• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • สรรพากรเร่งจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ได้ตามเป้า 458,000 ล้านบาท

สรรพากรเร่งจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ได้ตามเป้า 458,000 ล้านบาท

นายวินัย วิทวัสการเวช อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในเร็ว ๆ นี้ จะประชุมร่วมกับสรรพากรพื้นที่กรุงเทพฯทั้ง 30 พื้นที่ เพื่อมอบนโยบายการติดตามยอดชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่จัดเก็บจากผลการดำเนินของปี 2551 ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นพบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2551 ธุรกิจยังไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก จะได้รับผลกระทบก็เพียงเดือนธันวาคมเพียงเดือนเดียวเท่านั้น

อีกทั้งจากการพิจารณาภาพรวมของผู้เสียภาษีทั้งหมดพบว่า เงินได้ของปี 2551 สูงกว่าเงินได้ของปี 2550 ดังนั้น ยอดภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก โดยมีประมาณการการจัดเก็บอยู่ที่ 458,000 ล้านบาท จากยอดจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร รวม 1.58 ล้านล้านบาท

"นโยบายที่จะ ให้สรรพากรพื้นที่ไปพิจารณาคือ ให้เร่งเปรียบเทียบยอดเงินได้จริงของนิติบุคคล จากกำไรของธุรกิจของปี 2551 ก่อน กับการยื่นแบบภาษีในเดือนพฤษภาคมนี้ ว่าเป็นไปตามจริงหรือไม่ เนื่องจากสรรพากรพิจารณาแล้ว การดำเนินธุรกิจเมื่อปี 2551 ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกน้อย ฉะนั้น ขั้นตอนการตรวจสอบจึงไม่ยากอะไร" นายวินัยกล่าว

สำหรับยอดจัดเก็บภาษีสรรพากรในรอบ 6 เดือนแรก (ตุลาคม 2551-มีนาคม 2552) ของปีงบประมาณ ที่ต่ำเป้าถึง 6.1 หมื่นล้านบาท เป็นเพราะการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าต่ำเป้าถึง 4.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาษีอื่น ๆ ต่ำกว่าเป้าหมายเพียง 1.3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นผลจากมาตรการลดหย่อนค่าครองชีพจาก 1 แสนบาท เป็น 1.5 แสนบาท และการจัดเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากลดลง เพราะเมื่อดอกเบี้ยต่ำ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่จัดเก็บที่ 15% ก็ต่ำลงด้วย

นายวินัยกล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการสินเชื่อเพื่อชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ประจำปี 2551 ที่ต้องยื่นแบบภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ เอสเอ็มอีสามารถขอกู้เงินจากสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันให้นั้น

ขณะนี้เอสเอ็มอีสามารถไปยื่นขอกู้ได้แล้ว โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องไม่มีเงินค้างภาษีอยู่ก่อนหน้า ซึ่งเรื่องนี้สถาบันฯ จะประสานกับกรมเพื่อตรวจสอบข้อมูลต่อไป โดยขณะนี้ เอสเอ็มอีมีทั้งหมด 2 แสนราย กรมคาดจะได้รายได้จากส่วนนี้จำนวน 3 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังขอย้ำเตือนให้ระวังภัยมิจฉาชีพหลอกเสนอคืนภาษีทางตู้เบิกถอนเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) โดยเป็นการขอคืนเงินภาษีของปี 2551 นั้น กรมสรรพากรขอยืนยันว่า การคืนภาษีมีทางเดียวเท่านั้นคือ คืนเป็นเช็คของธนาคารกรุงไทย โดยสั่งจ่ายระบุชื่อผู้ได้รับคืน พร้อมหนังสือ ค.21 ที่แจ้งการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ฉะนั้น หากแตกต่างจากนี้ ถือเป็นการหลอกลวงทั้งหมด

ที่มา มติชน