• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • กทช. อนุมัติร่างวิทยุชุมชน ให้ทดลองออกอากาศ 300 วันและมีโฆษณาแบบสนับสนุนได้

กทช. อนุมัติร่างวิทยุชุมชน ให้ทดลองออกอากาศ 300 วันและมีโฆษณาแบบสนับสนุนได้

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะทำงาน ด้านกิจการกระจายเสียงวิทยุชุมชน ในคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กทช. เปิดเผยว่า ร่างวิทยุชุมชน ที่ กทช.อนุมัติ เมื่อวันที่ 29 พค.ศกนี้ คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเปิดให้ วิทยุชุมชน มาลงทะเบียนได้ภายในสิ้นเดือน มิ.ย. หรือประมาณต้นเดือน ก.ค.2552

โดยอนุกรรมการมีการปรับร่างในบางประเด็น หลังเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการวิทยุชุมชนกว่า 3 พันคน เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2552 ที่ผ่านมา หลังจากร่างวิทยุชุมชนประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะเปิดให้ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนมาลงทะเบียนภายใน 30 วัน เพื่ออยู่ในฐานะ "ทดลองออกอากาศ" ชั่วคราว และรอยื่นเรื่องขอรับใบอนุญาตภายใน 300 วัน ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนจากร่างประกาศเดิมที่กำหนดไว้ 90 วัน โดยเป็นการปรับร่างประกาศหลังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากเวทีสาธารณะ

ระหว่างการทดลองออกอากาศ ผู้ประกอบการวิทยุชุมชน ยังคงประกอบกิจการได้ตามเดิม คือในกลุ่มที่มีโฆษณา สามารถมีโฆษณาได้ต่อไป แต่ห้ามละเมิด พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 เช่น มาตรา 37 ห้ามมีเนื้อหาผิดศีลธรรม ทำลายชาติ ล้มล้างการปกครอง  เนื้อหาต้องไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เป็นต้น

ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตามร่างประกาศบริการชุมชนชั่วคราว จะได้รับการพิจารณาได้รับใบอนุญาตชั่วคราว 1 ปีจาก กทช. ระหว่างที่วิทยุชุมชนทดลองออกอากาศ และเกิดองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ หรือ กสทช. วิทยุชุมชนที่ต้องการประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ สามารถไปขอใบอนุญาตจาก กสทช.ได้ทันที

"หลังจากประกาศใช้ร่างวิทยุชุมชนแล้ว ไม่มีเหตุผลใด ที่ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวน 5 พันราย จะไม่มาลงทะเบียนกับ กทช. เพราะจะเข้าข่ายวิทยุเถื่อน และมีความผิดทางกฎหมายทันที แม้ว่าในช่วงทดลองออกอากาศ ยังเปิดให้มีโฆษณาได้เหมือนปกติ แต่ถือเป็นการจัดระเบียบวิทยุชุมชน จากใต้ดิน ให้ขึ้นมาอยู่บนดินทั้งหมด และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ" พ.อ.นที กล่าว

นอกจากนี้การประกาศใช้ร่างวิทยุชุมชน ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กทช. จะทำให้วิทยุชุมชน ไม่ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง ที่จะนำมาใช้ปลุกระดม หรือใช้ประโยชน์ทางการเมืองอย่างไม่ถูกต้อง โดยกลุ่มที่อยู่ในฐานะทดลองออกอากาศ จะต้องปฏิบัติตามระเบียบของ กทช.หากละเมิดก็จะมีความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.การประกอบฯ มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท

พ.อ.นที กล่าวอีกว่า สาระที่มีการปรับในร่างวิทยุชุมชนเพิ่มเติม เช่น การระบุให้ชัดเจนว่า วิทยุบริการชุมชน สามารถมีรายได้อื่น ๆ รวมทั้งรายได้จากโฆษณา ที่เป็นการสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ ที่ไม่ใช่การโฆษณาเพื่อบริการและขายสินค้า โดยกำหนดตัวอย่างว่า โฆษณาเพื่อการรณรงค์ในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการกำหนดให้ สมาคม มูลนิธิ และนิติบุคคลต่าง ๆ ที่จะยื่นขอใบอนุญาต ต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ที่จะดำเนินการวิทยุชุมชน เท่านั้น โดยยื่นขอได้ 1 ใบอนุญาตต่อ 1 องค์กร

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ