสิทธิ์ประเภทสินค้าแบรนด์เนม  และแหล่งจำหน่ายอุปกรณ์ – ซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ และซีดี

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ทรัพย์สินทางปัญญาเป็น เรื่องใหม่ เมื่อตำรวจจับกุมจะส่งเรื่องให้อัยการ หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ดำเนินการต่อ แต่ปัจจุบันรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เตรียมยกร่างกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มความผิดจับกุมผู้ซื้อ ผู้ครอบครอง สถานที่ให้เช่า ฯลฯ โดยวันจันทร์ที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมระดมความคิดเห็นการยกร่างก่อนเสนอ ครม.ออกเป็นกฎหมาย

พ.ต.อ.ศรายุทธ พูลธัญญะ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปทศ.) กล่าวว่า  ปทศ.ดำเนินการจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งซอฟแวร์ ซีดี และเครื่องหมายการทั่วประเทศตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและรัฐบาล ที่กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ต้นปี 2552 มีการจับกุมเฉลี่ยเดือนละ 400 – 500 คดี ส่วนคดีทั้งปี 2551 มีประมาณ 4,000 – 5,000 คดี

เบื้องต้นไม่สามารถเทียบข้อมูลได้ว่าการจับกุมเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่เจ้าหน้าที่กวดขันมากขึ้น โดยเฉพาะแนวชายแดนทางภาคเหนือ ด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ยอมรับว่าปทศ.มีกำลังน้อย การจับกุมจากส่วนกลางจึงไม่ต่อเนื่อง แต่ตำรวจท้องที่ดำเนินการได้ดีกว่าเพราะมีข้อมูลชัดเจน ปัจจุบันพบว่าสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าเริ่มลดลง

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ